Biz Focus Magazine เป็นนิตยสารรายเดือนที่ร่วมส่งเสริมนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
ทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างภาครัฐ - เอกชน และนักลงทุน
+(662) 399-1388
editor@bizfocusmagazine.com
“กรมทรัพยากรน้ำบาดาล” เดินหน้าแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
คุณสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับนโยบายและแผนการดำเนินงานปีนี้เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
บิส โฟกัส : นโยบายและแผนการดำเนินงานในปีนี้
คุณสุวัฒน์ : ในปีนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีหลากหลายโครงการที่ดำเนินการ ซึ่งได้รับงบประมาณประจำปีจำนวน 2,175 ล้านบาท โดยมีโครงการที่สำคัญและต้องเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เร่งด่วนจำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 2. โครงการสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ และ 3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง
บิส โฟกัส : รายละเอียดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
คุณสุวัฒน์ : โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 683 แห่ง เป็นการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อเชื่อมต่อกับระบบประปาเดิมที่แต่ละหมู่บ้านมีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะมีน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียงตลอดฤดูแล้ง โดยสามารถนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์
บิส โฟกัส : รายละเอียดโครงการสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนระบบน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ
คุณสุวัฒน์ : ปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงเรียนรวมทั้งหมดกว่า 38,000 โรงเรียน และมีโรงเรียนที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคกว่า 9,000 โรงเรียน ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งยังเหลืออีกประมาณ 6,000 แห่ง เพราะในแต่ละปีสามารถดำเนินการได้เพียง 700 แห่ง โดยจะมีการคัดเลือกโรงเรียนที่ขาดแคลนถึงขั้นวิกฤตเป็นลำดับแรก สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการจะอยู่ที่ 1,385,000 ล้านบาทต่อโรงเรียน
ทั้งนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาล และก่อสร้างระบบประปาบาดาล โดยติดตั้งหอถังเหล็ก 12 ลูกบาศก์เมตร ติดตั้งระบบควบคุมเครื่องสูบน้ำ ถังกรองสนิมเหล็ก และวางท่อเมนจ่ายน้ำ รวมทั้งก่อสร้างอาคารปรับปรุงคุณภาพน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก และติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำที่มีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 500 ลิตรต่อชั่วโมง
สำหรับโครงการนี้นอกจากเด็กนักเรียนจะได้รับประโยชน์จากการที่ได้น้ำประปาที่สะอาดอย่างเพียงพอแล้ว ยังเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนการจำหน่ายน้ำประปาสำหรับอุปโภคและบริโภคที่สะอาดให้กับคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาอีกทางหนึ่งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องน้ำบาดาลของคนในชุมชนอีกด้วย
บิส โฟกัส : รายละเอียดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง
คุณสุวัฒน์ : สำหรับน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร มีที่มาจากความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 321 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการทำการเกษตรประมาณ 132 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรที่อยู่ในเขตชลประทานเพียง 37 ล้านไร่ ส่วนอีก 95 ล้านไร่อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งจะต้องอาศัยจากน้ำฝนเพียงอย่างเดียว
ในขณะเดียวกันการขยายเขตชลประทานค่อนข้างทำได้ยาก เพราะจะต้องมีการเวนคืนที่ดินหรือสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อทิศทางการไหลของน้ำ รวมทั้งการที่จะสร้างเขื่อนเพิ่มก็จะมีแต่ผลกระทบหลายอย่าง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม งบประมาณที่ต้องสูญเสียเป็นจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างนาน เป็นต้น แต่การเจาะบ่อบาดาลสามารถดำเนินการได้ทันทีและแจกจ่ายน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว
บิส โฟกัส : รูปแบบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง
คุณสุวัฒน์ : โครงการนี้ ได้มีการแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบที่ 1 น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร จำนวน 100 ไร่ มีสมาชิกอย่างน้อย 10 ราย และอยู่ในเขตที่มีไฟฟ้าเข้าถึง โดยรูปแบบนี้จะดำเนินการเจาะบ่อบาดาล 2 บ่อ และติดเครื่องสูบแบบ Submersible Pump เพื่อที่จะสูบขึ้นมาพักไว้ที่ถังเก็บน้ำสูง 20 เมตร มีความจุ 30 คิว และมีท่อหลัก ขนาด 3-4 นิ้ว กระจายไปยังแปลงเกษตรกร ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ เกษตรกรสามารถใช้งานจริงได้สูงกว่า 200 ไร่ ใช้งบประมาณ 2,508,000 บาทต่อแห่ง และสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณ 40 แห่งต่อปี
ส่วนรูปแบบที่ 2 น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร จำนวน 40 ไร่ มีสมาชิก 4 ราย และในพื้นที่ที่ไม่มีกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการเจาะบ่อบาดาลและติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Turbine Pump เพียงเกษตรกรนำเครื่องยนต์อเนกประสงค์หรือเครื่องยนต์รถอีแต๋น นำสายพานมาต่อพ่วงเข้ากับ Turbine Pump เพื่อสูบน้ำเข้าพื้นที่ของตน อย่างไรก็ตามจากการดำเนินการแบบนี้ เกษตรกรสามารถใช้งานจริงได้กว่า 100 ไร่ ใช้งบประมาณ 340,000 บาทต่อแห่ง และสามารถดำเนินการก่อสร้างประมาณ 1,245 แห่งต่อปี
บิส โฟกัส : ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน
คุณสุวัฒน์ : กรมทรัพยากรน้ำบาดาลประสบปัญหาในเรื่องของการขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการเจาะบ่อบาดาล เนื่องจากในแต่ละปีมีเจ้าหน้าที่ที่เกษียณอายุราชการหลายท่าน ทำให้ขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์เป็นจำนวนมาก สำหรับการรับเจ้าหน้าที่ใหม่ก็มีปริมาณไม่เพียงพอและยังไม่มีความชำนาญมากนัก เนื่องจากงานขุดเจาะบ่อบาดาลจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี
อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีการดำเนินการแก้ไขด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งการขออนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อรถเจาะบ่อบาดาลใหม่ ที่มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อเข้ามาอำนวยความสะดวกและทดแทนจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เหลือน้อยลง นอกจากนี้ในอนาคตอาจจะต้องมีการแจ้งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ช่วยจัดสรรข้าราชการเข้ามาเสริมมากขึ้น
บิส โฟกัส : การปรับองค์กรให้สอดคล้องกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
คุณสุวัฒน์ : สำหรับการที่จะเปิด AEC อยากให้ทุกคนมองว่า โครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะต้องมีความพร้อมกับการแข่งขันและพร้อมที่จะให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ดังนั้นจึงอยากดำเนินการให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศสามารถเข้าถึงน้ำประปาบาดาลได้อย่างทั่วถึง และเมื่อนักลงทุนต่างชาติเห็นว่าประเทศเราพร้อม ก็จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ น้ำเพื่อการเกษตร ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีปริมาณให้เพียงพอต่อการทำการเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อบ้านได้เป็นอย่างดี
“ทีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง” รับบีโอไอ ผุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรใหม่ เสริมแกร่งธุรกิจ
บีโอไอหนุน “ทีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง” ทุ่ม 600 ลบ. สร้างโรงงานพร้อมติดตั้งเครื่องจักรใหม่ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมั้ยจากเยอรมนี เดินหน้าขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ Direct Export ชูโรงงานใหม่เป็น Food Safety มาตรฐาน BRC จากยุโรป
คุณธีรุตธ ทังเกษมวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง จํากัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ในเครือ ทั้งฮั่วซิน กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในโครงการขยายกิจการผลิตสิ่งพิมพ์และกล่องกระดาษ เช่น สิ่งพิมพ์จากพลาสติก สติ๊กเกอร์หรือกระดาษ ด้วยการพิมพ์ระบบออฟเซ็ท (Offset) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในอุตสาหกรรมการพิมพ์ จากประเทศเยอรมนีเข้ามาติดตั้ง กำลังการผลิตรวม 9,000 ตัน/ปี มูลค่าโครงการ 310 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 231 คน โดยโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนเหตุผลที่ต้องขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอเพราะบริษัทต้องการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการตลาด
สำหรับการได้รับการส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ บริษัทได้สร้างโรงงานใหม่พร้อมติดตั้งเครื่องจักร มูลค่าการลงทุน 600 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโรงงานดังกล่าวได้ก่อสร้างเสร็จและดำเนินการผลิตแล้ว โดยแบ่งเป็นค่าที่ดินและงานก่อสร้าง 300 ล้านบาท ค่าเครื่องจักร 300 ล้านบาท
“เนื่องจากโรงงานที่สร้างใหม่ของเรายังไม่ได้ลงเครื่องจักรครบ เราจะแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกเราลงเครื่องพิมพ์ 2 เครื่อง ใช้พื้นที่ประมาณ 40% แต่ว่าเรามีพื้นที่ที่สามารถรองรับได้ถึง 5 เครื่อง ส่วนเฟส 2 ที่จะต้องลงเครื่องจักรให้ครบ ตอนนี้ยังไม่มีแพลน เนื่องจากต้องดูสภาพเศรษฐกิจและก็ดูความต้องการของตลาดด้วย” คุณธีรุตธ กล่าว
คุณธีรุตธ กล่าวต่อว่า สำหรับสิทธิและประโยชน์ที่จะได้รับจากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนประกอบด้วย ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 7 ปี, ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร วัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากรได้แก่ อนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาเพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุน, อนุญาตให้นำช่างฝีมือและผู้ชำนาญการเข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน, อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน และอนุญาตให้ส่งออกซึ่งเงินตราต่างประเทศ
“ทีพีเอ็น แพคเกจจิ้งเราเปิดมาเมื่อปีที่แล้วตามที่ได้บีโอไอ มา โดยผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องที่พิมพ์ด้วยระบบออฟเซ็ท ซึ่งจะแตกต่างจากระบบอื่นคือ กล่องนี้จะอยู่บนชั้นวางสินค้าตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ปกติกล่องเราจะแยกเป็น 2 ประเภทคือ กล่องนอกกับกล่องใน กล่องนอกคือ กล่องสีน้ำตาลเฟล็กโซ ที่เป็นกล่องลัง ส่วนสินค้าของเราคือกล่องใน Display Box” คุณธีรุตธ กล่าว
คุณธีรุตธ กล่าวถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ว่า ปัจจุบันบริษัทมีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่แล้ว เนื่องจากธุรกิจผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่อง บริษัทดำเนินธุรกิจมากว่า 20 ปี โดยเป้าหมายคือ ลดการผลิตจากโรงงานเก่าและมาเพิ่มที่โรงงานใหม่ เพราะโรงงานใหม่ได้รับการลดหย่อนภาษีตามสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ ดังนั้นแผนการดำเดินธุรกิจในปีนี้จึงเน้นการหาลูกค้าเพิ่มจนกว่าจะเต็มกำลังการผลิตในปัจจุบัน หลังจากนั้นจึงค่อยขยายในส่วนของเฟส 2 ต่อไป
ด้านกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Indirect Exporting คือ ส่งออกโดยผ่านกลุ่มคนกลางทั้งในและต่างประเทศ 90% ส่วนกลุ่ม Direct Export หรือส่งออกโดยตรงน้อยมากแค่ 10% ดังนั้นกลุ่ม Direct Export จึงเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย และเหตุผลที่สร้างโรงงานใหม่เพื่อจะเพิ่มมาตรฐานให้เป็นสากลมากขึ้น อีกทั้งยังเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าดังกล่าวด้วย
ส่วนแผนธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คุณธีรุตธกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีการเทรนด้านภาษาให้กับพนักงาน รวมทั้งรับเซลล์ที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษ อีกทั้งมีการเปิดตลาดมากขึ้น จากที่โฟกัสในประเทศไทย ก็จะเริ่มหาลูกค้าจากต่างประเทศอีกด้วย
“เราลงทุนสร้างโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักรใหม่ และเพิ่มกำลังการผลิตก็เพื่อจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในด้าน Food Safety หรือมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งโรงงานเราจะสะอาดกว่าโรงงานทั่วไป และเครื่องจักรที่นำเข้ามาติดตั้งเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดในอุตสาหกรรมการพิมพ์ เราจึงต้องพยายามเชิญลูกค้าเข้ามาชมโรงงานใหม่ของเรา เพื่อให้ลูกค้าเห็นความแตกต่าง
จากที่เราลงทุนไป ตนคิดว่ามันเป็นการก้าวไปก่อนคนอื่น ที่สำคัญคือเราต้องการจะเปลี่ยนวิธีการผลิตใหม่ทั้งหมด โดยเน้นไปที่การผลิตด้วยระบบอัตโนมัติมากขึ้น ลดคอร์สให้น้อยลง เพิ่มมาตรฐาน เน้นความสะอาดและไปจนถึงการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน BRC (The British Retail Consortium) ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ของทางยุโรป
เนื่องจากโรงงานเราผลิตกล่อง แต่เป็นกล่องที่ไม่ได้สัมผัสอาหารโดยตรง ซึ่งปกติลูกค้าก็ไม่ได้ต้องการว่ากล่องของเราต้องมีมาตรฐาน BRC แต่เราก็จะทำให้ถึงขั้นนั้น เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งตรงนี้แม้ว่าคู่แข่งของเราก็สามารถทำได้ แต่คิดว่าคงไม่มีใครกล้าลงทุนมากขนาดนี้” คุณธีรุตธ กล่าว
