May 03, 2024

ทรัพยากรน้ำบาดาล” เดินหน้าแก้ไขปัญหาภัยแล้ง / Issue 029, June 2015

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

“กรมทรัพยากรน้ำบาดาล” เดินหน้าแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

คุณสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ให้สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับนโยบายและแผนการดำเนินงานปีนี้เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

บิส โฟกัส : นโยบายและแผนการดำเนินงานในปีนี้
คุณสุวัฒน์ : ในปีนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีหลากหลายโครงการที่ดำเนินการ ซึ่งได้รับงบประมาณประจำปีจำนวน 2,175 ล้านบาท โดยมีโครงการที่สำคัญและต้องเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เร่งด่วนจำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย  1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค  2. โครงการสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ และ  3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง

บิส โฟกัส : รายละเอียดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
คุณสุวัฒน์ : โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 683  แห่ง เป็นการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อเชื่อมต่อกับระบบประปาเดิมที่แต่ละหมู่บ้านมีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะมีน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียงตลอดฤดูแล้ง โดยสามารถนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์

บิส โฟกัส : รายละเอียดโครงการสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนระบบน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ
คุณสุวัฒน์ : ปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงเรียนรวมทั้งหมดกว่า 38,000 โรงเรียน และมีโรงเรียนที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคกว่า 9,000 โรงเรียน ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งยังเหลืออีกประมาณ 6,000 แห่ง เพราะในแต่ละปีสามารถดำเนินการได้เพียง 700 แห่ง โดยจะมีการคัดเลือกโรงเรียนที่ขาดแคลนถึงขั้นวิกฤตเป็นลำดับแรก สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการจะอยู่ที่ 1,385,000 ล้านบาทต่อโรงเรียน

ทั้งนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาล และก่อสร้างระบบประปาบาดาล โดยติดตั้งหอถังเหล็ก 12 ลูกบาศก์เมตร ติดตั้งระบบควบคุมเครื่องสูบน้ำ ถังกรองสนิมเหล็ก และวางท่อเมนจ่ายน้ำ รวมทั้งก่อสร้างอาคารปรับปรุงคุณภาพน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก และติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำที่มีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 500 ลิตรต่อชั่วโมง

สำหรับโครงการนี้นอกจากเด็กนักเรียนจะได้รับประโยชน์จากการที่ได้น้ำประปาที่สะอาดอย่างเพียงพอแล้ว ยังเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนการจำหน่ายน้ำประปาสำหรับอุปโภคและบริโภคที่สะอาดให้กับคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาอีกทางหนึ่งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องน้ำบาดาลของคนในชุมชนอีกด้วย

บิส โฟกัส : รายละเอียดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง
คุณสุวัฒน์ : สำหรับน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร มีที่มาจากความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 321 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการทำการเกษตรประมาณ 132 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรที่อยู่ในเขตชลประทานเพียง 37 ล้านไร่ ส่วนอีก 95 ล้านไร่อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งจะต้องอาศัยจากน้ำฝนเพียงอย่างเดียว

ในขณะเดียวกันการขยายเขตชลประทานค่อนข้างทำได้ยาก เพราะจะต้องมีการเวนคืนที่ดินหรือสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อทิศทางการไหลของน้ำ รวมทั้งการที่จะสร้างเขื่อนเพิ่มก็จะมีแต่ผลกระทบหลายอย่าง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม งบประมาณที่ต้องสูญเสียเป็นจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างนาน เป็นต้น แต่การเจาะบ่อบาดาลสามารถดำเนินการได้ทันทีและแจกจ่ายน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว

บิส โฟกัส : รูปแบบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง
คุณสุวัฒน์ :  โครงการนี้ ได้มีการแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบที่ 1 น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร จำนวน 100 ไร่ มีสมาชิกอย่างน้อย 10 ราย และอยู่ในเขตที่มีไฟฟ้าเข้าถึง โดยรูปแบบนี้จะดำเนินการเจาะบ่อบาดาล 2 บ่อ และติดเครื่องสูบแบบ Submersible Pump เพื่อที่จะสูบขึ้นมาพักไว้ที่ถังเก็บน้ำสูง 20 เมตร มีความจุ 30 คิว และมีท่อหลัก ขนาด 3-4 นิ้ว กระจายไปยังแปลงเกษตรกร ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ เกษตรกรสามารถใช้งานจริงได้สูงกว่า 200 ไร่ ใช้งบประมาณ 2,508,000 บาทต่อแห่ง และสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณ 40 แห่งต่อปี

ส่วนรูปแบบที่ 2 น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร จำนวน 40 ไร่ มีสมาชิก 4 ราย และในพื้นที่ที่ไม่มีกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการเจาะบ่อบาดาลและติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Turbine  Pump เพียงเกษตรกรนำเครื่องยนต์อเนกประสงค์หรือเครื่องยนต์รถอีแต๋น นำสายพานมาต่อพ่วงเข้ากับ Turbine Pump เพื่อสูบน้ำเข้าพื้นที่ของตน อย่างไรก็ตามจากการดำเนินการแบบนี้ เกษตรกรสามารถใช้งานจริงได้กว่า 100 ไร่ ใช้งบประมาณ 340,000 บาทต่อแห่ง และสามารถดำเนินการก่อสร้างประมาณ 1,245 แห่งต่อปี

บิส โฟกัส : ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน
คุณสุวัฒน์ : กรมทรัพยากรน้ำบาดาลประสบปัญหาในเรื่องของการขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการเจาะบ่อบาดาล เนื่องจากในแต่ละปีมีเจ้าหน้าที่ที่เกษียณอายุราชการหลายท่าน ทำให้ขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์เป็นจำนวนมาก สำหรับการรับเจ้าหน้าที่ใหม่ก็มีปริมาณไม่เพียงพอและยังไม่มีความชำนาญมากนัก เนื่องจากงานขุดเจาะบ่อบาดาลจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี

อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีการดำเนินการแก้ไขด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งการขออนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อรถเจาะบ่อบาดาลใหม่ ที่มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อเข้ามาอำนวยความสะดวกและทดแทนจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เหลือน้อยลง นอกจากนี้ในอนาคตอาจจะต้องมีการแจ้งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ช่วยจัดสรรข้าราชการเข้ามาเสริมมากขึ้น

บิส โฟกัส : การปรับองค์กรให้สอดคล้องกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
คุณสุวัฒน์ : สำหรับการที่จะเปิด AEC อยากให้ทุกคนมองว่า โครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะต้องมีความพร้อมกับการแข่งขันและพร้อมที่จะให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ดังนั้นจึงอยากดำเนินการให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศสามารถเข้าถึงน้ำประปาบาดาลได้อย่างทั่วถึง  และเมื่อนักลงทุนต่างชาติเห็นว่าประเทศเราพร้อม ก็จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ น้ำเพื่อการเกษตร ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีปริมาณให้เพียงพอต่อการทำการเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อบ้านได้เป็นอย่างดี

Page Visitor

010672191
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
9101
5367
34889
18907
147900
10672191
Your IP: 18.119.139.50
2024-05-03 18:30
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.