November 22, 2024

Biz Focus Industry Issue 019, August 2014

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

นิคมฯ แหลมฉบังเดินหน้าสร้างความเชี่อมั่นให้ผู้ประกอบการ-นักลงทุน

นิคมฯ แหลมฉบัง ชูเป้าหมายหลักมุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ - นักลงทุนในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการปฎิบัติงานที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้านความปลอดภัยและด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ คาดปีนี้ใช้งบประมาณกว่า 30 ลบ. ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค แย้มอนาคตเล็งเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาจาก 27,000 ลบ.ม./วันเป็น 34,000 ลบ.ม./วัน

คุณปรีชา จรเณร ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง (สนฉ.)

          คุณปรีชา จรเณร ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง (สนฉ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากการใช้พื้นที่ในนิคมฯ เต็มแล้ว  ดังนั้นแนวทางการบริหารนิคมอุตสาหกรรมในปี 2557 และในอนาคตเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ โดยเป้าหมายหลักคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนในด้านต่างๆ รวม ทั้งเรื่องของความปลอดภัยและการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้น

สำหรับด้านความปลอดภัยนิคมฯ แหลมฉบังได้รับความอนุเคราะห์จากสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจหมุนเวียนเข้ามาตรวจในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) จำนวน 72 ตัวตามสี่แยกหลักๆ ซึ่งจะบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นทุกช่วงเวลาและเก็บไว้ตรวจสอบย้อนหลัง 30 วันเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานภายนอกที่ร้องขอ เช่น  เทศบาลนครแหลมฉบังและเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เป็นต้น

ส่วนการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุน นิคมฯ แหลมฉบังได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคหลักๆ (ระบบไฟฟ้า ระบบประปา และระบบถนน) ซึ่งในปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณในส่วนนี้ถึง 21 ล้านบาท ส่วนในปีนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณสูงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งจะอยู่ที่ 32 ล้านบาท เนื่องจากได้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่าในระบบผลิตน้ำประปา

“แน่นอนว่าผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมฯแหลมฉบังจะทราบถึงความสามารถและมั่นใจในการให้บริการด้านระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่นิคมฯ มีให้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า เราใช้บริการจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีสถานีไฟฟ้าย่อยตั้งอยู่ในนิคมฯ อีกทั้งยังมีโรงไฟฟ้าของเอกชนอีก 2 โรง คือ บริษัท ไซม์ดาร์บี้ เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท ไซม์ดาร์บี้ แอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ขณะนี้มีโรงงานประมาณ 25 แห่งที่ใช้ไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระการจ่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ระดับหนึ่ง และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เพราะการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสามารถนำไฟฟ้าไปจำหน่ายให้กับชุมชนได้เต็มกำลังและต่อเนื่อง

ส่วนถนนภายในนิคมฯ ได้มีการปรับปรุงและยกระดับถนนให้ดีขึ้นมาโดยตลอดและตั้งแต่ปี 2553 เราพยายามปรับปรุงถนนสายหลักจากเดิมที่เป็นแอสฟัสให้เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยดำเนินการได้เพิ่มปีละ 4,000 ตารางเมตร ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ให้งบประมาณในส่วนนี้

ด้านระบบประปา นิคมฯ ซื้อน้ำดิบจาก บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกจำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ และนำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำประปาจ่ายให้ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามในอนาคต กนอ.มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาจากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 27,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันเป็น 34,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2558 เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการว่าจะไม่มีความเสี่ยงการไม่มีน้ำใช้” คุณปรีชากล่าว

          นอกจากนี้ นิคมฯ แหลมฉบังยังได้มีการจัดทำข้อมูลทางคุณภาพน้ำ โดยจะแสดงทางสื่อประชาสัมพันธ์ (Display Board) สองจุดบริเวณริมถนนสุขุมวิท และชุมชนบ้านทุ่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าขณะนี้คุณภาพน้ำเป็นอย่างไร มีอุณหภูมิน้ำอยู่ที่เท่าใด ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการและชุมชนโดยรอบว่านอกจากนิคมฯ จะให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย ซึ่งนับเป็นเป้าหมายหลักเป้าหมายหนึ่งในการดำเนินงานปีนี้และต่อไป

ส่วนเป้าหมายต่อไปคือจะเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยนิคมฯ แหลมฉบังเข้าสู่การยกระดับเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปี 2554 และปี 2556 ได้พัฒนาเป็น Eco-Champion ส่วนเป้าหมายปี 2560 เป็น Eco-Excellency และ Eco-World Class ซึ่งเป็นเป้าหมายของทุกนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 3G ( Growth Green Great) ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

ด้านเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ ถึงแม้ว่านิคมฯ แหลมฉบังจะไม่มีความเสี่ยงแต่ได้วางแผนรองรับในกรณีที่มีฝนตกหนักและมีน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งอาจทำให้น้ำทะเลไหลย้อนเข้าในคลอง และอาจหนุนเข้ามาถึงพื้นที่นิคมฯ จึงได้จัดทำแผนและซ้อมแผนเพื่อรองรับ โดยได้มีการติดตั้งประตูน้ำสองข้างถนนป้องกันไม่ให้น้ำทะเลไหลย้อนเข้ามาและหากน้ำเอ่อขึ้นมาก็จะปิดประตูให้ระดับน้ำอยู่เฉพาะในคลอง ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจ

          คุณปรีชา กล่าวต่อว่านิคมฯ แหลมฉบังมีพื้นที่รวม 3,556 ไร่ ปัจจุบันมีการใช้พื้นที่เต็มหมดแล้ว มีผู้ประกอบการ 147 รายมีพนักงานประมาณ 65,000 คน สำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นชาวญี่ปุ่นและไทยร่วมกับญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนนักลงทุนไทยประมาณ 26% ส่วนที่เหลือ 74% เป็นชาติต่างๆ อาทิ ญี่ปุ่น, ไทย-ญี่ปุ่น, ไทย-ฝรั่งเศส, ไทย-อังกฤษ, สวิส-ญี่ปุ่น และไทย-อินเดีย ดังนั้นในปีนี้นอกเหนือจากการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนแล้ว นิคมฯ แหลมฉบังยังเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขยายฐานการผลิตไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ในภาคตะวันออก ที่มีจุดแข็งในเรื่องการลงทุนอีกด้วย

สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 เนื่องจากนิคมฯแหลมฉบังมีการใช้พื้นที่เต็มหมดแล้ว ดังนั้นการเตรียมความพร้อมคือการให้พนักงานและผู้ประกอบการในนิคมฯ รุ่นละประมาณ 30 คน เรียนภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยบูรพา 

          ด้านหลักการบริหารงาน ตนจะมองในส่วนของภายในองค์กร ซึ่งจะมีคนสามกลุ่มที่ให้ความสำคัญ ก็คือผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา โดยจะมีการประชุมประจำทุกเดือน มีการทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญงานในหน้าที่คือให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะการทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ส่วนภายนอกองค์กรคือการแสดงจิตอาสาต่างๆ กับหน่วยงานภายนอก การให้ความช่วยเหลือ การทำประโยชน์ร่วมกัน ส่วนในโรงงานก็จะมีการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยจะให้โรงงานดำเนินการเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการร่วมมือทำกิจกรรมด้วยกันมาตลอด

สำหรับสิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนคือเรื่องระบบถนนภายนอกนิคมฯ แหลมฉบัง โดยอยากให้ปรับปรุงด้านการจราจรในพื้นที่ให้มีความคล่องตัวต่อเนื่องกันตลอด เนื่องจากปัจจุบันปริมาณรถบรรทุก - รถพ่วงค่อนข้างมากและแนวโน้มจะมีเพิ่มขึ้น ทำให้การจราจรภายนอกนิคมฯ แหลมฉบังติดขัดเป็นอย่างมาก ทั้งนี้การขนส่งนับเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง ถ้าสามารถจัดการให้เกิดความคล่องตัวก็จะลดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก

          ส่วนสิ่งที่อยากฝากถึงผู้ประกอบการ คุณปรีชา กล่าวว่าผู้ประกอบการในนิคมฯ แหลมฉบังทุกรายนับเป็นผู้ประกอบการที่ดี เพราะเป็นผู้ประกอบการที่เข้าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ กนอ.กำหนด โดยเป็นผู้ประกอบการที่โปร่งใส่ในเรื่องของการจ้างงาน การผลิต การมีส่วนร่วมและการร่วมมือร่วมใจดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ตนขอขอบคุณผู้ประกอบการชาวไทยและชาวต่างชาติที่ให้ความเชื่อมั่นประเทศไทยและ กนอ.ที่มาลงทุน ทำให้ประเทศไทยมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการลงทุนของต่างชาติ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีกิจกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ตนอยากให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะต้องเป็นหนึ่งในสามของอาเซียนในเรื่องของการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมตามแผนยุทธศาสตร์ของกนอ. ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนในกิจกรรมต่างๆ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในปี 2559 เพราะการขับเคลื่อนก็ต้องใช้เวลา

          “ทุกอย่างที่เราคิดว่าเราทำได้และเกิดประโยชน์ เราก็ทำไปได้เลย ส่วนในปี 2559 เป็นเป้าหมายหลัก ไม่ได้หมายความว่าทุกนิคมฯ จะต้องไปจบที่ปี 2559  นิคมฯ ใดพร้อมก็ทำไปได้เลย สำหรับในปีงบประมาณ 2557 ท่านผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คุณวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ได้ให้นโยบายนิคมอุตสาหกรรมต้องก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ “อารยสถาปัตย์” เช่นจุดจอดรถ ทางขึ้น-ลง และห้องน้ำ เป็นต้น สำหรับนิคมฯ แหลมฉบังคาดว่าจะใช้งบประมาณ 550,000 บาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะต้องจบภายในปีนี้ 

ส่วนในปี 2558 ก็จะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาอีก เรื่องความต้องการของผู้ประกอบการจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ เมื่อเรามีความใกล้ชิดกันมากขึ้นก็จะทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ เราก็จะมุ่งสนองตอบความต้องการให้ได้เร็วที่สุด” คุณปรีชากล่าว 

 

 

 

 

 

Page Visitor

012534511
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
7497
18787
95804
342302
432245
12534511
Your IP: 3.138.175.166
2024-11-22 08:52
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.