เปิดวิสัยทัศน์ ผอ. รพ.ราชบุรี เร่งพัฒนาดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันเสริมแกร่งการบริการ
รพ.ราชบุรีเดินหน้าผลักดันด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันอย่างต่อเนื่อง มุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มฮุกกะ ยกระดับการใช้งานอย่างครอบคลุม, เตรียมจัดทำระบบ i-Claim บวกจัดตั้งคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ เพิ่มทางเลือกให้แก่คนไข้ พร้อมเพิ่มศักยภาพด้านการบริการ จัดงานร่วมใจคนละนิด ก้าวสู่สุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Excellence for Everyone) นำอเสนอบริการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ มุ่งไปสู่ศูนย์กลางความเชี่ยวชาญของเขตสุขภาพที่ 5
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานของโรงพยาบาลราชบุรี ว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลได้มุ่งเน้นผลักดันการบริการเชิงเทคนิคสำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลในอนาคต โดยเร่งเดินหน้าพัฒนาด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายภาคส่วนได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำงานมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงภาคสาธารณสุขด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการแก่คนไข้ และลดการแออัดในโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลราชบุรีจึงได้ใช้แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาเอง และเป็นที่ยอมรับจากหลายหน่วยงาน ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ในหลายโรงพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ คือ แพลตฟอร์มฮุกกะ
สำหรับฮุกกะ เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ซึ่งคิดค้นโดยทีม IT ของโรงพยาบาลราชบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของระบบการให้บริการ เช่น ระบบบริหารจัดการคิว ระบบแสดงข้อมูลการรักษาพยาบาล เพื่อลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย ซึ่งได้พัฒนาระบบอยู่เสมอเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันได้มีการยกระดับแพลตฟอร์มฮุกกะ เพื่อยกระดับการให้บริการทางสุขภาพด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพกับโรงพยาบาลในเครือข่ายเข้าด้วยกัน หรือ Hospital Information Exchange (HIE) โดยเฉพาะในเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งจะทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพของทุกโรงพยาบาล ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับประชาชนแพลตฟอร์มฮุกกะ ยังทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นเวชระเบียนให้กับผู้ป่วยพกติดตัวไปได้ทุกที่ (Personal Health Record)
พร้อมกันนี้ ยังได้เร่งพัฒนาระบบส่งต่อ และการยืนยันตัวตนของคนไข้ จากโรงพยาบาลหนึ่งไปยังโรงพยาบาลหนึ่งโดยไม่ต้องใช้เอกสารในการดำเนินการ เพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพในระดับเครือข่าย เพิ่มศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
โดยล่าสุดโรงพยาบาลราชบุรี ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมบริการ ในผลงาน “แพลตฟอร์มฮุกกะ” จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่มอบให้หน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการ เพื่อประชาชน จนประสบความสำเร็จ มีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานรัฐทั้งปวง
นอกจากนี้ ยังมีอีกแผนงานที่โรงพยาบาลจะดำเนินการ คือ ระบบ i-Claim เป็นระบบเบิกจ่ายประกันสุขภาพในรูปแบบดิจิทัล สำหรับกลุ่มคนไข้ที่มีประกันชีวิต ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมารักษากับโรงพยาบาลรัฐ ดังนั้นจึงมองว่าถ้าหากโรงพยาบาลมี Service ที่ดีขึ้นคนไข้กลุ่มนี้จะมาใช้บริการมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันโรงพยาบาลราชบุรีถือได้ว่ามีความพร้อมมากพอสมควร
ทั้งนี้ ระบบ i-Claim จะเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย โดยโรงพยาบาลสามารถตรวจสอบกรมธรรม์ได้ทันทีเพียงแค่ใช้บัตรประชาชน ซึ่งสามารถเคลมแบบเรียลไทม์ผ่านระบบข้อมูลได้เลยไม่ต้องใช้เอกสาร ช่วยลดระยะเวลา และคนไข้ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษา
ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลได้จัดตั้งคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ เป็นโครงการที่เริ่มต้นมาแล้วถือว่าประสบความสำเร็จมากพอสมควร ซึ่งเป็นการใช้ศักยภาพของคุณหมอประจำโรงพยาบาลรัฐ โดยในส่วนนี้สิทธิการรักษาต่างๆ สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่คนไข้
