“เปิดแผนขับเคลื่อนการบริหารงานระยะ 5 ปี มจพ.”
มจพ. เตรียมประกาศใช้แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 ในเดือนมกราคม 2566 เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารงาน ระยะ 5 ปี (2566-2570) ชูเป้าหมายหลักมุ่งสร้างนวัตกรรม ด้วยความโดดเด่นทั้ง Robotic ดาวเทียม และระบบราง สนันสนุน Rankings ควบคู่กับการเรียนการสอนใน มจพ. ให้ขยับสูงต่อเนื่อง พร้อมประกาศความสำเร็จ ครองที่ 8 ของประเทศจากการจัดอันดับของ Times Higher Education ตอกย้ำมหาวิทยาลัยมีการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)
ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวถึงแผนขับเคลื่อนการบริหารงาน ว่า ปัจจุบัน มจพ. ได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีแนวทางการพัฒนาจากกรอบแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ระยะ 20 ปี (2561-2580) ซึ่งเป็นแผนในช่วงที่ 2 ระยะเวลา 5 ปี (2566-2570) โดยได้รับการอนุมัติจากทางสภามหาวิทยาลัยแล้ว และพร้อมจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2566 ที่จะถึงนี้
โดยแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 จะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งได้มีการถ่ายทอดบริบทของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งได้มีการวาง Position ที่ชัดเจน คือ เป็นมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำ ซึ่งได้มีการสานต่อแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่ฉบับที่ 1-12 เน้นการผลิตบัณฑิตที่คิดเป็นและทำเป็น ภายใต้รากฐาน “วิศวกรรมมือเปื้อน” รวมถึงการ การรักษาอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของ มจพ. ให้คงไว้ เพื่อสร้างความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ
“มจพ. นำแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. และแผนยุทธศาสตร์ชาติเข้ามาร้อยเรียงในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 พร้อมทั้ง วิเคราะห์แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 12 ว่า มีจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส ความท้าทายอย่างไร เพื่อนำมาพัฒนาเป็นแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะ 20 ปีของ มจพ. ในการเป็นมหาวิทยาลัยที่จะรองรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต และสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรองรับอุตสาหกรรมอนาคต
อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 ไม่ได้มีการจัดทำแบบรวดเดียว 5 ปี แต่จัดทำเป็นแผนวิเคราะห์รายปี และใน 2-3 ปี มีการปรับปรุงใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพว่าภายใน 5 ปี จะมีการวางยุทธศาสตร์ของ มจพ. อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับ 20 ปี ในอนาคตที่จะพัฒนาการเรียน การสอน และงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างนวัตกรรมสมัยใหม่” ศ.ดร.สุชาติกล่าว
สำหรับแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานของงานวิจัย โดยได้ปักธงแนวทางไว้ 3 ด้านที่เป็นจุดแข็งของ มจพ. เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อประเทศชาติ รวมถึง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. นวัตกรรม Robotic ที่ มจพ. มีความพร้อมและมีชื่อเสียงทางด้านหลักสูตรการเรียน การสอน โดยนำองค์ความรู้จากการวิจัยมาพัฒนานวัตกรรมตามแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 รวมถึง ให้บุคลากรทุกคณะของ มจพ. และอีก 2 วิทยาเขต คือ ปราจีนบุรี ระยอง มีเป้าหมายเดียวกันในการบูรณาการร่วมกันในทุกศาสตร์ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2. นวัตกรรมดาวเทียม ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำโครงการวิจัยทางด้านดาวเทียมร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ พร้อมทั้ง เน้นการเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่โรงเรียนและวิทยาลัยเทคนิคต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษามีความสนใจและมาศึกษาเรียนรู้ทางด้านดาวเทียมมากยิ่งขึ้น
3. ระบบราง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มจพ. ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่อง Reinventing ที่ทำให้นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมีความโดดเด่น ซึ่ง มจพ. ได้ดำเนินการในเรื่องของระบบราง ปัจจุบัน มีระบบรางต้นแบบระยะสั้นวิ่งใน มจพ. และพร้อมที่จะขยายผลต่อไปในอนาคต รวมถึงความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรปริญญาโทร่วม 2 มหาวิทยาลัย (Joint Degree) สาขาวิศวกรรมระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน (Railway Vehicles and Infrastructure Engineering) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยอาเค่น แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อีกทั้ง หลักสูตรนี้เป็นการรองรับหลักสูตรปริญญาโทร่วม 3 มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยอาเค่นในอนาคต
“มจพ. วาง 3 แนวทางหลักในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะ 20 ปี ได้แก่ นวัตกรรม Robotic นวัตกรรมดาวเทียม และระบบราง มจพ. มีความโดดเด่น มีความเข็มแข็ง และมีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร งานวิจัย ทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่เป็นเครือข่ายของ มจพ. และความพยายามในการหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่ง 3 สิ่งดังกล่าว พยายามประกาศให้บุคลากร นักวิจัย ให้มีความเข้าใจตรงกันว่าใครที่มีองค์ความรู้จากงานวิจัยเกี่ยวข้องให้ดึงโยงเข้ามาในเรื่องนี้ทั้งหมด และบูรณาการร่วมกัน เพราะเราจะสร้างนวัตกรรมโปรดักท์ ซึ่งจะต้องใช้องค์ความรู้ทุกด้าน” ศ.ดร.สุชาติกล่าว
ศ.ดร.สุชาติ กล่าวต่อถึงเป้าหมายผลตอบรับภายหลังจากที่ได้ประกาศใช้แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 ว่า จะชัดเจนในเรื่อง Rankings ซึ่งคาดว่าจะมีการไต่อันดับสูงขึ้น โดยล่าสุด Times Higher Education หรือ THE สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกชื่อดัง จากประเทศอังกฤษ เผยแพร่ผลการจัดอันดับ Times Higher Education World University Rankings 2023 โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นอันดับที่ 6 ร่วมของไทย และเป็นอันดับที่ 8 ของไทยจากผลคะแนนรวม และจัดอยู่ในอันดับที่ 1201-1500 ของโลก
โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาจากตัวชี้วัด 5 ด้าน คือ การเรียนการสอน (Teaching) ร้อยละ 30, การวิจัย (Research) ร้อยละ 30, การอ้างอิงงานวิจัย (Citations) ร้อยละ 30, ความเป็นนานาชาติ (International Outlook) ร้อยละ 7.5 และรายได้จากอุตสาหกรรม (Industry Income) ร้อยละ 2.5 โดยทั้ง 5 ด้าน เป็นตัวชี้วัดคุณภาพและประสิทธิภาพของการบริหารจัดการทั้งในด้านการเรียนการสอนและงานวิจัยของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ เมื่อนำผลคะแนนมาดูตามรายตัวชี้วัด จะพบว่า มจพ. ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยตัวชี้วัดที่ทำได้ดีและเด่นชัดที่สุดคือ ด้านการอ้างอิงงานวิจัย (Citations) ซึ่งจัดเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ ทำให้อันดับของ มจพ. ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 8 จากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 10 ของประเทศ ชี้ให้เห็นว่า มจพ. มีการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ด้านความท้าทายในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของงบประมาณในการดำเนินการ เนื่องจากการวิจัย การสร้างนวัตกรรมต้นแบบ ค่อนข้างใช้เงินงบประมาณสูง อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐแล้ว มจพ. ได้มีการวางแผนไว้ในทุกมิติ โดยพยายามสร้างแรงจูงใจที่จะร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ให้เข้ามาทำงานวิจัย และสร้างนวัตกรรมร่วมกับ มจพ. จะเป็นการแบ่งเบาภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายในทุก ๆ ด้านได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 ยังได้มีการมองในทุกมิติ ทั้งมิติรายได้ของ มจพ. มิติ Rankings ที่จะต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี และมิติของความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการ KMUTNB Technology Park จะเริ่มดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์ในช่วงกลางปี 2566 ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของงานวิจัยและนวัตกรรมของ มจพ. ที่ได้ร่วมมือทำงานกับภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ และจะเป็นแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมมือกับ มจพ. ได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 ยังเน้นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาหลักสูตรการเรียน การสอน ต้องมีลักษณะความเป็นนานาชาติเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้ง มองถึงการแก้ปัญหาจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงในอนาคต จะส่งผลโดยตรงต่อทุกมหาวิทยาลัยในอนาคต โดยพยายามดึงดูดนักศึกษาต่างประเทศให้เข้าเรียนที่ มจพ. โดยเฉพาะประเทศที่มีความโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, จีน และอินเดีย เป็นต้น พร้อมทั้ง เน้นคุณภาพการศึกษา และ Rankings ของ มจพ. เป็นสำคัญ
ขณะที่ เป้าหมายการเติบโตโดยรวมของ มจพ. ที่นอกเหนือจาก Rankings แล้ว คือ การเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สร้างนวัตกรรมให้ภาคอุตสาหกรรมยอมรับ โดยภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศต้องมีความพึงพอใจในการผลิตบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการ รวมถึง งานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้งานได้อย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของ มจพ.
ศ.ดร.สุชาติ กล่าวต่อว่า ในปี 2565 มจพ. ครบรอบ 63 ปีแห่งการสถาปนา และก้าวสู่ปีที่ 64 มีการพัฒนาและเติบโตมาอย่างเป็นลำดับ จากการก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเยอรมนี ในปี 2502 จากนั้นได้ถูกยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในปี 2551 โดยการเรียน การสอนมีการพัฒนาตามยุคตามสมัย ตามความต้องการเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม รวมถึง มีความร่วมมือจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
“ภาพการเติบโตของ มจพ. ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา มีความชัดเจนจากอดีตสู่ปัจจุบัน ในแต่ละปีมีความท้าทายเสมอมา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะแอคทีฟตัวเอง หรือกระตุ้นบุคลากรของเราได้มากน้อยขนาดไหน ขณะที่ ยุทธศาสตร์ มจพ. มีอย่างชัดเจนแล้ว แต่ภาพรวมยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ต้องมองควบคู่ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้เดินหน้าต่อไป ขณะเดียวกัน พยายามที่จะสานต่อจุดแข็ง และนำไปต่อยอดให้เกิดความเชี่ยวชาญ เพื่อดึงเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งของ มจพ. ให้เพิ่มมากขึ้น” ศ.ดร.สุชาติกล่าว