GULF รับรู้ Core Profit ในปี 2566 จำนวน 15,644 ล้านบาท เติบโต 29% YoY พร้อมมุ่งหน้าขยายการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานปี 2566 โดยมีรายได้รวม (Total Revenue) อยู่ที่ 116,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จาก 95,076 ล้านบาทในปี 2565 และมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) สำหรับปี 2566 อยู่ที่ 15,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จาก 12,098 ล้านบาทในปีก่อนหน้า
การเติบโตดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการกัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าภายใต้กลุ่ม IPD หน่วยที่ 1 และ 2 รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 1,325 เมกะวัตต์ โดยมี Load Factor เฉลี่ยที่ 90% ในปี 2566 โครงการโรงไฟฟ้า DIPWP ในประเทศโอมานที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 326 เมกะวัตต์ตั้งแต่ต้นปี 2566 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Mekong ในประเทศเวียดนามที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 128 เมกะวัตต์ในเดือนกรกฎาคม 2566 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ภายใต้ GULF1 ซึ่งทยอยเปิดดำเนินการไปแล้วจำนวน 110 เมกะวัตต์ ประกอบกับการรับรู้รายได้เต็มปีของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD ที่เปิดดำเนินการครบทั้ง 4 หน่วยเรียบร้อยแล้ว จำนวนรวม 2,650 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปลายปี 2565
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจพลังงานยังเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย SPP 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีกำไร Core Profit เพิ่มขึ้นจาก 1,435 ล้านบาทในปี 2565 เป็น 3,097 ล้านบาทในปี 2566 เพิ่มขึ้น 1,661 ล้านบาท หรือ 116% จากปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นจากการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งราคาค่าก๊าซเฉลี่ยปรับตัวลดลงจาก 494.8 บาท/ล้านบีทียูในปี 2565 เป็น 385.4 บาท/ล้านบีทียูในปี 2566 ขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 0.40 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2565 เป็น 0.89 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2566 อีกทั้ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul Corporation รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit เพิ่มขึ้น 174% จากจำนวน 324 ล้านบาทในปี 2565 เป็น 889 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีของโครงการดังกล่าว
ซึ่ง GULF ได้เข้าลงทุนไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ประกอบกับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลกัลฟ์ จะนะ กรีน (GCG) มีกำไรที่เพิ่มขึ้นจาก 170 ล้านบาทในปี 2565 เป็น 263 ล้านบาทในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 55% จากต้นทุนราคาไม้เฉลี่ยที่ลดลงจาก 1,036 บาท/ตันในปี 2565 เป็น 869 บาท/ตันในปี 2566 ขณะที่ราคาค่า Ft ขายส่งเฉลี่ยที่สูงขึ้นจาก 0.25 บาท/กิโลวัตต์ในปี 2565 เป็น 0.72 บาท/กิโลวัตต์ในปี 2566 อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกดังกล่าวบางส่วนถูกชดเชยโดยส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล Borkum Riffgrund 2 (BKR2) ที่ประเทศเยอรมนี เนื่องจาก GULF ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการนี้ลงจาก 50.00% เหลือ 24.99% โดยจำหน่ายหุ้นในสัดส่วน 25.01% ให้กับ Keppel Group เมื่อเดือนธันวาคม 2565
ในปี 2566 GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก PTT NGD จำนวน 396 ล้านบาท ซึ่งพลิกจากผลขาดทุนจำนวน 128 ล้านบาทในปี 2565 จากราคาต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จำนวน 241 ล้านบาท จากโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว (Thai Tank Terminal) ที่ได้เข้าลงทุนในเดือนธันวาคม 2565 อีกด้วย
นอกจากนี้ GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากการลงทุนใน INTUCH จำนวน 6,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,445 ล้านบาท หรือ 31% จาก 4,656 ล้านบาทเมื่อปี 2565 โดยสาเหตุหลักมาจากผลประกอบการที่ดีขึ้นของ AIS
ทั้งนี้ GULF มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 2566 จำนวน 35,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับ 29,138 ล้านบาทในปี 2565 และกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในปี 2566 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) อยู่ที่ 14,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จาก 11,418 ล้านบาทในปี 2565
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 GULF มีสินทรัพย์รวม 459,514 ล้านบาท หนี้สินรวม 315,410 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 144,104 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.69 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.56 เท่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากจำนวนหนี้สินระยะยาวที่เพิ่มขึ้นจากการออกและจำหน่ายหุ้นกู้จำนวน 35,000 ล้านบาท ในปี 2566 ประกอบกับการเบิกเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อลงทุนในโครงการ GPD
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่ารายได้รวมของปี 2567 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 25 - 30% จากปี 2566 จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GPD หน่วยที่ 3 และ 4 ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 1,325 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเดือนมีนาคมและตุลาคม 2567 ตามลำดับ รวมทั้งการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกองหน่วยที่ 1 ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 2567
นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ของกลุ่ม GULF1 จะทยอยเปิดดำเนินการเพิ่มอีกจำนวน 120 เมกะวัตต์ในปีนี้ ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar Farms With Battery Energy Storage Systems: Solar BESS) ภายในประเทศ มีแผนที่จะทยอยเปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 5 โครงการในปลายปี 2567 โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 532 เมกะวัตต์
นางสาวยุพาพิน กล่าวต่อว่า GULF เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐในปัจจุบันที่จะมุ่งสู่พลังงานสะอาด โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการ Solar Farms และ Solar BESS จำนวนรวม 24 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าตามสัญญารวมทั้งสิ้น 2,396 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2567 – 2572 และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟภ. เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 20 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569
ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน GULF มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานหมุนเวียนที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนารวมทั้งสิ้น 8,211 เมกะวัตต์ และพร้อมมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ไม่น้อยกว่า 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2578 จากโครงการ Solar Rooftop, Solar Farms, Solar BESS พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานขยะอุตสาหกรรม ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านรูปแบบการลงทุนใหม่ (Greenfield) การเจรจาการร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจ และการเข้าซื้อกิจการ (M&A)
นอกจากนี้ ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ GULF จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าหินกองหน่วยที่ 1 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นเอกชนรายแรกของประเทศไทยที่นำ LNG เข้ามาในประเทศ โดยการนำเข้า LNG นี้เป็นไปตามแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศ อันจะช่วยลดความเสี่ยงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศอีกด้วย
ในส่วนของความคืบหน้าของโครงการภายใต้ธุรกิจดิจิทัลยังคงเป็นไปตามแผน โดยธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ภายใต้แพลตฟอร์ม Binance TH by Gulf Binance ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแก่ผู้ใช้งานทั่วไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งตลาดที่ประมาณ 30% ในปี 2567 ในขณะที่ธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) นั้น อยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีแผนที่จะเปิดให้บริการเฟสแรกในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 จำนวน 20 เมกะวัตต์ ซึ่งศูนย์ข้อมูลดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดธุรกิจบริการด้านดิจิทัลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) GULF มีแผนร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีทั้งช่องทาง ฐานลูกค้าและข้อมูล โดยจะนำเทคโนโลยีมาช่วยดำเนินการและสร้างบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการให้บริการ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าที่อยู่นอกระบบธนาคารพาณิชย์ และจะส่งผลให้ Virtual Bank เติบโตได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในวันที่ 4 เมษายน 2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทประจำปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ในอัตรา 0.88 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 78.1 โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 เมษายน 2567