เคเอฟซี ลุยตลาดไดร์ฟทรู พร้อมเทงบ 2.2 พันลบ. ตอกย้ำแบรนด์
เคเอฟซี รุกตลาดรูปแบบไดร์ฟทรู เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค ทุ่มทุนกว่า 2.2 พันล้านบาทขยายสาขาและตอกย้ำแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ประกาศเติมสาขาครบ 800 สาขาในปี 2563 ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศรองรับการเติบโตของจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น
คุณแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนภายใต้แบรนด์ เคเอฟซี กล่าวว่าปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 30 ปี โดยมีร้านเคเอฟซีเปิดให้บริการกว่า 500 สาขาทั่วประเทศ
ส่วนในระยะยาว คาดว่ายอดขายของแต่ละสาขาจะสามารถเติบโตได้ถึง 50% โดยเฉพาะการเปิดร้านเคเอฟซีในรูปแบบสาขาไดร์ฟทรู เพื่ออำนวยความสะดวกสบายและต้องการความรวดเร็วในการรับประทานอาหารทั้งที่รับประทานในร้านและสั่งซื้อกลับบ้านของลูกค้า รวมทั้งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนในเมืองใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดได้เปิดสาขาแรกที่ถนนศรีนครินทร์
ด้านแผนการดำเนินงานในปีนี้บริษัทได้เตรียมทุ่มงบกว่า 2.2 พันล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณเปิดสาขาใหม่ 900 ล้านบาท งบประมาณการตลาด 650 ล้านบาท งบประมาณในการปรับปรุงร้าน 450 ล้านบาทและงบประมาณในด้านอื่นๆ 200 ล้านบาท โดยในปีนี้มีแผนขยายสาขาเพิ่มเติมทั้งสิ้น 50 สาขา แบ่งเป็นสาขาในรูปแบบไดรฟ์ทรู สแตนด์อะโลน 10 สาขา โดยใช้งบประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อสาขา
“ในปีนี้เคเอฟซีมุ่งเน้นที่จะตอบสนองทุกความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 50 สาขาเป็นรูปแบบไดร์ฟทรูรอบๆ กรุงเทพฯ รวมทั้งการเปิดร้านในอำเภอรองจากอำเภอเมืองในแต่ละจังหวัดตาม Hyper Market อาทิ เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี เป็นต้น และรูปแบบร้านที่อยู่ในห้าง Shopping Mall ทั่วไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศ” คุณแววคนีย์กล่าว
นอกจากนี้ในปี 2563 เคเอฟซีมีความมั่นใจว่าจะสามารถขยายสาขาได้ถึง 800 สาขา ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเคเอฟซีเปิดสาขาได้มากกว่าที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้เพื่อให้เข้าถึงปณิธานของเคเอฟซีที่มุ่นมั่นที่จะเป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดของชุมชนและสามารถสร้างงานให้กับคนในชุมชนนั้นๆ ด้วย
คุณแววคนีย์กล่าวต่อถึงด้านการตลาดในปีนี้ว่าเคเอฟซีมีการสร้างการรับรู้และตอกย้ำแบรนด์ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ โซเชียลเน็ตเวิร์ค รวมทั้งการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งแต่ละโปรโมชั่นที่จะออกมามุ่งเจาะกลุ่มครอบครัวเป็นหลัก รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา วัยรุ่นและวัยทำงาน
ด้านเป้าผลประกอบการในปี 2556 ที่ผ่านมา เติบโตเพิ่มขึ้น 10% และในปีนี้บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 15% เพิ่มจากปีก่อนด้วยการเพิ่มสาขาและทยอยเปิดสาขาใหม่ตลอดทั้งปี รวมทั้งการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าแนวโน้มของตลาดในครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นอย่างแน่นอน รวมทั้งกระแสตอบรับจากผู้บริโภคที่ยังให้การตอบรับผลิตภัณฑ์จากเคเอฟซีเป็นอย่างดี ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคุณภาพและรสชาติที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนไทยเป็นอย่างดี
“เราให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นสร้างประสบการณ์และผลิตภัณฑ์คุณภาพ ความปลอดภัย รวมทั้งใช้ไก่สดปรุงใหม่ๆ ในร้านและรสชาติอร่อยถูกปากคนไทยตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ จึงทำให้เคเอฟซีเป็นผู้นำธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน โดยมีเป้าหมายขยายส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 50% ในปี 2557” คุณแววคนีย์กล่าว
สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 นับเป็นโอกาสดีที่แบรนด์ของคนไทยจะไปตีตลาดในต่างประเทศมากขึ้น สำหรับ KFC ได้มีการเตรียมความพร้อมในการศึกษาทำเลที่ตั้งของสาขาต่างๆ ที่อยู่รอบๆ บริเวณจังหวัดชายแดนซึ่งเป็นเมืองเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและมีการเข้า-ออกของคนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
คุณแววคนีย์กล่าวต่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารงานคือ “คน” โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งจะส่งผลให้พนักงานและองค์กรประสบความสำเร็จ ในปัจจุบันบริษัทมีพนักงานในสำนักงานประมาณ 300 คนและพนักงานประจำร้านไม่น้อยกว่า 15,000 คน
“เรามีพนักงานเป็นจำนวนมากและเราได้นำวัฒนธรรมมาจากคุณเดวิด โนแวค ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยัม! แบรนด์ส อิงก์ ซึ่งคุณเดวิดอยากให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นในตนเองว่าเมื่อเราตื่นขึ้นมาแล้ว เราจะต้องประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างความมุ่งมั่นที่จะคิดเพื่อให้ตนเองประสบความสำเร็จตามจุดหมายในแต่ละวัน” คุณแววคนีย์กล่าว
ด้านกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรหรือ CSR เนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจด้านอาหาร ดังนั้นจึงมีแนวคิดจัดทำโครงการ CSR ในด้านอาหาร โดยร่วมสนับสนุนโครงการอาหารโลก หรือ WFP (The World Food Programme) ในการระดมทุนทรัพย์ตามสาขาต่างๆ ของ KFC อาทิ โครงการช่วยเหลือด้านอาหารในประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้รับความผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน เป็นต้น
ส่วนในประเทศไทย บริษัทได้เข้าร่วมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นโครงการเพื่อให้นักเรียนมีอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการบริโภคตลอดปีการศึกษา โดยใช้ผลผลิตการเกษตรที่ผลิตขึ้นภายในโรงเรียนมาประกอบอาหาร และนำเงินที่ได้รับบริจาคในแต่ละสาขาเข้าร่วมสมทบกองทุน
“การวางกล่องรับบริจาคในแต่ละสาขา ถือเป็นการตอบโจทย์ในการรับบริจาคได้เป็นอย่างดีเพราะเราสามารถบริหารจัดการเงินทุกบาททุกสตางค์ได้ด้วยตัวเองและนำมาสะสมเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อสมทบทุนในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในทุกๆ ปี รวมทั้งเรายังภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเพื่อถวายเงินสมทบกองทุนอีกด้วย” คุณแววคนีย์กล่าว
คุณแววคนีย์กล่าวปิดท้ายว่านอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการร้านน้องหูหนวก ซึ่งเป็นร้าน KFC ที่มีแต่เฉพาะพนักงานคนหูหนวก โดยให้บริการเป็นสาขาแรกในประเทศไทยที่ไทม์ สแควร์ ซึ่งได้เริ่มเปิดรับสมัครคนหูหนวกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยให้สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์ข่าวนี้ให้คนหูหนวกได้รับทราบ