นพ.อนุกูล กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลราชบุรีเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ประจำเขตสุขภาพที่ 5 ขนาด 855 เตียง และ ICU อีกประมาณ 100 เตียง มีจุดเด่นในด้านสถานที่ตั้งซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของเขตสุขภาพที่ 5 และมีความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย และทีมแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ พร้อมให้การดูแลรักษาเรื่องโรคซับซ้อนอย่างครอบคลุม ซึ่งสามารถรองรับการดูแลผู้ป่วยในภาคตะวันตกทั้ง 8 จังหวัด รวมถึง จังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย
โดยโรงพยาบาลราชบุรีได้เปิดให้บริการมาอย่างยาวนานนับเป็นเวลากว่า 8 ทศวรรษ ปัจจุบันมุ่งเดินหน้าเพิ่มศักยภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดงาน "ร่วมใจคนละนิด ก้าวสู่สุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น" (Excellence for Everyone) เพื่อนำอเสนอบริการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ (Excellence Center) ที่อยู่ภายในอาคารวัฒนเวช อาคารศูนย์ความเชี่ยวชาญหลังใหม่ เนื่องจากโรงพยาบาลราชบุรีได้รับมอบหมายให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ดังนั้นจึงต้องพัฒนาศูนย์ความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับการจัดโครงการดังกล่าวขึ้นนั้น เพื่อที่จะสื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบว่าโรงพยาบาลราชบุรีมีศักยภาพของศูนย์ความเชี่ยวชาญในด้านใดบ้าง อีกทั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนโดยไม่ต้องเดินทางไกล
พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดโครงการคนละนิด เพื่ออาคารวัฒนเวชและศูนย์มะเร็งอย่างเป็นทางการ เพื่อระดมทุนในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มเติม สำอหรับอาคารวัฒนเวชและศูนย์มะเร็ง โดยอาคารวัฒนเวช เป็นอาคารขนาดความสูง 11 ชั้น ชื่อ “วัฒนเวช” ได้รับประทานนามโดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 20 แปลว่า ศูนย์แห่งความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ในปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่ คาดว่าจะสามารถทยอยเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ปลายปี 2566
“ปัจจุบันเราได้เปิดให้บริการศูนย์ความเชี่ยวชาญเด่นๆ ในหลายด้าน เช่น ด้านโรคหัวใจ เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่งโมงทุกวันไม่มีวันหยุด อีกทั้ง ในพื้นที่อาคารวัฒนเวชจะมีห้องสวนหัวใจ 2 ห้อง เพื่อเตรียมพร้อมให้บริการอย่างครอบคลุม ขณะที่ ด้านโรคมะเร็ง เรามีความพร้อมทั้งเครื่องมือ และบุคลากร รวมไปถึง ศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายอวัยวะเราได้ให้บริการปลูกถ่ายไต ปลูกถ่ายกระจกตา โดยในปีต่อๆ ไปเรามีแผนที่จะทำการปลูกถ่ายไขกระดูกเพิ่มเติมอีกด้วย” นพ.อนุกูลกล่าว
นอกจากนี้ โรงพยาบาลราชบุรียังได้มุ่งพัฒนาในหลายๆ ด้านอย่างไม่หยุดยั้ง จนได้ผ่านเกณฑ์การประเมินอาชีวอนามัย ในระดับดีเด่น โดยกลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลราชบุรี ได้ดำเนินงานตามมาตรฐานการบริการอนามัยและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด จึงได้ตอบรับ และเข้ารับการประเมินในวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา และผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินอาชีวอนามัย ในระดับดีเด่น ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดในการประเมินดังกล่าว
นพ.อนุกูล กล่าวต่อถึงภารกิจในอนาคตของโรงพยาบาลราชบุรีว่า โรงพยาบาลราชบุรีจะมุ่งเน้นตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในด้านการเปิดอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันนอกจากการรักษาพยาบาล และการเป็นโรงพยาบาลศูนย์แล้ว โรงพยาบาลราชบุรีมีภารกิจอีกหนึ่งอย่าง คือ การเป็นโรงเรียนแพทย์ โดยได้เปิดทำการเรียนการสอนแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4-6 ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ได้เปลี่ยนจากการร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมมือกับสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ในการผลิตแพทย์ ทั้งนี้ โรงพยาบาลราชบุรีได้ทำการผลิตแพทย์มาแล้วกว่า 10 รุ่น และในปีนี้จะขยายเพิ่มมากขึ้น โดยจะทำการเปิดอบรมวิสัญญีพยาบาล และเปิดอบรมแพทย์ประจำบ้าน หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรกรรมเพิ่มเติม