November 22, 2024

Biz Focus Industry Issue 126, July 2023

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

กางแผนการดำเนินธุรกิจ “เรือด่วนเจ้าพระยา”

เรือด่วนเจ้าพระยาเผยทิศทางและแผนการลงทุน เร่งพัฒนาธุรกิจเรือพลังงานไฟฟ้า มุ่งขับเคลื่อนการเดินเรือด้วยพลังงานสะอาด ตอบโจทย์ Green Energy คาดแล้วเสร็จภายในปี 67-68 พร้อมเดินหน้าต่อยอดธุรกิจบริหารและจัดการการเดินเรือ รุกธุรกิจใหม่ให้บริการสถานีจ่ายน้ำมันลอยน้ำ คาดเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้หลักในอนาคต บวกตั้งเป้ารายได้รวมปีนี้ 200 ลบ. ตอกย้ำผู้นำในธุรกิจให้บริการเดินเรือโดยสาร ด้วยจุดเด่นด้านความปลอดภัย ตรงต่อเวลา และสื่อสารกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

คุณอนุไชย์ ทองไถ่ผา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด 

          คุณอนุไชย์ ทองไถ่ผา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด กล่าวถึงทิศทางและแผนการลงทุนของเรือด่วนเจ้าพระยาในปัจจุบัน ว่า บริษัทมุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจเรือพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากเรือโดยสารไม้เครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ทดแทนด้วยเรือพลังงานไฟฟ้าสะอาดขับเคลื่อนด้วยการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่โดยจะตอบโจทย์ Green Energy ซึ่งเป็นแนวทางของบริษัทที่ได้วางเอาไว้ เนื่องจากได้เล็งเห็นความสำคัญในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ บริษัทได้การทำการศึกษาร่วมกันกับบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ในเครือของ ปตท. และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation : IFC) สถาบันการเงินในเครือของธนาคารโลก (World Bank Group) สำหรับตัวเรือได้พัฒนาขึ้นมาแล้วเรียบร้อย แต่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดในเรื่องแบตเตอรี่ เนื่องจากบริษัทให้บริการเรือมากกว่า 120-200 เที่ยวต่อวัน จากจำนวนเฉลี่ย 30 ลำต่อวัน ดังนั้นปริมาณเชื้อเพลิง และความถี่ของการใช้งานค่อนข้างมาก

อีกทั้ง เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปแล้วเรือพลังงานไฟฟ้า (EV) ใช้แบตเตอรี่ประมาณ 12-18 ลูก โดยต้องใช้ต้นทุนที่สูง ขณะเดียวกัน การชาร์จใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยในส่วนนี้ยังคงเป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไขและพัฒนากันต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทิศทางการแข่งขันของตลาดแบตเตอรี่ถือว่าเป็นที่น่าจับตามอง ดังนั้นในอนาคตคาดว่าจะมีตัวเลือกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมองว่าไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการปรับเปลี่ยนในอนาคตอย่างแท้จริง เบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะได้เห็นภาพเรือพลังงานไฟฟ้า (EV) ที่สมบูรณ์แบบภายในปี 2567-2568

“ในระหว่างทำการศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นและปฏิเสธไม่ได้เลยในปัจจุบัน คือ เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับธุรกิจนี้ ที่เป็นยานพาหนะขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เรือ เพราะฉะนั้นต้นทุนจึงค่อนข้างสูง แต่เราไม่ละทิ้งยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะเปลี่ยนเป็นเรือพลังงานไฟฟ้า (EV) ให้ยังคงมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเรือเครื่องยนต์สันดาป และต้องมีคุณภาพการใช้งานที่ดีขึ้นและครอบคลุมยิ่งกว่าเดิม” คุณอนุไชย์กล่าว

          ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าการปรับเปลี่ยนเรือพลังงานไฟฟ้า (EV) จะใช้งบประมาณ 45-50 ล้านบาทต่อลำ โดยปัจจุบันเรือด่วนเจ้าพระยามีเรืออยู่ทั้งหมด 50 ลำ ซึ่งเป็นเรือเครื่องยนต์สันดาปขนาดใหญ่ความยาว 24-28 เมตร ความกว้างประมาณ 6-7 เมตร นับได้ว่าเป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในแม่น้ำ ดังนั้นถ้าจะเปลี่ยนมาเป็นเรือไฟฟ้าทั้งหมด คาดว่าจะใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท

