“ม.ราชภัฏนครสวรรค์” เดินหน้าพลิกโฉมสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม
ม.ราชภัฏนครสวรรค์กางแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 20 ปี (2561-2580) เดินหน้าเพิ่มศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่าน เพื่อก้าวไปสู่แผนยุทธศาสตร์ ระยะที่ 2 ของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม “Innovative University” พร้อมตอกย้ำความสำเร็จสถาปนาครบรอบ 1 ศตวรรษ ชูจุดเด่น Location ศูนย์กลางยุทธศาสตร์สำคัญ เป็นประตูสู่ภาคเหนือและภาคกลาง
ผศ.ดร.ไชยรัตน์ ปราณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปัจจุบันมีบุคลากรกว่า 700 คน และมีนักศึกษาจำนวนกว่า 8,000 คน รองรับในโซนภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน
ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของมหาวิทยาลัยในอนาคต มหาวิทยาลัยจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 20 ปี (ปี 2561-2580) โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ เพื่อความครอบคลุมในด้านการดำเนินงาน ได้แก่ ระยะที่ 1 (ปี 2561-2565) : Smart University, ระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) : Innovative University, ระยะที่ 3 (ปี 2571-2575) : International University และระยะที่ 4 (ปี 2576-2580) : World class University
โดยในปี 2565 มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างปรับแผนจากระยะที่ 1 เพื่อก้าวไปสู่แผนยุทธศาสตร์ ระยะที่ 2 ของการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม หรือ “Innovative University” ซึ่งระยะนี้มีวิสัยทัศน์ คือ “เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นที่มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ในการดำเนินงานตามพันธกิจ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชน และประเทศชาติ” ขณะนี้ อยู่ระหว่างการประเมินว่าที่ผ่านมาในแผนระยะที่ 1 มีจุดอ่อน จุดแข็งอะไรบ้าง เพื่อก้าวข้ามการเป็น Smart University ไปสู่ Innovative University ได้อย่างสมบูรณ์
สำหรับการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนจากการพัฒนาผลิตครู มาเป็นการใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้ามาสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยจะต้องชูในด้านนี้เป็นหลัก โดยได้มีการปรับหลักสูตรต่างๆ ปรับรูปแบบการเรียนการสอน อาทิ จัดทำระบบ Credit Bank หรือ ธนาคารหน่วยกิต รวมทั้ง หลักสูตรระยะสั้น Non Credit โดยได้เริ่มดำเนินการพัฒนาไปแล้วกว่า 20 หลักสูตร
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาเพื่อก้าวสู่การเป็น Smart University ตามแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 1 มหาวิทยาลัยจึงได้ปรับระบบบริหารจัดการ โดยการนำเทคโนโลยี ดิจิทัลเข้ามาใช้ พร้อมทั้ง ปรับปรุงในด้านรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นแบบ Hybrid learning ทั้ง Online และ Onsite โดยปรับปรุงอาคารให้เป็นรูปแบบ Smart Building ในห้องเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้ง 2 รูปแบบ และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันได้ปรับปรุงในส่วนของอาคารเรียนรวมเป็นที่เรียบร้อย และเป้าหมายต่อไปจะเริ่มดำเนินการในส่วนของอาคารเรียนประจำคณะต่างๆ คาดว่าอีก 2 ปี จะเสร็จสิ้น 100%
รวมทั้ง ได้ดำเนินการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติในด้านพลังงาน โดยได้พัฒนาหลักสูตรด้านพลังงานทางเลือก และยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเข้าไปทำข้อตกลง MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีความแข็งแกร่งในด้านนี้ อาทิ กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นต้น
นอกจากนี้ สำหรับแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 20 ปี (ปี 2561-2580) จะมีการแปลงยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทิศทางการพัฒนาของแผนยุทธศาสตร์ มุ่งเตรียมความพร้อมและวางรากฐานในการยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย มีกรอบวิสัยทัศน์และเป้าหมายอนาคตที่มุ่งตอบสนองวัตถุประสงค์และเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดภายใต้ระยะเวลา 20 ปี ดังนี้ วิสัยทัศน์ : เป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างและพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ภายในปี 2580 และ ปรัชญา : มหาวิทยาลัยที่เป็นพลังของแผ่นดินในการพัฒนาท้องถิ่นสู่สากล
โดยมีพันธกิจสำคัญดังต่อไปนี้ 1.ผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคนให้มีศักยภาพเพื่อรองรับการทำงานในอนาคต 2.วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น และการดำเนินชีวิตในยุค New Normal 3.ผลิตและพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาสู่ศตวรรษที่ 21 และ 4.บริหารจัดการมหาวิทยาลัยแบบพลิกโฉม
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองพันธกิจที่กล่าวไปใน 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติ 2.การสร้างสรรค์การวิจัย พัฒนานวัตกรรม และพันธกิจสัมพันธ์ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน 3.การยกระดับมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 4.การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และ 5.การยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล
ผศ.ดร.ไชยรัตน์ กล่าวต่อว่า ในเดือนสิงหาคม 2565 ที่จะถึงนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์สถาปนาครบรอบ 100 ปี สำหรับความสำเร็จดังกล่าว ตนมองว่ามหาวิทยาลัยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก โดยได้มีการพัฒนาจากโรงเรียนฝึกหัดครู จนมาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม ซึ่งในงานวันครบรอบมหาวิทยาลัยจะทำการสังเคราะห์งานวิจัยทั้งหมดที่ตอบโจทย์ของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อนำไปต่อยอดทั้งด้านการใช้พัฒนาท้องถิ่น ด้านทรัพย์สินทางปัญญา และด้านการสร้างรายได้ นอกจากนี้ ภายในงาน 100 ปี จะยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากกมายให้ได้ติดตาม
สำหรับจุดเด่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ที่สำคัญที่สุด คือ “Location” ซึ่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของมหาวิทยาลัยถือเป็นศูนย์กลาง โดยเป็นประตูไปสู่ภาคเหนือและภาคกลาง ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ (Positioning) คือ “เราจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมการผลิตครู” ซึ่งเป็นรากเหง้าดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยในการผลิตและพัฒนาครู
รวมทั้ง ยังได้ทำการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับจุดเด่นเรื่อง Location เช่น การพัฒนาท้องถิ่นโดยใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในหลายมิติทั้งด้านการเกษตร, อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ, การแปรรูปอาหารเพื่ออนาคต, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ รวมทั้ง การดูแลสุขภาพแบบครบวงจร อาทิ เปิดหลักสูตรเทคโนโลยีระบบรางและโลจิสติกส์ เพื่อสนองต่อยุทธศาสตร์จังหวัด และยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้ง จัดตั้งวิทยาลัยการแพทย์ทางเลือกและบริบาลผู้สูงอายุ เป็นต้น