December 26, 2024
01Top_Nine-Plus

“สผ.” เปิดแผนการดำเนินงานปี 2566

User Rating: 3 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar InactiveStar Inactive
 

“สผ.” เปิดแผนการดำเนินงานปี 2566

          สผ. กางแผนปี 2566 เร่งจัดทำแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มุ่งสู่เป้าหมายของประเทศไทยที่ได้ประกาศไว้ในการประชุม COP26 บวกยกระดับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เปลี่ยนผ่านไปสู่ Digitalization เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มุ่งผลักดันแหล่งมรดกโลก เดินหน้าจัดทำดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ พร้อมชูวิสัยทัศน์ คิดแบบราชการ บริหารแบบเอกชน ตอบสนองการดำเนินงานในยุคปัจจุบัน

          ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวถึงแผนการดำเนินงานที่มุ่งขับเคลื่อนในปี 2566 ว่า สิ่งที่ สผ. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในบริบทของประเทศไทย ทั้งนี้ จากการประชุม COP26 ประเทศไทยประกาศกรอบระยะยาว คือ เป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 ส่วนเป้าหมายระยะสั้น ต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30-40 ภายในปี 2030

          ทั้งนี้ สผ. จึงต้องจัดทำแผนเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วยแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สาขาพลังงาน ขนส่ง การจัดการน้ำเสียและขยะ อุตสาหกรรม และเกษตร, ปรับปรุงแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ, มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน 76 จังหวัด ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม, เร่งผลักดันการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... พร้อมจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

           ยิ่งไปกว่านั้น สผ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ เช่น การผลักดันตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ โดยร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการจัดตั้งแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย (FTIX), ผลักดันการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์, การขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์คาร์บอน เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเตรียมแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว สผ. ยังมุ่งยกระดับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digitalization ตามนโยบายรัฐบาล 4.0 ในด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยนำระบบฐานข้อมูลรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มความรวดเร็ว โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ พร้อมกันนี้ ยังเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพทั้งการดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟู การใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ขณะนี้ สผ. เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. .... ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือในการดูแลเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          อีกทั้ง ในปีนี้จะผลักดันแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม แหล่งที่ 4 ของประเทศไทย โดยจะเกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ เมืองริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ รวมถึงเร่งจัดทำดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index : EPI) ของประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ด้วยเช่นกัน

          ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า สำหรับการทำงานภายใต้วิสัยทัศน์ของ สผ. ในปัจจุบันที่เป็นยุค Digitalization ซึ่งมีการรับรู้ข่าวสารอย่างรวดเร็วทั่วทุกมุมโลก และประชาชนมีความต้องการที่เร่งด่วนมากกว่าอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นจึงอยากหยิบยกนโยบายการบริหารของตนขึ้นมา คือ “คิดแบบราชการ บริหารแบบเอกชน” คิดแบบราชการ คือ มีความถูกต้อง ประชาชนและประเทศชาติต้องได้รับประโยชน์ ส่วนบริหารแบบเอกชน คือ ต้องคล่องตัวและรวดเร็ว โดยนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการบริหารจัดการ และวางแผนงานเชิงรุก

          ทั้งนี้ ในส่วนวัฒนธรรมองค์กรนั้นต้องมองผลประโยชน์ชาติ มุ่งสร้างเครือข่าย แม่นในหลักการมั่นในคุณธรรม โดยในการทำงานจะต้องมีความถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นไปตามกฎหมายแล้วจะต้องถูกตามหลักของคุณธรรมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการบริหารระบบราชการในยุคที่ประเทศต้องเร่งผลักดันให้ไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งสำคัญที่ระบบราชการต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

          “สิ่งที่ตนอยากจะเน้นย้ำและสื่อสารออกไป คือ องค์กรของรัฐ หรือหน่วยงานราชการในปัจจุบัน ต้องทำงานบนพื้นฐานของความถูกต้องและรวดเร็วควบคู่กันไป เพราะถึงแม้ทำงานถูกต้องแต่ไม่มีความรวดเร็วก็อาจจะส่งผลให้ประชาชนและประเทศชาติสูญเสียโอกาสได้ ทั้งนี้ สผ. ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ในทุกระดับชั้น ได้ถือเป็นแนวปฏิบัติในการทำงานให้ถูกต้องและรวดเร็วควบคู่กันเสมอ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง” ดร.พิรุณกล่าว

www.onep.go.th 

 

Page Visitor

013101689
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
15320
22064
95344
404203
505277
13101689
Your IP: 18.117.104.132
2024-12-26 15:10
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.