กลุ่มอุตฯ อาหาร ประกาศเป้าส่งออก ล้านล้านบาท
คุณวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษนิตยสารบิส โฟกัส เกี่ยวกับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ ทิศทางการดำเนินงานรายละเอียดโครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ สิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน และประเด็นอื่นๆ ดังนี้
วิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นิตยสารบิส โฟกัส : เป้าหมายของอุตสาหกรรมอาหารในปีนี้
คุณวิศิษฎ์ :ในปีที่ผ่านเรามีการตั้งเป้าการส่งออกสินค้าไว้ที่ล้านล้านบาท แต่ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง และปัญหาเรื่องการขายข้าวที่ส่งออกไม่ได้ตามเป้าหมายที่ได้มีการตั้งไว้ นอกจากนี้จะได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ส่งผลให้การส่งออกสินค้ากุ้ง และข้าว ทำให้เม็ดเงินการส่งออกหายไปเกือบ 1 แสนล้านบาท ส่วนสินค้าที่ยังทำให้รักษาปริมาณการส่งออกอยู่ได้ ก็เช่น อ้อย น้ำตาลทราย ผักและผลไม้ต่างๆ รวมถึงมันสำปะหลัง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างความพร้อมกับการแข่งขันในตลาด
สำหรับปีนี้ เรามีสถาบันอาหารที่คอยดูตัวเลขในการส่งออกอาหารให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่โดยคร่าวๆ เราก็ยังตั้งเป้าหมายรวมไว้ที่ล้านล้านบาทเช่นเดิม อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา ผักและผลไม้ เริ่มมีแนวโน้มในการเพิ่มผลผลิตที่มากขึ้น เราจึงได้มีการวางแผนในการเพิ่มการส่งออก ผัก ผลไม้มากขึ้น ซึ่งเป้าการส่งออกในปีนี้จะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่จะต้องรอดูผลการส่งออกสินค้าหลังไตรมาส 2 ของปีนี้
นิตยสารบิส โฟกัส : ตลาดส่งออกสินค้าหลัก
คุณวิศิษฎ์ : ปัจจุบันตลาดหลักของไทยจะอยู่ที่สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และเอเชียรวมทั้งการบุกตลาดตะวันออกกลาง และภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้มีการเข้าไปเจรจาในหลายประเทศก็ได้มีการติดต่อและตอบรับเข้ามามากขึ้น อาทิ สามารถเพิ่มการส่งออกไก่ดิบไปที่ประเทศคูเวต ส่วนซาอุดิอาระเบียก็ได้เริ่มมีการจัดการแสดงสินค้าไทย เป็นต้น ส่วนตลาดดูไบ (สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ซึ่งถือว่าเป็นประตูสู่แอฟริกา เพราะแอฟริกายังไม่คุ้นเคยสินค้าจากประเทศไทย แต่จะเข้ามาดูสินค้าจากดูไบมากกว่า ซึ่งตนได้มองว่าผู้ประกอบการไทยควรที่จะให้ความสำคัญและเข้าไปเจาะกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น
นิตยสารบิส โฟกัส : ในปีนี้จะเน้นการส่งออกอุตสาหกรรมใดเป็นหลัก
คุณวิศิษฎ์ : สำหรับปีนี้ เราจะเน้นส่งออกทุกภาคส่วน แต่อุตสาหกรรมหลักก็ยังคงเป็นกลุ่มมันสำปะหลัง ข้าว กุ้ง อ้อย น้ำตาล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป รวมทั้งส่วนที่เป็นวัฒนธรรมคือ อาหารไทยที่ต่างชาติให้การยอมรับมากขึ้น หลังจากที่เราได้มีการส่งออกด้านการส่งออกอาหารเข้าไปในตลาดตะวันออกกลาง และนอกจากกลุ่มอาหารหลักเช่นข้าวและน้ำตาลแล้ว จะเน้นเป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน อาทิ ปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ เป็นต้น
นิตยสารบิส โฟกัส : ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
คุณวิศิษฎ์: สิ่งแรกที่มีผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารคือเราเป็นห่วงในเรื่องพลังงานที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน แก๊ส ซึ่งมีราคาและปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่สองคือเรื่องดิน ฟ้า อากาศ ที่ไม่ตกตรงตามฤดูกาล ซึ่งจะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพน้อยลงและจะเกี่ยวข้องกับการแข่งขันในการส่งออกกับคู่แข่งด้วย และสิ่งที่สามคือต้นทุนทางด้านแรงงาน เพราะในปัจจุบันแรงงานไทยหายาก ซึ่งบางส่วนได้มีการใช้แรงงานต่างด้าวแทนแรงงานไทย ทั้งนี้เมื่อ AEC เปิด เราจะได้รับผลบวกในด้านการส่ง SMEs ไปเปิดตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน และปัจจัยในด้านลบคือเราจะมีคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น
นิตยสารบิส โฟกัส : กลยุทธ์การแข่งขัน
