December 23, 2024
01Top_Nine-Plus

Biz Focus Industry Issue 130, November 2023

User Rating: 3 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar InactiveStar Inactive
 

“กรมการค้าภายใน” พร้อมลุยทุกมาตรการ หนุนเศรษฐกิจในประเทศแข็งแกร่ง

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าในประเทศให้มีความเข้มแข็ง เป็นธรรม “อธิบดีกรมฯ” เผย จะมุ่งเดินหน้าต่อยอดทุกมาตรการ เพื่อ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก ตามภารกิจหน้าที่ขององค์กร พร้อมย้ำ! หลักการบริหารองค์กร ทุกคนในกรมฯ ต้องมีเป้าหมายและทิศทางเดียว เพื่อทำให้เกษตรกรมีความสุขที่สุด ผู้ประกอบการสบายใจที่สุด และประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้อย่างดีที่สุด

คุณวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

          คุณวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทุกก้าวย่างของกรมการค้าภายใน ภายใต้บทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในการอุปโภคบริโภคสินค้าและบริการ รวมถึงการพัฒนาระบบตลาด ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดในประเทศ เพื่อสร้างโอกาสและความเป็นธรรมแก่เกษตรกร ผู้ผลิตที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำกับดูแลและส่งเสริมพัฒนาการประกอบธุรกิจการค้าให้มีการแข่งขัน เกิดความเป็นธรรม และส่งเสริมพัฒนา และกำกับดูแลการชั่ง ตวง วัด ในทางการค้าให้เป็นมาตรฐานสากล และเป็นธรรม ซึ่งตลอดระยะเวลา 81 ปี กรมฯ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของเศรษฐกิจการค้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความรู้ความสามารถของผู้บริหาร และศักยภาพบุคลากร จึงได้นำพาให้กรมฯ สามารถผ่านพ้นทุกการเปลี่ยนแปลง และดูแลประชาชนมาได้อย่างดี

          สำหรับแนวทางการดำเนินงานต่อไปของกรมฯ เรายังคงเน้นหลักการเดิมตามภารกิจหน้าที่ คือดูแล 3 กลุ่มสำคัญ คือ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้บริโภคสินค้าและบริการ ซึ่งเราได้วางมาตรการ และโครงการต่างๆ อย่างครอบคลุม เช่น การบริหารจัดการและรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร โดยนโยบายและมาตรการดังกล่าวถูกกำหนดโดยคณะกรรมการรายสินค้า ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา โดยสินค้า 4 ชนิดแรก อยู่ในความดูแลของกรมการค้าภายใน ส่วนยางพาราจะอยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมาตรการต่างๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็ง และรักษาเสถียรภาพราคาให้กับสินค้าเกษตร

ขณะที่อีกกลไกหนึ่งสำหรับสินค้าเกษตรอย่างปาล์มน้ำมัน กรมฯ ได้ดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคาและรักษาสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ ผ่านมาตรการ เช่น ผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม เนื่องจากในอดีตไทยผลิตปาล์มน้ำมันสำหรับใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ปัจจุบันหลังจากเริ่มมีการขยายพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ปริมาณปาล์มน้ำมันมีมากขึ้น จึงนำไปผลิตไบโอดีเซล ทำให้เกิดการดูดซับผลผลิตส่วนเกิน และยังช่วยลดมลพิษได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ กรมฯ ได้ดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม ทำให้ทราบปริมาณน้ำมันปาล์มแบบ Real Time และนำมาใช้ในการกำกับดูแลบริหารจัดการปริมาณน้ำมันปาล์มให้มีประสิทธิภาพ เกิดความโปร่งใสต่อทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร โรงสกัด โรงกลั่น โรงผลิตไบโอดีเซล รวมถึงผู้ส่งออกด้วย

          “อีกสิ่งหนึ่งที่เราทำอยู่ และยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง คือ การจัดงานจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดทั่วประเทศ เพื่อช่วยดูแลและลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นทั้งในส่วนของสินค้าและบริการด้วย รวมถึงจัดงานในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น เปิดเทอม ปีใหม่ ตรุษจีน กินเจ ทั้งนี้ โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า และแพลตฟอร์มทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ต่างๆ ด้วย” คุณวัฒนศักย์กล่าว

นอกจากนี้ กรมฯ ได้พัฒนารูปแบบการจำหน่ายสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภค ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าในราคาประหยัดได้มากขึ้น ผ่านโครงการ Mobile พาณิชย์ โดยนำรถโมบายไปจอดตามจุดต่างๆ ในแหล่งชุมชน 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยคัดเลือกสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าคุณภาพได้ง่ายในราคาที่ประหยัด นอกจากนี้กลไกดังกล่าว ยังเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าให้ผู้ประกอบการ และเกษตรกรได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามรายละเอียด เช่น วัน เวลา และจุดจอดของรถโมบายได้อย่างสะดวกผ่านช่องทาง Line @mobilepanich หรือเว็บไซต์ https://mobilepanich.com/

          คุณวัฒนศักย์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ที่กรมฯ ได้ดำเนินการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าราคาผลไม้มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2566 ถือเป็นอีก 1 ปีทอง ที่กลุ่มเกษตรกรสามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรและได้ราคาที่ดี โดย 1 ใน 22 มาตรการที่กรมฯ ดำเนินการอยู่ คือ การนำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในแหล่งผลิตถึงที่ โดยทำสัญญาข้อตกลงล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาส่งมอบผลผลิต เกษตรกรก็จะได้ราคาตามที่ตกลงไว้ในสัญญา ซึ่งมาตรการนี้จะสร้างความมั่นใจ ให้ผู้ประกอบการมีวัตถุดิบไปใช้สำหรับธุรกิจ และเกษตรกรมีหลักประกันในการขายผลผลิตในราคาที่ต้องการ ทั้งนี้ ในปี 2566 กรมฯ ตั้งเป้าหมายการรับซื้อผลผลิตระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกรไว้ที่ 100,000 ตัน แต่ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 240,000 ตัน

          นอกจากนี้ กรมการค้าภายในได้จัดงาน “พาณิชย์ Fruit Festival 2023 On the beach @Pattaya” เพื่อเป็นจุดระบายผลไม้ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และผลักดันให้ราคาผลไม้ปรับตัวดีขึ้น โดยโครงการนี้เริ่มจัดครั้งแรกในปีนี้ และจะจัดต่อเนื่องตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในอนาคตด้วย ทั้งนี้ กรมการค้าภายในต้องขอขอบคุณผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ที่ประกาศความร่วมมือในการดูดซับผลไม้จากเกษตรกรมากระจายส่งตรงถึงครัวเรือนที่อยู่ในหมู่บ้านและคอนโดฯ ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรไทย และผู้บริโภคที่ได้ของดีของสดในราคาที่ดีอีกด้วย

          นอกเหนือจากมาตรการที่ได้กล่าวมาแล้ว กรมฯ ยังมีมาตรการจับคู่สำหรับฟาร์มเลี้ยงสุกรและเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผ่านโครงการพาณิชย์จับคู่ช่วย “หมู-ข้าว” ที่เกิดจากปัญหาด้านราคาวัตถุดิบที่สูงในช่วงสงครามและภัยแล้ง โดยกรมฯ ได้ประสานเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้นำปลายข้าวมาจำหน่ายสำหรับผลิตอาหารสัตว์ในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้น และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร สามารถมารับซื้อปลายข้าวคุณภาพอาหารสัตว์ในราคาพิเศษ ไปใช้ผลิตอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรด้วย

“ต้องเรียนว่าในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น โควิด-19 ภาวะสงคราม หรือน้ำมันแพง หลักการที่กรมการค้าภายในใช้ในการดำเนินงาน คือ ‘วิน วิน’ ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการต้องสามารถดำเนินธุรกิจได้และราคาต้องสมเหตุสมผลต่อผู้บริโภค เพราะหากผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ก็จะไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อส่งต่อไปยังผู้บริโภคได้ ซึ่งกรมฯ จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ภาระต้นทุน และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้น ‘วิน วิน’ คือผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ และประชาชนแบกรับภาระที่น้อยที่สุด” คุณวัฒนศักย์กล่าว

          อย่างไรก็ตาม ทุกมาตรการที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นความภาคภูมิใจของกรมการค้าภายใน เพราะเป็นโครงการที่เราทำและประสบผลสำเร็จ ซึ่งยังมีอีกหลายมาตรการที่กรมฯ ดำเนินการอยู่ และทุกมาตรการยังคงมุ่งมั่นทำอย่างต่อเนื่อง ตามภารกิจหน้าที่เพื่อกลุ่มเป้าหมายของเราคือ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้บริโภค ตามวิสัยทัศน์ของกรมการค้าภายใน “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าในประเทศให้มีความเข้มแข็ง เป็นธรรม ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม”

          คุณวัฒนศักย์ ได้กล่าวถึงหลักการบริหารองค์กรว่า ทุกคนในองค์กรควรมีจุดหมายเดียวกัน เนื่องจากเราเป็นข้าราชการ ที่ต้องทำงานเพื่อประชาชน ไม่ว่าจะทำหน้าที่ใดต้องมีการซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน เพราะสุดท้ายเป้าหมายของกรมฯ คือการทำให้เกษตรกรมีความสุขที่สุด ผู้ประกอบการสบายใจที่สุด และประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้อย่างดีที่สุด ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอย ผู้ประกอบการก็สามารถผลิตสินค้าได้ เศรษฐกิจจะหมุนเวียนเป็นวัฏจักร และ GDP ของประเทศจะเติบโต ดังนั้นในการทำงานข้าราชการทุกคนควรต้องมีเป้าหมายหรือทิศทางเดียวกัน ซึ่งเราต้องสื่อสารให้คนในกรมฯ คำนึงถึงสิ่งที่เราทำอยู่ และมองไปทางเดียวกันให้ได้

          “อีกทั้งบุคลากรทุกคนต้องมีทักษะ มีความรู้ ความสามารถในแต่ละสาขาที่ปฏิบัติหน้าที่ มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาใช้ให้มากขึ้นในกระบวนการทำงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ส่วนตัวผมมั่นใจว่าข้าราชการกรมการค้าภายในทุกคนเรามีปณิธานเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพียงแต่ว่าการพัฒนาองค์กรต้องใช้เวลาและต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ต่อจากนี้เราก็ต้องเดินหน้าให้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น เพราะเศรษฐกิจมีความ Dynamic ตลอดเวลา เหนือสิ่งอื่นใด คือ ความซื่อสัตย์สุจริต และกฎ ระเบียบ กติกาต่างๆ ที่วางไว้ ยังเป็นเรื่องที่ต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดซึ่งถือเป็นพื้นฐานในการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรของเรา” อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวทิ้งท้าย

www.dit.go.th

 

 

 

Page Visitor

013024935
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
3813
14777
18590
327449
505277
13024935
Your IP: 18.191.178.145
2024-12-23 04:53
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.