ไดเมท (สยาม) สยายปีกร่วมลงทุนธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
ไดเมท (สยาม) สบช่องธุรกิจกระแสพลังงานสะอาด จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) บริษัท เอนเนอร์ยี่ ลิงค์ ดีไซน์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกแบบระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ จับมือสองพาร์ตเนอร์สัญชาติญี่ปุ่นและไทย ตั้งเป้ารับรู้รายได้ไตรมาสสี่
ดร.วรดิศ ธนภัทร ประธานกรรมการบริหารและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไดเมท (สยาม) เปิดเผยว่า “บริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมลงทุน (Joint Venture) โดยจัดตั้งบริษัท เอนเนอร์ยี่ ลิงค์ ดีไซน์ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท (ชำระเต็ม) โดยไดเมท (สยาม) ถือหุ้น 26% ร่วมกับ บริษัท ชิบาตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (สัดส่วนถือหุ้น 31%) และบริษัท ฮาตาริ เน็กซ์ จำกัด (สัดส่วนถือหุ้น 25%) ดำเนินธุรกิจออกแบบ วางระบบ ติดตั้งและบำรุงรักษาครบวงจร จากพลังงานทดแทน เบื้องต้นนำร่องด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) ก่อนขยายขอบข่ายไปยังการผลิตพลังงานทดแทนอื่นๆ รวมถึงธุรกิจโครงการที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect) อาทิเช่น การปลูกสวนป่า (Forestry) และ เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนด จนสามารถคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อประกอบธุรกิจการซื้อขายคาร์บอนเครดิตต่อไป
ทั้งบริษัท ชิบาตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทออกแบบ รับเหมางานวิศวกรรมและก่อสร้างแบบครบวงจร รวมทั้งผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท ฮาตาริเน็กซ์ จำกัด บริษัทเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ มีฐานลูกค้าในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การร่วมมือครั้งสำคัญนี้ส่งผลให้ บริษัท เอนเนอร์ยี่ ลิงค์ ดีไซน์ (ประเทศไทย) จำกัด มีความแข็งแกร่งทางการเงินซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจอย่างสมบรูณ์ อีกทั้งบริษัทฯ ได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและเรียนรู้การบริการแบบครบวงจรอย่างมืออาชีพตามมาตรฐานสากลจากประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากประเทศไทย โดยบริษัทฯ หวังจะส่งเสริมความเชี่ยวชาญและส่งต่อประสบการณ์นี้เพื่อสานสายสัมพันธ์ที่ดีต่อบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นผ่าน บริษัท ชิบาตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทต่างชาติระดับสากลในประเทศไทย รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านบริษัท ฮาตาริเน็กซ์ จำกัด โดยตั้งเป้ารับรู้รายได้ไตรมาสสี่
บริษัทฯ ได้นำองค์ความรู้ด้านการใช้พลังงานควบคู่กับเทคโนโลยีทางวิศวกรรมและการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ณ เดือนมกราคม 2566 ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินลิกไนซ์ มีปริมาณลดลงและจะยังคงมีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่น้ำมัน, พลังน้ำ, ไฟฟ้านำเข้าและพลังงานหมุนเวียน มีปริมาณเพิ่มขึ้น บริษัทฯ มั่นใจว่าการร่วมทุนนี้จะสอดรับกับนโยบายการลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) อย่างยั่งยืน” ดร.วรดิศ ธนภัทร กล่าวในที่สุด