เข้าสู่ ช่วงไตรมาส 4 หรือ ไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ขณะนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น การเกิดเหตุอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ และวิกฤตพลังงานโลกที่ยังไม่คลี่คลาย เป็นต้น
สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มต่อเนื่องจากพายุลูกใหม่ที่อาจเข้าประเทศไทยอีกในช่วงไตรมาส 4 โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าการเกิดอุทกภัยรอบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายราว 3-5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของจีดีพี ซึ่งภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด จากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจขยายวงกว้างมากขึ้น
ขณะเดียวกัน กกร. ยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะยังสามารถขยายตัวได้ในกรอบ 2.2%-2.7% ด้วยแรงสนับสนุนจากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน รวมถึง การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนของการเยียวยาและมาตรการที่เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องในการฟื้นฟูกิจการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
ขณะที่ สถานการณ์ราคาพลังงานเชื้อเพลิงก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม ในรอบ 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ทั้งนี้ หากมีการปรับราคาจำหน่าย LPG เพิ่ม จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาระค่าใช้จ่ายของทั้งภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการภาคขนส่งอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติให้คงราคาขายส่งก๊าซ LPG หน้าโรงกลั่น ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2567
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กบง. ยังได้มีมติเห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย โดยจะเป็นการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่มีโรงไฟฟ้าที่มีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรง หรือบริการให้ผู้ใช้ไฟฟ้าอื่นอยู่แล้ว
สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่มีการลงทุนใหม่ อีกทั้ง ต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า และระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถรองรับได้ ส่วนการรับซื้อจะเป็นรูปแบบ Non-Firm มีกำหนดระยะเวลารับซื้อ ไม่เกิน 2 ปี (เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม 2568 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569)
ปิดท้ายฉบับนี้กับวิสัยทัศน์ คุณโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน หรือ HBA เผยครึ่งปีแรกธุรกิจรับสร้างบ้านชะลอตัว ช่วงที่เหลือของปีสมาคมฯ เร่งทำตลาดต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำครึ่งปีหลังเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการสร้างบ้าน ขณะที่ทิศทางการดำเนินงานปี 2568 จะเน้นต่อยอด พัฒนา สร้างมาตรฐานงานสร้างบ้าน หนุนศักยภาพสมาชิก สร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ “HBA Sustainable Model” เพื่อยกระดับตลาดรับสร้างบ้านในภาพรวม ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรในสายวิชาชีพ ด้วยเป้าหมายการสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับธุรกิจ