October 04, 2024

Biz Focus Industry Issue 137, June 2024

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

เปิดวิสัยทัศน์ประธาน ส.อ.ท. เดินหน้าลุยภารกิจวาระสองเต็มร้อย

          ประธาน ส.อ.ท. ประกาศขับเคลื่อนภารกิจวาระสอง มุ่งสู่อุตฯ แห่งอนาคต (Next-GEN Industries ) บวกยกระดับ SMEs สู่ Smart SMEs ด้วยนโยบาย 3+1 GO หนุนก้าวพ้นปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ ประเมินภาพรวมอุตฯ ไทยปี 67 โตเพิ่ม 10% จากปีก่อนหน้า พร้อมเปิดโผอุตฯ ดาวเด่น “ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ” ครองอันดับหนึ่ง ตามติดด้วย “อุตฯ เครื่องปรับอากาศ และอุตฯ ท่องเที่ยว”

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

          คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงภารกิจของ ส.อ.ท. ในปี 2567-2569 โดยได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอีกหนึ่งสมัย ว่า นโยบายขับเคลื่อนเดิมที่ดำเนินการในวาระแรก (2565-2567)  คือ ONE FTI (One Vision, One Team, One Goal) โดยเน้นการขับเคลื่อน  First Industries หรือ อุตสาหกรรมดั้งเดิม ส่วนวาระปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ การมุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต  หรือ Next-GEN Industries ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) ใน 12 อุตสาหกรรม

          2. อุตสาหกรรม BCG Model (Bio-Circular-Green)  3. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์ให้ได้ในปี 2065 พร้อมทั้ง ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 ซึ่งเป็นทิศทางใหม่และกติกาใหม่ของโลก

          ขณะเดียวกัน ส.อ.ท. มุ่งเน้นให้ความสำคัญช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้แก่ SMEs อย่างจริงจัง  โดยปัจจุบัน ส.อ.ท. มีสมาชิก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม รวมประมาณ 16,000 บริษัท ส่วนใหญ่ 80% เป็น SMEs ซึ่งเป็นผู้ที่ประสบปัญหาและเปราะบาง โดยออกมาตรการ Smart SMEs ซึ่งในช่วงปี 2565-2567 มาตรการที่ดำเนินการ ประกอบด้วย 3 Go ได้แก่ 1. Go Digital โดยดำเนินการให้ SMEs นำระบบ Digital มาใช้ในองค์กร เช่น การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ หรือ การนำ Digital มาช่วยเสริมเปิดตลาดออนไลน์ให้กว้างยิ่งขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้ได้มากขึ้น

          2. Go Innovation เป็น SMEs "จิ๋วแต่แจ๋ว" ด้วยนวัตกรรมซึ่งจะคล้ายกับ SMEs ของไต้หวันและอิสราเอล โดย ส.อ.ท. ได้มีการเตรียมความพร้อมและร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้งโครงการกองทุนนวัตกรรม “Innovation One” โดยกระทรวง อว. ได้ให้งบสนับสนุน 1,000 ล้านบาท และส.อ.ท. สมทบอีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็น 2,000 ล้านบาท ในกรอบระยะเวลา 3 ปี เพื่อสนับสนุน SMEs และสตาร์ทอัพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

          3. Go Global โดยจะผลักดัน SMEs ให้สามารถผลิตและในการจำหน่ายสินค้าไปทั่วโลกได้ นอกเหนือจากจำหน่ายในประเทศแล้ว ซึ่งจะต้องรู้กติกา รู้วิธีการ ขณะเดียวกัน Go Global ในภาคการผลิต โดย SMEs ที่ผลิตสินค้าให้แก่อุตสาหกรรมเดิมๆ สามารถผลิตสินค้าให้แก่อุตสาหกรรมใหม่ในมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ

          พร้อมกันนี้ ในวาระสอง ส.อ.ท. ได้เพิ่มอีก 1 Go หรือ บวก 1 คือ Go Green เพื่อให้สอดรับกับทิศทางของโลกในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ SMEs นอกจากจะ Go Digital, Go Innovation และ Go Global แล้ว โดยการจะไปให้ได้สำเร็จจะต้อง Go Green ไปด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก

          ดังนั้นในช่วงเวลา 2 ปีนี้ ส.อ.ท. จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น เรื่องทางด้านทฤษฎี ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ มาให้ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึง การให้เงินทุนต่างๆ โดยจะพยายามให้อุตสาหกรรมผันตัวให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้สามารถก้าวข้ามปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ ที่ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการกำลังประสบปัญหาอยู่

          ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตนเชื่อว่ามีหลายอุตสาหกรรมได้มีการพัฒนาตัวเอง ด้วยการใช้หุ่นยนต์ หรือ นวัตกรรม โดยก้าวสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง และสามารถก้าวข้ามปัญหาเรื่องแรงงานขั้นต่ำได้แล้ว ซึ่งปัจจุบันใน 46 กลุ่มอุตสาหกรรม จะมีกลุ่มอุตสาหกรรมประมาณเกือบครึ่ง หรือ กว่า 20 อุตสาหกรรมที่ปรับตัวได้แล้ว แต่ยังมีอุตสาหกรรมอีกครึ่งหนึ่งที่ยังอยู่เหมือนเดิมและปรับตัวไม่ได้

          ดังนั้นสิ่งที่ ส.อท. มองว่าปัญหาของอุตสาหกรรมกลุ่มแรกที่ปรับตัวได้ คือ ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง เพราะในอุตสาหกรรมใหม่จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีความรู้ มีความเข้าใจมากขึ้น ขณะที่ แรงงานมีไม่เพียงพอ โดยผู้ประกอบการเต็มใจจ่ายค่าจ้างวันละ 400-800 บาทมานานแล้วแต่หาแรงงานไม่ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะสร้างหลักสูตร สร้างบุคลากร หรือ การอัพสกิล รีสกิลแรงงานเดิมให้มีทักษะเพิ่มมากขึ้นเพื่อมารองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้

          ขณะที่ อุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งไม่สามารถแบกต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ ส.อ.ท. จะต้องเร่งดำเนินการแบบคู่ขนาน คือ การช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้เร็วมากที่สุด เพื่อให้อุตสาหกรรมหลุดพ้นและสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการเป็น Smart SMEs ได้อย่างรวดเร็วมากที่สุด จะช่วยให้หลุดพ้นแรงกดดันและเงื่อนไขแบบเดิมๆ ซึ่งจะไปสู่อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ไม่ต้องมาพูดกันถึงค่าแรงขั้นต่ำ แต่ให้จ่ายตามทักษะ (Pay by Skill) และเป็นสิ่งที่ ส.อ.ท. ผลักดันมาโดยตลอด

          คุณเกรียงไกร กล่าวต่อถึงภาพรวมอุตสาหกรรมไทยว่า ปี 2567 เป็นปีที่ทุกหน่วยงานเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารโลก (World Bank) หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัว โดยเมื่อช่วงปลายปี 2566 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย หรือ จีดีพี ในปี 2567 อยู่ที่ 2.8%-3.3% และการส่งออกจะขยับเพิ่มมาเป็น 2%-3% จาก -1% ในปี 2566 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 0.7%-1.2%

          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะดีขึ้นกลับไม่ได้ดีอย่างที่คิด ซึ่งเกิดมาจากหลายสาเหตุ ดังนั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจของไทยใหม่ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.8%-3.3% โดยอยู่ที่ 2.2%-2.7% หรือลดลง 0.6% ขณะที่ การส่งออกจากเดิมที่คาดว่าในปีนี้จะอยู่ที่ 2%-3% โดยปรับลดมาอยู่ที่ 0.5%-1.5% ส่วนเงินเฟ้อจะลดลงมาอยู่ในกรอบ 0.5%-1%

          “ภาพรวมอุตสาหกรรมไทยปีนี้ คาดว่าจะเติบโตเพิ่มจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10% โดยในปี 2566 จีดีพีอยู่ที่ 1.9% ซึ่งในปีนี้คาดการณ์ว่า จีดีพีจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.2%-2.7% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับระดับภูมิภาค จีดีพีของไทยถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก” คุณเกรียงไกรกล่าว

          ด้านอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปี 2567 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น Printed Circuit Board : PCB (แผงวงจรพิมพ์) ซึ่งในปีที่ผ่านมา มียอดเงินขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กว่า 8.4 แสนล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 40% นับเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 5 ปี คาดว่าตัวเลขการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้จะเป็นอนาคตของปีนี้และปีต่อไป หรือ อาจกล่าวได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นที่จะมาทดแทนอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟในอนาคต

          ขณะที่ อันดับสอง คือ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากโลกร้อน โดยเฉพาะปีนี้ที่อากาศร้อนมากเป็นพิเศษ โดยโรงงานผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศมียอดจำหน่ายสูงมาก ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศอันดับสองของโลกรองจากจีน

          นอกจากนั้น จะเป็นอุตสาหกรรมทั่วไป แต่เนื่องจากความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ของภาครัฐ ดังนั้นในปีที่ผ่านมา เครื่องยนต์ตัวหนึ่ง คือ การใช้จ่ายของภาครัฐทำให้หลายๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ก่อสร้างเติบโตลดลง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ งบประมาณผ่านการอนุมัติแล้ว โดยจะช่วยขับเคลื่อนทำให้การก่อสร้าง วัสดุก่อสร้างทุกประเภท รวมทั้ง เหล็ก มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามากับสินค้าที่บริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น

          ขณะเดียวกัน ตัวเลขภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปีนี้ จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญ โดยในช่วง 3 เดือนของปีนี้มียอดนักท่องเที่ยวกว่า 9 ล้านคน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เดือนละ 3 ล้านคน ทั้งนี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาดและเป็นไปตามกระแส คาดว่าจะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยปีนี้ 35-36 ล้านคน

          นอกจากนี้ ยังมีนโยบายของภาครัฐที่ดีและมาถูกเวลา คือ SOFT POWER โดยเมื่อนำมาผสมผสานกับการท่องเที่ยว จะทำให้การท่องเที่ยวมีคุณภาพ มีความหลากหลาย และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายต่อคนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 50,000 บาทต่อคน จากเดิมที่มีค่าใช้จ่ายต่อคนที่ 46,000-47,000 บาท อีกทั้ง ยังช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงสงครามราคาสินค้าต้นทุนถูกจากต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ หากได้ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว 35-36 ล้านคน และค่าใช้จ่ายกว่า 50,000 บาทต่อคน จะช่วยทำให้จีดีพีของไทยเติบโตเพิ่มมากยิ่งขึ้น

          คุณเกรียงไกร กล่าวในตอนท้ายถึงผู้ประกอบการ 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ว่า ท่ามกลางกระแสแห่งความท้าทายมากมายที่ยังดำรงอยู่ และยังไม่รู้ว่าจะเกิดสงครามใดบ้างในอนาคต การกีดกันการค้าทุกรูปแบบจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ เราจะต้องเข้าใจในบริบท และการที่อยู่รอดได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างมากของเทคโนโลยีของโลก ทุกคนจะต้องตื่นตัว พร้อมที่จะปรับตัว รวมถึง การเข้าโปรแกรมกับ ส.อ.ท. ในการผันตัว SMEs ของท่านไปสู่ Smart SMEs เพื่อเป็นทางรอดในระยะยาวต่อไป

          โดย ส.อ.ท. จะรีบเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าได้ รวมถึง การผลักดันให้ภาครัฐเร่งปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัย โดยลดปัญหาและอุปสรรคของกฎหมายที่มีอยู่จำนวนมาก เพื่อให้เอื้อต่อการทำธุรกิจทั้งของคนไทยและต่างชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ ภารกิจของ ส.อ.ท. ที่จะต้องดำเนินการต่อไป

          ส่วนการเร่งการพัฒนาต่างๆ ส.อ.ท. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพราะเรารู้ว่าท่ามกลางวิกฤต คงไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากพวกเราช่วยกันเอง พวกเราต้องเข้มแข็งและอยู่รวมกัน ตนเชื่อว่าประเทศไทยสามารถที่จะพลิกฟื้นและกลับมาได้ เพียงแต่เราจะต้องร่วมมือกันภายใต้นโยบายของ ส.อ.ท. ในวาระสองของตน (2567-2569) คือ ONE FTI (One Vision, One Team, One Goal)

www.fti.or.th 

 

Page Visitor

011784816
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
1515
5106
42861
24852
209955
11784816
Your IP: 35.170.81.33
2024-10-04 08:00
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.