ขณะเดียวกัน หากแผนการดำเนินงานในส่วนนี้ยังไม่สำเร็จหรือมีความล่าช้ามาก บริษัทมีแผนสำรอง คือ การเปลี่ยนวัสดุเรือ จากเรือไม้มาเป็นเรือเหล็กหรืออะลูมิเนียม เนื่องจากไม้ในปัจจุบันหายากมาก และมีต้นทุนที่สูง ซึ่งในส่วนนี้บริษัทได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ด้านงบประมาณในการเปลี่ยนเรือเบื้องต้นสำหรับเรือเครื่องยนต์เดี่ยว ชั้นเดียว ท้องเดียว ใช้งบประมาณ 15 ล้านบาทต่อลำ และเรือใหญ่ 2 เครื่องยนต์ 2 ชั้น 2 ท้อง จะใช้งบประมาณ 20-30 ล้านบาทต่อลำ

          คุณอนุไชย์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันบริษัทยังมีแผนต่อยอดธุรกิจบริหารและจัดการการเดินเรือ เนื่องจากได้เล็งเห็นถึงช่องทางในการขยายขอบข่ายงาน หรือแนวโน้มการขยายธุรกิจในอนาคต โดยรูปแบบจะเป็นในลักษณะการรับบริหารเดินเรือตามจุดต่างๆ เพราะจุดแข็งของบริษัทตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี คือ ความเชี่ยวชาญในการเดินเรือภายในประเทศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าไปทำกิจการร่วมค้า (Joint Venture) กับบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA โดยกิจการร่วมค้าทีทีเอ เรือด่วนเจ้าพระยา เป็นการรับจ้างเดินเรือโดยสารในคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย (วัดศรีบุญเรือง-สำนักงานเขตมีนบุรี) ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี โดยเป็นการรับจ้างเดินเรือจาก กทม. และปัจจุบันยังคงให้บริการอยู่ ซึ่งเป็นเรือของ กทม. ส่วนทรัพยากรบุคคลและตารางการเดินเรือบริษัทเป็นผู้จัดสรรให้

โดยบริษัทได้มีการประชุมกับหน่วยงาน กทม. ในทุกๆ เดือน และมีการอัพเดตข้อมูลกันทุกๆ สัปดาห์ เกี่ยวกับรายละเอียดของการเดินเรือ จำนวนของผู้โดยสารที่มาใช้บริการ และอุปสรรคในการให้บริการ รวมไปถึง แนวโน้มที่จะขยายเส้นทางการเดินเรือต่อไปยังคลองอื่นๆ เนื่องจาก กทม. ได้ทำการศึกษาคลองมากยิ่งขึ้น อาทิ คลองลาดพร้าว และคลองบางกอกน้อย เป็นต้น

อีกทั้ง กทม. ยังมองว่าถ้าสามารถเชื่อมต่อเส้นทางการเดินเรือ เพื่อกระจายจุดเชื่อมโยงไปยังเส้นทางหลัก ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และจะช่วยลดจำนวนผู้คนบนถนน มาเพิ่มจำนวนผู้คนในน้ำแทน ดังนั้นส่วนนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ของบริษัท

          นอกจากนี้ บริษัทยังมีอีกหนึ่งธุรกิจ ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ คือ สถานีจำหน่ายน้ำมันลอยน้ำ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวมีเรือสัญจรเป็นจำนวนมากแต่ยังไม่มีสถานีจำหน่ายน้ำมันสำหรับเรือโดยเฉพาะ ดังนั้นบริษัทจึงได้ไปทำการศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจนี้ ทั้งด้านความต้องการของคนในชุมชน รวมถึง การวิจัยร่วมกับหน่วยงานของจังหวัด และศึกษาด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน จนเกิดมาเป็นธุรกิจดังกล่าว โดยบริษัทได้รับใบอนุญาตแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา และใช้งบประมาณ  5-7 ล้านบาทในการดำเนินการ

ขณะนี้ มีลูกค้า หรือชาวเรือให้ความสนใจและติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยธุรกิจนี้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้ และเป็นอีกแหล่งรายได้หลักในอนาคตของบริษัท พร้อมทั้ง ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกบริษัทไม่ได้คาดหวังกำไรมากนัก

          คุณอนุไชย์ กล่าวต่อถึงเป้าหมายการเติบโตของบริษัทว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2559-2562 บริษัทมีการเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นจึงทำให้มีช่วงที่หยุดชะงักไป ดังนั้นสิ่งที่บริษัทตั้งเป้าหมายในปัจจุบัน คือ จะต้องสร้างรายได้เท่ากับปี 2562 ที่มีรายได้รวม 200 ล้านบาท จากปริมาณสัดส่วนของผู้โดยสาร 30,000 คนต่อวันตลอดทั้งปี และจากนั้นจะค่อยๆ ขยับเพิ่มขึ้นในแต่ละปี สำหรับผู้โดยสารของบริษัทแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ คนทำงาน 75% และนักท่องเที่ยว 25% โดยในช่วงเช้า 05.30-08.30 น. จะเป็นผู้โดยสารกลุ่มคนทำงาน และหลังจากช่วงเวลา 10.00-18.00 น. จะเป็นนักท่องเที่ยว

          คุณอนุไชย์ กล่าวต่อว่า เรือด่วนเจ้าพระยาเป็นบริษัทที่อยู่ภายในเครือบริษัท สุภัทรา จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดย คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ดำเนินกิจการให้บริการเดินเรือโดยสารรอบแม่น้ำเจ้าพระยามากว่า 100 ปี มีการปรับปรุงและพัฒนาเส้นทางเดินเรือ รวมไปถึง ท่าเรือในความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้เปิดให้บริการเดินเรือ 4 เส้นทางหลัก ได้แก่ เรือธงส้ม เส้นทาง : นนทบุรี-วัดราชสิงขร เรือธงเหลือง เส้นทาง : นนทบุรี-สาทร เรือธงเขียวเหลือง เส้นทาง : ปากเกร็ด-สาทร และเรือธงแดง เส้นทาง : นนทบุรี-สาทร

โดยปัจจุบันบริษัทถือเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการเดินเรือโดยสาร ซึ่งมีจุดเด่น คือ ความปลอดภัยของทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร รวมถึง พนักงานของบริษัททุกคน เนื่องจากความปลอดภัยเป็นเรื่องเดียวที่บริษัทไม่ต่อรองด้วย และยังเป็นนโยบายหลักที่สำคัญของผู้บริหาร หากย้อนไปดูเรื่องอุบัติเหตุในแต่ละปี มีอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเรือน้อยมาก หรือเท่ากับศูนย์ อีกทั้ง คนขับเรือของบริษัทถือได้ว่ามีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน กรมเจ้าท่ามีกฎเกณฑ์ที่รัดกุมและเข้มงวดมากพอสมควร

นอกจากนี้ บริษัทยังมีจุดเด่นในด้านการรักษาระยะเวลาในการเดินเรือ ซึ่งบริษัทพยายามเดินเรือตามระยะเวลาที่ได้ระบุไว้ในตาราง ไม่เคยล่าช้าจนส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร รวมทั้ง ยังมีการสื่อสารกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอและตรงไปตรงมา เมื่อมีปัญหาหรือมีข่าวสารใดๆ จะคอยอัพเดทอยู่เสมอ

          คุณอนุไชย์ กล่าวถึงสิ่งที่อยากฝากถึงลูกค้าของเรือด่วนเจ้าพระยาว่า บริษัทขอขอบคุณลูกค้าทุกคนที่ยังคงโดยสารกับเรือด่วนเจ้าพระยา และยังคงโดยสารทางน้ำอยู่ ซึ่งลูกค้าถือเป็นผู้มีพระคุณอย่างมาก เพราะถ้าไม่มีลูกค้าบริษัทคงไม่สามารถดำรงอยู่ หรือดำเนินกิจการต่อได้ อีกทั้ง ยังอยากจะย้ำกับลูกค้าว่าบริษัทจะพัฒนากิจการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการบริการ รวมถึง ด้านความปลอดภัย พร้อมทั้ง จะช่วยอำนวยความสะดวกสบายแก่ลูกค้าเป็นอย่างดีเมื่อมาใช้บริการ และให้การดูแลลูกค้าเปรียบเสมือนครอบครัวของเรือด่วนเจ้าพระยาตลอดไป

www.chaophrayaexpressboat.com

 

 

Page Visitor

012543587
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
16573
18787
104880
351378
432245
12543587
Your IP: 13.59.111.183
2024-11-22 19:33
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.