“มรภ.กาญจนบุรี” ตอกย้ำ 5 ทศวรรษแห่งคุณภาพ
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี สถาปนาครบรอบ 50 ปี เริ่มต้นจากวิทยาลัยครู สู่การเป็นสถาบัน เดินหน้าจัดงานฉลองครบรอบตลอดทั้งปี พร้อมมุ่งดำเนินการพัฒนาเพิ่มเติมในหลายด้าน วางเป้าหมายการเติบโตในอนาคต มุ่งหวังเป็นที่พึ่งแก่ท้องถิ่น เร่งผลักดันมหาวิทยาลัยเพื่อก้าวสู่การจัดลำดับ หนุนการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นและชุมชนอย่างแท้จริง
ผศ.ดร.พจนีย์ สุขชาวนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี กล่าวว่า ในปีนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีสถาปนาครบรอบ 50 ปี โดยเริ่มต้นจากวิทยาลัยครู จนมาสู่การเป็นสถาบันในทุกวันนี้ ซึ่งจากเดิมที่มุ่งเน้นผลิตครู แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงโดยมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตในสาขาอื่นๆ เพิ่มเติมตามความต้องการของท้องถิ่น ขณะเดียวกัน นอกจากในด้านการผลิตบัณฑิตทางการศึกษาแล้ว ยังมีพันธกิจด้านอื่นๆ ที่มุ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และด้านศิลปวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ในวาระครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็น การมอบรางวัลมณีกาญจน์, การนำเสนอผลงานวิชาการด้านงานวิจัย, การเปิดบ้าน และการจัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับศูนย์สิ่งแวดล้อม และสำนักศิลปะและวัฒธรรม นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีจะมีการจัดงานของศิษย์เก่าเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของมหาวิทยาลัย
โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสถาบันเพื่อสังคมและท้องถิ่น ดังนั้นจึงมีบทบาทในการดำเนินงานร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลักๆ ให้การดูแลครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัดกาญจนบุรี อาทิ งานด้านการยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนในท้องถิ่น ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานพัฒนาชุมชนประจำจังหวัด รวมไปถึง งานด้านการอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยยังได้นำองค์ความรู้ในด้านการวิจัย และการบริการวิชาการไปช่วยเหลือชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัดอีกด้วย
“เรามีผลงานแห่งความภาคภูมิใจโดยเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน รวมทั้ง สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย และจังหวัดกาญจนบุรี คือ การทำงานสนองพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในโครงการต่างๆ ของชุมชนไล่โว่-สาละวะ โดยได้ให้การช่วยเหลือ วิจัย และพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง
รวมไปถึง ด้านงานวิจัยในเรื่องการสกัดสารหอมจากดอกโมกราชินี ซึ่งได้นำมาทำเป็นน้ำหอม พร้อมนำไปทูลเกล้าฯ ถวายแก่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี จากนั้นพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานนามน้ำหอมจากดอกโมกราชินีว่า “สิรินธารา” ดั่งความหมาย สายธารแห่งเจ้าฟ้าสิรินธร” ผศ.ดร.พจนีย์กล่าว
นอกจากนี้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้มุ่งดำเนินการในหลายๆ ด้านเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเรียนการสอน ซึ่งมุ่งเน้นนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดทำหลักสูตรระยะสั้น และธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อส่งเสริมให้เด็กในชุมชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้มีโอกาสศึกษาและหางานทำได้ในอนาคต ขณะที่ เด็กในระบบ มหาวิทยาลัยมุ่งจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการกับการทำงาน สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์จริง
รวมทั้ง ด้านการวิจัย ปัจจุบันได้มุ่งหาแหล่งทุนวิจัยที่ส่งเสริมในด้านศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึง ด้านการเกษตร อาหาร และการท่องเที่ยว เพื่อช่วยในการยกระดับในแต่ละด้าน และสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ ด้านการบริการวิชาการ โดยได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ราชภัฏ ที่องคมนตรีได้จัดสรรงบประมาณมาให้ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในท้องถิ่น รวมไปถึง ยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในโครงการ U2T
ผศ.ดร.พจนีย์ กล่าวถึงเป้าหมายการเติบโตในอนาคตของมหาวิทยาลัยว่า ปัจจุบันผู้คนมองว่ามหาวิทยาลัยเป็นเพียงสถานศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้วในอนาคตอยากให้คนในชุมชนมองว่ามหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งพิงในเวลาที่มีปัญหา รวมทั้ง การเป็นศูนย์รวมขององค์ความรู้ ซึ่งหมายถึงองค์ความรู้ที่จะช่วยเหลือชุมชนในทุกด้าน
อีกทั้ง ยังมุ่งผลักดันมหาวิทยาลัยเพื่อก้าวสู่การจัดลำดับในด้านต่างๆ และสามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ อาทิ ด้าน Green University, BCG, มหาวิทยาลัยแห่งความสุข, การประกันคุณภาพทางด้านการศึกษา และการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยด้านการพัฒนาท้องถิ่น โดยวางเป้าหมายไว้ในการเข้าจัดอันดับของ SDG ซึ่งต้องติดอันดับที่ 700 ขึ้นไป ภายในปี 2570 ถ้าทำได้จะถือว่าเป็นการตอบโจทย์ในด้านการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นและชุมชนอย่างแท้จริง