คุณวิศิษฎ์ : ถ้าเปรียบเทียบอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในอาเซียน 10 ประเทศ ปัจจุบันไทยติดอัน 1ใน 3 ของอาเซียน โดยจะมีคู่แข่งสำคัญในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะแข่งขันในด้านกระบวนการนำผลไม้มาแปรรูป โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยหลายรายได้มีการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานต่างๆ และการได้รับการยอมรับจากนานาชาติ จึงสามารถแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้เรายังเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งยังอยู่ในอันดับต้นๆ ของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น โดยผู้ประกอบการของไทยยังมีการพัฒนาตามมาตรฐานสากลอยู่เสมอ และเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เรายังได้เปรียบมากกว่า
นอกจากนี้ในปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เริ่มดำเนินการโครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์เนื่องจากต้องการที่จะช่วยผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงงานวิจัย และงานนวัตกรรมต่างๆ จากหลายสถาบันชั้นนำของประเทศ ซึ่งโครงการนี้ได้นำโมเดลมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีการใช้มากว่า 8 ปี และประสบความสำเร็จ จึงน่าจะนำมาปรับใช้ในประเทศและควรที่จะต้องมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามากขึ้น
นิตยสารบิส โฟกัส : รายละเอียดโครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์
คุณวิศิษฎ์: โครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 จัดตั้งโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงการที่ผนึกกำลังกับสถาบันวิชาการชั้นนำของประเทศ อาทิ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนำทีมคณาจารย์เข้ามาเพิ่มศักยภาพนำงานวิจัยมาต่อยอดผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรม อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์ตลาดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
รวมถึงการให้ความรู้ด้านมาตรฐาน อาหารปลอดภัย และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น สำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาให้เป็นรูปธรรมและก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารในภูมิภาคอาเซียนซึ่งได้มีการกำหนดพื้นที่นำร่อง 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.จังหวัดเชียงใหม่ (ภาคเหนือ)เป็นศูนย์กลางในเรื่องผักและผลไม้แปรรูป, 2.จังหวัดนครราชสีมา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และ 3. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ภาคใต้) เป็นศูนย์กลางด้านผลิตภัณฑ์ประมง สับปะรดและมะพร้าว
สำหรับภาคกลางอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาห้องทดลอง โดยใช้นวัตกรรมที่เป็นมาตรฐานส่งออกของแต่ละประเทศในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ SMEs ขนาดกลางยังสามารถเข้าใช้บริการเพื่อเป็นการต่อยอดสินค้าให้เพิ่มมูลค่าได้มากยิ่งขึ้นซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้งานจริงในปีหน้าและเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษาด้วย
นิตยสารบิส โฟกัส : อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน
คุณวิศิษฎ์ : อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในโครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ และโครงการ เอสเอ็มอี โปรแอคทีฟของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงการทำการตลาดให้กับอาหารด้านวัฒนธรรม ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมจำเป็นที่จะต้องลงมาดูแลในด้านเชิงพาณิชย์มากขึ้น อย่างเช่นที่ผ่านมามีภาพยนตร์จากต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในไทย ซึ่งไทยได้รับการตอบรับกลับมาในทิศทางที่ดีในด้านการท่องเที่ยว และยังส่งผลต่ออาหารไทยที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
นอกจากนี้อยากให้ภาครัฐส่งเสริมด้าน Food Ambassador ซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ถูกใจในรสอาหารไทยและกลับไปประกอบอาหารไทยที่ประเทศของตน ทำให้รสชาติอาหารแตกต่างไปจากเดิม เพราะขาดวิธีการปรุงและเครื่องปรุงที่ถูกต้อง อาทิ ผัดกระเพรา ต้มยำ แกงเขียวหวาน เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมี Food Ambassador เพื่อสอนวิธีการทำอาหารที่ถูกต้อง รวมทั้งส่งเสริมและผลักดันเครื่องปรุงรสไม่ว่าจะเป็น ซีอิ๊ว น้ำปลา เครื่องแกงของไทยให้เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น