November 22, 2024
×

Warning

JFolder: :files: Path is not a folder. Path: [ROOT]/images/Biz_Interview/2014/bfi_022/tpipl/Photo

×

Notice

There was a problem rendering your image gallery. Please make sure that the folder you are using in the Simple Image Gallery plugin tags exists and contains valid image files. The plugin could not locate the folder:

“ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” รับรางวัลระดับอาเซียน / Issue 022, November 2014

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

“ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” รับรางวัลระดับอาเซียน

ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ได้รับรางวัล “ASEAN Energy Awards 2014” ด้านการจัดการพลังงานทดแทน ตอกย้ำความสำเร็จโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน เร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 20 MW จำหน่ายไฟให้ กฟภ. ปลายปีนี้

คุณวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) หรือ TPIPL ผู้ผลิตปูนซิเมนต์ชั้นนำของประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจโรงงานแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงทดแทน (RDF Plant) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ TPIPL ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับอาเซียน ด้านการจัดการพลังงานทดแทน ประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายไฟฟ้า (Off-Grid)

สำหรับการรับรางวัลในครั้งนี้ บริษัทได้เข้าร่วมการประกวดผลงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนระดับภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN Energy Awards 2014 ครั้งที่ 32 ในโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน ซึ่งได้รับรางวัลเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2557 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

“นอกจากรางวัลในระดับอาเซียนแล้ว ในปี 2556 ที่ผ่านมา เรายังได้รับรางวัลดีเด่นในระดับประเทศ จากการประกวด Thailand Energy Awards 2014 โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน อีกด้วย ซึ่งในขณะนั้นเราได้เข้าร่วมโครงการ Thailand Energy Awards 2014 และได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการพิจารณาให้เข้าร่วมประกวดในระดับอาเซียน ซึ่งทั้ง 2 รางวัล เราได้เข้าร่วมเป็นปีแรก

การเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ เราไม่ได้มีการเตรียมการอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากโครงการแปรรูปขยะเพื่อให้เกิดเป็นพลังงานทดแทนเป็นกระบวนการทำงานที่เราดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยนำพลังงานที่ได้นำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตและภายในโรงงานปูนซิเมนต์ รวมทั้งยังสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เราจะต้องเสียอีกด้วย” คุณวรวิทย์กล่าว

คุณวรวิทย์ กล่าวต่อว่า บริษัทได้เริ่มดำเนินการโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา โดยโรงงานแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงทดแทน (RDF Plant) สามารถรองรับขยะจากชุมชน ขยะจากบ่อเก่าและขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นพิษได้ประมาณ 600-800 ตันต่อวัน ซึ่งจะรับขยะจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น สระบุรี, ลพบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นครนายก และปทุมธานี เป็นต้น โดยสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 15-18 เมกะวัตต์ต่อวัน

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชนคือมุ่งหวังที่จะลดการใช้พลังงานและลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน โดยเฉพาะในโรงงานปูนซิเมนต์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้เชื้อเพลิงและพลังงานในอัตราที่สูงมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการสร้างสรรค์โครงการต่างๆ เพื่อเข้ามาช่วยแบ่งเบาและลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงและพลังงานในกระบวนการผลิต

นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการมุ่งเน้นที่จะยกเลิกการจัดการขยะด้วยวิธีการฝังกลบแบบเก่า เพื่อลดปัญหาของขยะที่ล้นเมือง ปัญหาขยะตกค้าง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบพื้นที่บริเวณที่มีการฝังกลบขยะ โดยวิธีที่ดีสุดคือการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น สำหรับการดำเนินการดังกล่าวบริษัทได้รับการตอบรับจากชุมชนโดยรอบเป็นอย่างดี

“การแปรรูปขยะเป็นพลังงานในประเทศไทยยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก แต่ในต่างประเทศได้มีการดำเนินการมานานแล้วและมีวิธีการจัดการขยะที่ดี เพื่อไม่ก่อให้เกิดขยะตกค้าง ทั้งนี้ การจัดการขยะแบบฝังกลบยังก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในระยะยาว ซึ่งสิ่งที่จะสามารถลดขยะได้ดีที่สุดคือการแปรรูปและนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” คุณวรวิทย์กล่าว

ส่วนขยะที่บริษัทได้นำมาแปรรูปประกอบด้วยขยะประเภท, พลาสติก, กระดาษ และผ้า เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิง และมีเครื่องจักรคัดแยกขยะเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูป สำหรับขยะที่ไม่สามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้ อาทิ กากอินทรีย์, เศษหินดินทราย เป็นต้น โดยกากอินทรีย์ บริษัทจะมีการจัดการโดยนำมาหมักทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนเศษหินดินทราย บริษัทจะมีการจัดการโดยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนซิเมนต์

{gallery}Biz_Interview/2014/bfi_022/tpipl/Photo{/gallery}

ด้านกระแสตอบรับจากการดำเนินการโครงการนี้ บริษัทมองว่าที่ผ่านมาประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่บริษัทได้ตั้งไว้ และได้มีการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดีต่อชุมชนโดยรอบโครงการ อีกทั้งบริษัทยังได้รับกระแสตอบรับจากชุมชนรอบโรงงานเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยรอบพื้นที่โรงงาน

รวมทั้ง ยังได้รับความสนใจและได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในการเข้ามาเยี่ยมชมกระบวนการจัดการขยะเพื่อแปรรูปเป็นพลังงาน โดยถือว่าเป็นการเผยแพร่กระบวนการทำงาน ประสบการณ์ และวิธีการดำเนินการจัดการขยะที่ดีของบริษัทให้สาธารณชนได้รับทราบและสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้อีกด้วย

คุณวรวิทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน นอกจากจะนำพลังงานไฟฟ้าเพื่อมาใช้ภายในโรงงานแล้ว บริษัทยังมีทำสัญญาจัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. โดยในขณะนี้ โรงไฟฟ้า ขนาด 20 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องจักร คาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.ได้ภายในปลายปีนี้

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าขนาด 20 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเตรียมส่งขายให้กับ กฟภ. ในช่วงสิ้นปีนี้ นอกจากโครงการนี้แล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 60 เมกะวัตต์ โดยใช้งบลงทุนกว่า 3,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็นการติดตั้งเครื่องจักร 2,000 ล้านบาทและที่เหลืออีกกว่า 1,500 ล้านบาท จะเป็นงบลงทุนในการก่อสร้างและการวางระบบต่างๆ

ล่าสุด มีความคืบหน้าการก่อสร้างแล้วกว่า 60% คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตและจำหน่ายให้กับ กฟภ. ได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2558 และทั้งสองโครงการนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการคืนทุนประมาณ 5 ปี โดยการคืนทุนจะขึ้นอยู่ปัจจัยของปริมาณในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้และปริมาณขยะที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“นอกจากนี้ เรายังอยู่ระหว่างการเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 90 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้เชื้อเพลิงหลักจากขยะและความร้อนทิ้ง โดยได้ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาและคัดเลือกซัพพลายเออร์เครื่องจักรและสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 3 ปีจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้” คุณวรวิทย์กล่าว

คุณวรวิทย์กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากโครงการที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น บริษัทยังมีโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากการติดตั้งสายพานลำเลียงวัตถุดิบจากหน้าเหมือง โดยสายพานมีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองเดินเครื่องจักร คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ดำเนินการติดตั้งสายพานเพิ่มในเหมืองอีกแห่งหนึ่ง โดยมีความยาวของสายพานประมาณ 5 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในช่วงกลางปี 2558

“การดำเนินการโครงการนี้ เราเรียกว่า Downhill Conveyor ซึ่งเป็นการขนหินลงมาจากที่สูงผ่านสายพานและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถนำมาปั่นไฟและผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณวันละ 20,000 หน่วยหรือปีละประมาณ 6 ล้านหน่วย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งด้วยรถบรรทุก ซึ่งเรามีความเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เราเป็นบริษัทแรกที่ใช้เทคโนโลยีสายพานลำเลียงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย และเรามั่นใจว่าเรามีขนาดกำลังการผลิตที่มากที่สุดในเอเชียอีกด้วย” คุณวรวิทย์กล่าว

Page Visitor

012542502
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
15488
18787
103795
350293
432245
12542502
Your IP: 3.15.145.50
2024-11-22 17:56
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.