หนี้ครัวเรือน ยังคงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือ ในช่วงที่เกิดการว่างงาน และรายรับลดลง ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) คิดเป็นมูลค่า 14.97 ล้านล้านบาท
สำหรับในปี 2566 ที่ผ่านมา ตัวเลขหนี้ครัวเรือนได้ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยในไตรมาส 4 ปี 2566 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ระบุว่า มีมูลค่า 16.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.0% ชะลอลงจาก 3.4% ของไตรมาส 3 ปี 2566 สำหรับหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มการขยายตัวที่ชะลอลง ผลส่วนหนึ่งมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้หนี้ครัวเรือนที่ก่อขึ้นใหม่มีการปรับตัวลดลง
ขณะที่ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) อยู่ที่ 91.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวอย่างมากที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจาก 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนสินเชื่อยานยนต์หดตัว -0.6% จากที่ขยายตัว 0.2% ในไตรมาสก่อนหน้า
ด้านคุณภาพสินเชื่อ โดยความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลงทุกประเภท หนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.88% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.79% ในไตรมาสก่อน โดยคุณภาพสินเชื่อทุกประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง
โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 3.34% จาก 3.24% ในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับสินเชื่อที่ครัวเรือนใช้เสริมสภาพคล่อง คือ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อบัตรเครดิตมีสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 17.5% จาก 13.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ สินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนหนี้เสียที่ชะลอตัวลงเหลือ 12.7% จาก 27.3% ในไตรมาสก่อนหน้า
หนี้ครัวเรือน หมายถึง หนี้เงินกู้ส่วนบุคคลที่กู้ยืมจากสถาบันการเงิน และบุคคลอื่นนอกครัวเรือน เช่น หนี้เช่าซื้อ, การซื้อสินค้าเงินผ่อน และการซื้อเชื่อสินค้าจากร้านค้า เป็นต้น ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการที่จะทำให้หนี้ครัวเรือนกลับมาอยู่ในระดับ 80% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อาจจะทำได้ไม่ง่าย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะต้องมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวทางการรับมือกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในช่วงขาขึ้นในขณะนี้ ซึ่งเราทุกคนสามารถดำเนินการได้อย่างง่ายๆ ได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การมีวินัยทางการเงิน โดยการจำกัดงบประมาณในการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย การจดบันทึกรายรับและรายจ่ายทุกรายการ, การสร้างรายได้เพิ่ม, การลดค่าใช้จ่ายในบ้านที่ไม่จำเป็น และการจ่ายหนี้บัตรเครดิตตามระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น
ปิดท้ายฉบับนี้กับวิสัยทัศน์ “คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประกาศขับเคลื่อนภารกิจวาระสอง มุ่งสู่อุตฯ แห่งอนาคต (Next-GEN Industries) บวกยกระดับ SMEs สู่ Smart SMEs ด้วยนโยบาย 3+1 Go หนุนก้าวพ้นปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ ประเมินภาพรวมอุตฯ ไทยปี 2567 โตเพิ่ม 10% จากปีก่อนหน้า พร้อมเปิดโผอุตฯ ดาวเด่น “ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ” ครองอันดับหนึ่ง ตามติดด้วย “อุตฯ เครื่องปรับอากาศ และอุตฯ ท่องเที่ยว”