May 19, 2024

GISTDA จับมือ วช. ต่อยอด COVID-19 iMap สู่การพัฒนาระบบแสดงผลเพื่อช่วยตัดสินใจ

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

 

GISTDA จับมือ วช. ต่อยอด COVID-19 iMap สู่การพัฒนาระบบแสดงผลเพื่อช่วยตัดสินใจ นำร่องแล้ว 5 จังหวัด

GISTDA ร่วม วช. เร่งต่อยอดพัฒนาระบบบริหารสถานการณ์รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้เป็น Platform หรือ Covid-19 iMap รองรับการใช้งานให้กับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจออกมาตรการ รวมถึงบริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่ เริ่มนำร่องแล้วใน 5 จังหวัดต้นแบบ

คุณกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการภารกิจด้านภูมิสารสนเทศของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวว่า การพัฒนาระบบบริหารสถานการณ์ในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้ทุนอุดหนุนการวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่ง GISTDA ต้องการพัฒนาต่อยอดการสนับสนุนการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สามารถรองรับการใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,200 ผู้ใช้งานทั่วประเทศ ในพื้นที่ 5 จังหวัดต้นแบบ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ชลบุรี และภูเก็ต

โดยพัฒนาเป็นต้นแบบข้อมูลภาพสรุปในหน้าเดียว (Dashboard) อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ผู้บริหารสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ติดตาม วางแผน ออกมาตรการ และบริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่อย่างสมดุลทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารแต่ละจังหวัด ปกครองจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดตลอดจนการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนั้นๆ

     การพัฒนา Covid-19 iMap ในครั้งนี้ 5 จังหวัดพื้นที่นำร่องเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของจังหวัดที่มีบริบทที่แตกต่างกันออกไป อาทิ จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่มีการค้าชายแดนที่ความสำคัญด้านการค้าและแรงงาน อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ ศูนย์การค้าและการเงิน (แม่สาย) ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและท่าเทียบเรือนานาชาติ (เชียงแสน) และศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (เชียงของ)

          จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมเรื่องการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงนิเวศน์จำนวนมาก อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมและประเพณีอันเก่าแก่ จึงถือเป็นจังหวัดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเป็นอย่างดี จังหวัดตาก เป็นจังหวัดตัวแทนของการค้าชายแดนที่ติดต่อกับพม่า ซึ่งมีอำเภอแม่สอดเป็นจุดการค้าที่สำคัญที่ใช้ในการนำเข้าและส่งออกสินค้า จึงถือเป็นจังหวัดตัวแทนที่มีการติดต่อ ค้าขาย และมีแรงงานเข้าออกเป็นจำนวนมาก

          จังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีแรงงานที่เป็นประชากรแฝงจำนวนมาก เป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งในด้านพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายในการเสริมสร้างให้ EEC เป็นประตูเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคเอเชีย และสุดท้าย จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก มีการเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นจังหวัดแรก และเป็นจังหวัดเดียวที่มีสภาพเป็นเกาะ จัดเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าวหากมี Platform นี้เข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลง่ายยิ่งขึ้นและทันต่อสถานการณ์

จากความร่วมมือระดับจังหวัดในครั้งนี้ เราจะได้เห็นมิติใหม่ของการเชื่อมโยงข้อมูลกัน หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถเข้าถึง ร่วมกันบูรณาการข้อมูลตลอดจนนำไปประยุกต์ใช้กับประเด็นปัญหาต่างๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ ในระยะยาวสามารถขยายผลต่อไปในมิติอื่นๆ ได้ในอนาคต เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศจะช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ตรงจุดและที่สำคัญรูปแบบจะทำให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นโดยการนำข้อมูลมาสรุปให้เห็นภาพเด่นชัดในหน้าเดียว

     อนึ่ง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มีตัวย่อว่า “สทอภ.” และมีชื่อภาษาอังกฤษ "Geo-Informatics and Space Technology Development Agency (Public Organization) - GISTDA" เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์การมหาชน ซึ่งมุ่งเน้นการบริหารและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ บริการวิชาการต่างๆ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

โดยในปี 2541 รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูประบบราชการเพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 และด้วยความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีด้านการสำรวจข้อมูลระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ใน พ.ศ.2543 กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่โดยรวมกองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ ฝ่ายประสานงานและส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 ในนามของ “สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)” ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2543

สำหรับเป้าหมายภารกิจในปี 2565 และอีก 3 ปีข้างหน้า (2566-2568) ของ GISTDA ประกอบด้วย 1.การดำเนินโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา : THEOS-2 ในปี 2565 มีแผนการส่งดาวเทียมทั้งดวงหลัก (Main Satellite) และดวงเล็ก (Small Satellite/SmallSAT) ขึ้นสู่วงโคจร 2.GI for All ต้องตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้กับ Stakeholder ได้ 3.GISTDA มีความพร้อมในการเป็นหน่วยงานด้านอวกาศของประเทศไทย และ 4.การทำงานแบบ Healthy Organization ที่บุคคลสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีความสุข โดยสามารถนำปัญหาหรือข้อเสนอแนะเข้าหารือในทุกช่องทางกับผู้อำนวยการ สทอภ. ได้โดยตรง

ภายใต้เป้าประสงค์ข้างต้นมีหลักการทำงานแบบ Project Based Management การทำงานต้องเป็นระบบ นอกจากนี้การปรับปรุงโครงสร้างใหม่ มีการจัดตั้งกลุ่มงานตามภารกิจเพื่อให้สามารถตอบโจทย์วิสัยทัศน์ (Vision) และเป้าหมายที่ได้วางไว้ ซึ่งในอนาคตมีแผนการกำหนดแนวทางการทำงานแบบ Work From Home เพราะเมื่อการทำงานเป็นรูปแบบ Project Based Management แล้ว บุคคลจะสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง Carbon Neutral โดยต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุม COP26

www.gistda.or.th

Page Visitor

010761129
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
2331
4620
40715
107845
147900
10761129
Your IP: 3.149.23.12
2024-05-19 11:44
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.