วิสัยทัศน์สู่ภาคปฏิบัติในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม
นายอนันต์ ศรีบูรพาภิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานของ กนอ. ให้สัมภาษณ์พิเศษนิตยสารบิส โฟกัส เกี่ยวกับการนำวิสัยทัศน์สู่ภาคปฏิบัติในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3G ดังนี้
- Growth การเติบโตขององค์กร การเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมรองรับการลงทุนในประเทศและในระดับภูมิภาค ตลอดจนการเติบโตสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่จะก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ
- Green ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยสู่ความยั่งยืน โดยมีเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการดำเนินงานด้าน CSR อย่างต่อเนื่อง
- Great การบริการที่เป็นเลิศ ด้วยระบบการบริการและการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพ ซึ่งจะสร้างมิติในการให้บริการที่ครอบคลุม นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและเข้าถึงความต้องการในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายอนันต์ ศรีบูรพาภิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
บิส โฟกัส : แผนและเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของ กนอ. ที่จะมุ่งเน้นพัฒนานิคมอุตฯ ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศโดยรวม
คุณอนันต์ : นโยบายของผู้ว่าการ กนอ. (ดร. วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม) ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรนำสร้างอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่มีดุลภาพและยั่งยืน” ทุกนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว จะต้องทำแผนแม่บทการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและดำเนินการตามแผนของแต่ละนิคมอุตฯ ในการพัฒนายกระดับเป็น “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” ในกรอบของข้อกำหนดคุณลักษณะ 5 มิติ 22 ด้าน ภายในปี 2562
โดยในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ได้มีการจัดทำแผนแม่บทพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ดังนี้
ปัจจุบันได้จัดทำแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแบบยกระดับการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระดับคือ Eco-Champion Eco-Excellency และ Eco-World Class
ซึ่งในปี 2556 มีนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ที่ได้รับการประเมินผลในระดับ Eco-Champion แล้ว จำนวน 2 นิคม ได้แค่ นิคมอุตฯ หนองแคและนิคมอุตฯ อมตะซิตี้ ซึ่งนิคมอุตฯ ที่ได้รับการประเมินผลฯ จะต้องรักษาการเป็น Eco อย่างต่อเนื่องด้วยการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วม พร้อมทั้งพัฒนายกระดับสู่การเป็น Eco ในขั้นต่อๆ ไป ตามภาพดังนี้
บิส โฟกัส : อารยสถาปัตย์ (Universal Design) เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างไร
คุณอนันต์ : แนวคิดการสร้างสังคมที่ดีและเท่าเทียมกันด้วยอารยสถาปัตย์ (Universal Design) หรือการออกแบบที่เป็นธรรมสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันและในสถานที่ต่างๆ รวมทั้งในนิคมอุตสาหกรรมก็สามารถจัดสถานที่ให้เป็นอารยสถาปัตย์ได้
ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม ผู้ว่าการ กนอ. (ดร. วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม) ได้รณรงค์การนำเรื่องอารยสถาปัตย์ไปสู่ภาคปฏิบัติให้นิคมอุตสาหกรรมทุกแห่ง เป็นสถานที่ที่สามารถรองรับทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกสภาพร่างกายที่จะเข้ามา กนอ. โดยปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถ ป้ายสัญลักษณ์และการให้บริการข้อมูลข่าวสารที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ โดยดำเนินการเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นตัวสำนักงานของ กนอ. และในส่วนของตัวโรงงาน โดยในส่วนของโรงงาน หากเป็นโรงงานเก่าก็จะใช้วิธีขอความร่วมมือ แต่ถ้าเป็นโรงงานที่มายื่นขออนุญาตใหม่ กนอ.ได้มีประกาศ กนอ.ที่ 103/2556 เรื่องการพัฒนาที่ดินสำหรับผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม กำหนดให้การออกแบบต้องคำนึงถึงอารยสถาปัตย์ มีผลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 เป็นต้นมา
บิส โฟกัส : กนอ.มีการเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC อย่างไร
คุณอนันต์ : จากการผลักดันให้ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” เป็นวิถีปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรมของไทย กนอ.ได้เตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของประเทศในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรตามแนวทาง “S-M-A-R-T” เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ 3G ของ กนอ. พร้อมก้าวสู่ความท้าทายให้ กนอ.สู่องค์กรชั้นนำ 3 ลำดับแรกของภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนาและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม
นอกจากนั้น กนอ.ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม (Industrial Cooperation Development Network : ID Net) เพื่อสร้างความสัมพันธ์และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง กนอ. กับผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม สถาบัน / หน่วยงานด้านธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินกิจกรรมด้านธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจ ตลอดจนเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของ กนอ. ในฐานะหน่วยงานที่ผลักดันให้เกิดเครือข่ายความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มศักยภาพเครือข่ายพันธมิตรในการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการดำเนินงานทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุน เอื้ออำนวยการดำเนินภารกิจของ กนอ. ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
โดยขยายเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มเป้าหมายของ กนอ. โดยการจัดตั้งบริษัทในรูปธรรม Holding Company เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ / ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ อีกทั้งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทั้งภายในและต่างประเทศที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
บิส โฟกัส : อยากให้ภาครัฐสนับสนุนอะไรบ้าง
คุณอนันต์ : ตลอดระยะเวลา 40 ปี ของการดำเนินงาน กนอ. เป็นกลไกภาครัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตไปพร้อมๆ กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นสิ่งที่ กนอ. ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้สร้างความมั่นใจให้แก่กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินภารกิจบนหลักของธรรมาภิบาล
แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม สิ่งที่อยากให้ภาครัฐสนับสนุน ดังนี้
- การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานภายนอกนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับ อาทิ แหล่งน้ำ การคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
- สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็น Hi-Technology อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรืออุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม
- ส่งเสริมและผลักดันให้โรงงานที่ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรม ได้รับมาตรการสนับสนุนและสิทธิประโยชน์ดีกว่าโรงงานที่ตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม