December 23, 2024
01Top_Nine-Plus

Biz Focus Industry Issue 131, December 2023

User Rating: 3 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar InactiveStar Inactive
 

กรมโยธาธิการและผังเมือง ตั้งเป้าบริการประชาชน ลุยโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ครบทุกจังหวัด ภายในปี 2570

          กรมโยธาธิการและผังเมือง เดินหน้าภารกิจกรมฯ ชูโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประชาชนกับรัฐ พัฒนาที่ดินในเมือง ให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต ตามเป้าหมายต้องครบทุกจังหวัด ภายในปี 2570 ขณะเดียวกันได้จัดทำ 2 แอปพลิเคชัน “Landuse Plan” และ “เรียกช่าง” อำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชน ตอกย้ำวิสัยทัศน์ เป็นองค์กรแกนนำของประเทศ ในด้านการผังเมือง การพัฒนาเมือง และการอาคาร ให้มีความน่าอยู่ ปลอดภัย รักษาสภาพแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และมีอัตลักษณ์

คุณพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง

          คุณพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า “กรมโยธาธิการและผังเมือง มีภารกิจหลัก 4 ด้าน หนึ่งในนั้นคือเรื่องการพัฒนาเมือง ซึ่งกรมฯ ได้นำวิธีการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ซึ่งดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ.2547 มาใช้แก้ปัญหาให้กับประชาชนที่มีที่ดินตาบอด ที่ดินทิ้งร้างเพราะสาธารณูปโภคเข้าไม่ถึง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ด้วยการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน วางผังจัดรูปแปลงที่ดินใหม่ พร้อมเปิดโอกาสให้คนในชุมชนรวมถึงภาคเอกชนนำที่ดินของตนเข้ามาร่วมกับภาครัฐดำเนินการพัฒนาที่ดิน ให้มีศักยภาพรองรับการอยู่อาศัยและการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนเมืองได้ สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาระบบคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานของเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นประโยชน์กับชุมชน”

          กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงมีนโยบายให้ทุกจังหวัดนำวิธีการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่มาดำเนินการก่อสร้างถนนตามผังเมืองรวม ทำให้สามารถนำผังเมืองรวมสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมควบคู่กับการแก้ปัญหาที่ดินตาบอดให้พี่น้องประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่ดินทิ้งร้างในเมืองได้รับการพัฒนา ชุมชนเกิดความปลอดภัยและมีสาธารณูปโภคไว้ใช้เป็นสาธารณะ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชน (Change for Good) ตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นำไปสู่สังคมและชุมชนเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน

“การทำโครงการนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ซึ่งกรมฯ เราจะไปสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าโครงการจัดรูปที่ดินจะเป็นประโยชน์กับพวกเขาอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาในเรื่องอะไรบ้าง ก็เป็นสิ่งที่เราต้องอธิบาย และเมื่อประชาชนเข้าใจและเข้าร่วมโครงการ ความร่วมมือก็จะเกิดขึ้น พอมีความร่วมมือเกิด ความสำเร็จของโครงการก็จะเร็วขึ้นเช่นกัน นี่คือกลยุทธ์ที่เราต้องลงไปสร้างให้เกิดความร่วมมือให้ได้ในแต่ละพื้นที่” คุณพงศ์รัตน์กล่าว

          คุณพงศ์รัตน์ เผยอีกว่า นับตั้งแต่พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 ประกาศใช้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้สนับสนุนและผลักดันโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินการตั้งแต่ปี 2552-2566 มีโครงการจัดรูปที่ดินฯ ที่ดำเนินการแล้ว 68 โครงการในพื้นที่ 54 จังหวัด ซึ่งการทำโครงการทำให้แปลงที่ดินได้รับการพัฒนาจำนวน 5,641 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 18,427 ไร่ อีกทั้งยังได้พัฒนาโครงข่ายถนนในเขตผังเมืองรวมให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ และเพื่อประโยชน์สาธารณะถึง 207,684 เมตร โดยจำแนกเป็นถนนที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวมจำนวน 81 สายทาง คิดเป็นระยะทางประมาณ 74,379 เมตร และเป็นถนนโครงข่ายเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เมืองโดยรอบเป็นระยะทางประมาณ 133,305 เมตร

          นอกจากนี้ บางโครงการยังจัดที่ดินเพื่อเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์อื่นๆ เช่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา และพัฒนาพื้นที่สาธารณประโยชน์แก้มลิงเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในชุมชนอีกด้วย จากการที่ประชาชนเข้าร่วมกับโครงการจัดรูปที่ดินฯ ทำให้รัฐสามารถพัฒนาโครงข่ายถนนในเมือง โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดิน ทำให้ประหยัดงบประมาณไปว่า 2,700 ล้านบาท และมูลค่าที่ดินภายหลังดำเนินโครงการยังสูงขึ้นอีกกว่า 3-11 เท่า

อย่างไรก็ตาม กรมโยธาธิการและผังเมืองมีแผนที่จะส่งเสริมและผลักดันให้มีโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ครบทุกจังหวัดภายในปี 2570 เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชนและภาคเอกชนให้เห็นถึงประโยชน์และนำวิธีการจัดรูปที่ดินฯ ไปใช้พัฒนาชุมชนและท้องถิ่น อันจะทำให้เกิดการต่อยอดที่เกิดขึ้น ขยายผลให้เกิดโครงการใหม่ๆ ที่ดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือภาคเอกชน (สมาคมจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่) ต่อไป เพื่อให้เมืองมีการพัฒนาตามผังเมืองและเกิดประโยชน์กับประชาชน ชุมชน และประเทศร่วมกัน

          กรมโยธาฯ ยังคงเดินหน้าสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้แก่ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังให้เกิดการขยายผลและนำวิธีการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่รูปแบบอื่นๆ เช่น การพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการจัดการพื้นที่เพื่อบรรเทาภัยพิบัติ รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนได้นำวิธีการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองอย่างแพร่หลาย

          ทั้งนี้ การที่โครงการจัดรูปที่ดินจะดำเนินการได้สำเร็จนั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือกันของเจ้าของที่ดินในบริเวณที่ต้องการจะพัฒนา กรมโยธาธิการและผังเมืองยินดีที่จะสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนหรือประชาชน นำวิธีการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ เป็นไปตามผังเมืองที่ได้วางไว้ เพื่อชุมชนที่น่าอยู่ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นการเตรียมพื้นที่เมืองให้สามารถรองรับการพัฒนาและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพตามผังเมือง หากเจ้าของที่ดินมีความประสงค์จะร่วมกันกับภาครัฐในการพัฒนาพื้นที่ของตน สามารถรวมตัวกันเพื่อให้ภาครัฐดำเนินการจัดรูปที่ดินฯ โดยแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดทั่วประเทศ

          คุณพงศ์รัตน์ กล่าวถึงการบริหารงานด้วยว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองมีภารกิจหลักอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการผังเมือง คือวางผังเมืองบนความตกลงของคนในชุมชนในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยมีผังประเทศ ผังภาค และผังอนุภาค เป็นระดับผังนโยบายถ่ายทอดสู่การวางผังระดับจังหวัด 2. ด้านการพัฒนาเมือง คือพัฒนาให้เมืองมีความปลอดภัยจากธรรมชาติ มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่มีมาตรฐาน โดยมีระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน เขื่อนป้องกันตลิ่ง ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่

          3. ด้านการอาคาร คือเพื่อให้อาคารมั่นคง ปลอดภัย มีอัตลักษณ์ ประหยัดพลังงานและลดภาวะโลกร้อนโดยการออกกฎหมายควบคุมอาคาร ตรวจสอบระบบและพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในอาคาร และ 4. ด้านการบริการด้านช่าง คือมุ่งให้บริการงานช่างทุกระดับ ในฐานะช่างของแผ่นดินโดยให้บริการด้านการออกแบบอาคาร ทดสอบวัสดุและให้คำปรึกษาด้านช่าง

          ส่วนนโยบายเพิ่มเติมที่นอกเหนือจาก 4 ภารกิจข้างต้น กรมโยธาธิการและผังเมืองมีโครงการนำร่องหลายโครงการที่ตอบโจทย์ต่อสังคม อย่างเช่น การจัดทำผังภูมิสังคม ซึ่งเป็นโครงการที่ผ่านการระดมความคิดเห็น และร่างเป็นแนวทางการพัฒนาโครงการหนึ่ง โดยการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานด้านวิชาการ Non-Governmental Organizations (NGO) ประชาชน หรือพระภิกษุสงฆ์ ในการร่วมกันสำรวจเชิงพื้นที่ เพื่อให้เห็นถึงปัญหาหรือสิ่งที่ต้องแก้ไขจัดการในชุมชนนั้นๆ อาทิ ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไปจนถึงเรื่องกลุ่มผู้เปราะบาง และการพัฒนาอาชีพต่างๆ เป็นต้น

          นอกจากนี้ อีกหนึ่งโครงการที่กรมฯ ได้ดำเนินการตามแนวทางขับเคลื่อนงานให้ “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือการจัดทำแอปพลิเคชันสร้างความสะดวกให้แก่ประชาชน ในเรื่องการตรวจสอบข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองด้วยแอปฯ “Landuse Plan” โดยประชาชนสามารถตรวจสอบแผนผังและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวมทั่วประเทศ รวมถึงข้อกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารในบริเวณนั้นๆ ซึ่งสามารถสืบค้นและตรวจสอบด้วยเงื่อนไขการค้นหาต่างๆ ได้แก่ หมายเลขโฉนดที่ดิน ตำแหน่งปัจจุบัน (Current Location) ชื่อผังเมืองรวม ขอบเขตการปกครอง และการระบุตำแหน่งค่าพิกัด

          ทั้งนี้ประชาชนสามารถใช้งานได้ทั้งบนระบบตรวจสอบผังการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือใช้งานบนแอปพลิเคชัน Landuse Plan ผ่านอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพา ได้ทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ซึ่ง Landuse Plan นี้จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการและข้อมูลผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมืองได้จากทุกที่ ทุกเวลา อย่างสะดวก รวดเร็ว ตอบสนองการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางติดต่อราชการด้วย

          ยิ่งไปกว่านั้น กรมฯ ยังได้จัดทำแอปพลิเคชัน “เรียกช่าง” ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2566 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการหาข้อมูลช่าง มาปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน ที่เป็นงานขนาดเล็ก เช่น เดินสายไฟฟ้า วางท่อประปา ติดตั้งและซ่อม เครื่องปรับอากาศ ประตู-หน้าต่าง มุ้งลวด เหล็กดัด เฟอร์นิเจอร์ ทาสี ปูพื้นกระเบื้อง มุงหลังคา และอื่นๆ โดยกรมฯ ทำการรวบรวมช่างประเภทต่างๆ พร้อมคัดกรองคุณภาพเบื้องต้น และนำเข้าข้อมูลช่างจากทั่วประเทศในระบบ และอัพเดตข้อมูลช่างไว้อย่างต่อเนื่อง

          “สำหรับ 2 แอปพลิเคชันดังกล่าว สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดจากเว็ปไซต์ของกรมเพื่อเข้าใช้งานได้เลย ทั้งนี้เราจะพยายามเผยแพร่คิวอาร์โค้ดทั้ง 2 แอปฯ ให้มากที่สุด โดยจะไปวางตามหน่วยงานท้องถิ่น หรือไปวางตามจุดต่างๆ ที่มีพี่น้องประชาชนเข้ามาติดต่อ จะได้เข้าถึงได้ตรงกลุ่มเป้าหมายผู้ต้องการใช้งาน ส่วนโครงการอื่นๆ เราก็พยายามจะคิดพัฒนาขึ้นมาต่อเนื่อง ทั้งเรื่องตามภารกิจ หรือเรื่องที่เป็นประโยชน์กับสังคม ที่นอกเหนือจากภารกิจหลักที่ทำด้วย” คุณพงศ์รัตน์กล่าว

          ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองจะมุ่งมั่นพัฒนางานบริการอย่างต่อเนื่องด้วย พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและการบริการของกรมฯ  ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนในรูปแบบดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาล โดยการจัดทำระบบตรวจสอบผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน แอปพลิเคชัน Landuse Plan รวมถึงแอปพลิเคชันอื่นๆ เพื่อเป็นช่องทางการเผยแพร่และให้บริการข้อมูลแผนผังและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวมทั่วประเทศ พร้อมการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ สำหรับประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ให้ได้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด

www.dpt.go.th   

 

Page Visitor

013024681
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
3559
14777
18336
327195
505277
13024681
Your IP: 52.15.191.241
2024-12-23 04:37
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.