คุณธีรุตธ กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร หรือ CSR ว่า เป็นเรื่องที่สำคัญมากอันดับต้นๆ ของการทำธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก โดยทีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง เป็นบริษัทและโรงพิมพ์แรกที่ได้รับมาตรฐาน FSC-CoC ซึ่งเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า โดยกระดาษที่บริษัทนำเข้ามาเป็นกระดาษที่ได้รับการรับรองว่าไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า
อนึ่ง บริษัท ทีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง จํากัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่อง ด้วยการพิมพ์ระบบออฟเซ็ท (Offset) เป็นบริษัทในเครือ ทั้งฮั่วซิน กรุ๊ป ที่มีประสบการณ์ด้านการพิมพ์กว่า 60 ปี ปัจจุบันบริษัทได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกการผลิตที่ออกมาจะต้องมีคุณภาพสูงสุด
โดยบริษัทในเครือ ทั้งฮั่วซิน กรุ๊ป แบ่งการผลิตออกเป็น 4 กลุ่ม 6 บริษัท เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าประกอบด้วย 1. บริษัท ทั้งฮั่วซิน จำกัด เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการผลิตฉลากบรรจุภัณฑ์ 2. บริษัท ทั้งฮั่วซิน พริ้นติ้ง เน็ทเวอร์ค จำกัดหรือ TPN เป็นบริษัทที่มีความชำนาญทางด้านการผลิตกล่องกระดาษ กระดาษลอนลูกฟูกและกระดาษแข็งลอนลูกฟูก 3. บริษัท ทีพีเอ็น เฟล็กซ์แพค จำกัดและบริษัท ทีพีเอ็น ฟู้ดแพค จำกัด เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนคุณภาพสูงในสินค้าประเภทอาหารและสินค้าบริโภค และ 4. บริษัท ทีพีเอ็น เมดดิคอล แพคเกจจิ้ง จำกัด ชำนาญทางด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์
CPanel รุกเพิ่มกำลังผลิตรับตลาดโต
CPanel ตั้งเป้ารายได้ปีนี้กว่า 400 ลบ. เร่งขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีกเท่าตัว ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำจุดเด่นเจ้าเดียวในประเทศไทยที่ Precast มีค่าคลาดเคลื่อนน้อย มีความสวยงาม แข็งแรง และร่นเวลาก่อสร้าง
คุณชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด หรือ CPanel ผู้ผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูปมาตรฐานสูง เปิดเผยว่า ในปี 2558 บริษัทตั้งเป้ารายได้ 300-400 ล้านบาท ซึ่งในช่วงต้นปีนี้ที่ผ่านมา บริษัทมี Backlog แล้วกว่า 100-200 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะสามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์ Precast ได้รับความนิยมให้เข้าไปทดแทนการก่อสร้างแบบเดิม (ก่ออิฐฉาบปูน) เพื่อเพิ่มความสะดวกและความรวดเร็วในการก่อสร้างมากขึ้น
โดยในปีนี้ บริษัทจะดำเนินการเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต และมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิต เพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตประมาณ 430,000 ตารางเมตรต่อปี และจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 860,000 ตารางเมตรต่อปีภายในปลายปีนี้ เพื่อให้บริษัทมีสินค้าที่เพียงพอสำหรับความต้องการใช้งานของกลุ่มลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ในการเพิ่มกำลังการผลิตนี้ หากเทียบขนาดโรงงานของเรากับโรงงานของต่างประเทศแล้ว จะถือว่าเรามีโรงงานที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งจะช่วยให้สินค้าของเราเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าที่เริ่มหันมาใช้ Precast มากขึ้น โดยการเพิ่มกำลังการผลิตนี้ เมื่อเปรียบเทียบแล้ว เราจะสามารถผลิต Precast สำหรับบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ได้ประมาณวันละ 10 หลัง และทาวน์โฮม ได้ประมาณวันละ 20 หลัง” คุณชาคริต กล่าว
ส่วนจุดแข็งของบริษัท คือเทคโนโลยี ซึ่งนับเป็นรายเดียวในประเทศที่ใช้หุ่นยนต์เป็นตัวนำในการผลิตคอนกรีต อาทิ เครื่องทอตะแกรงเหล็ก โดยออกแบบด้วยระบบ 3D และเครื่องจักรสามารถทำได้ตามแบบที่ได้กำหนดไว้ ในส่วนของการหล่อ บริษัทใช้หุ่นยนต์ในการหล่อคอนกรีตซึ่งมีขนาดที่ถูกต้อง มีค่าความคลาดเคลื่อนของ Precast เพียง 1.5 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าเป็นเพียงรายเดียวในประเทศไทยที่มีคลาดเคลื่อนน้อยได้ขนาดนี้
คุณชาคริต กล่าวต่อว่า ในปีนี้แนวโน้มของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะมีการหันมาใช้วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูป หรือ Precast มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถตอบโจทย์ต่อการเปลี่ยนแปลงงานก่อสร้างในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกัน บริษัทยังเชื่อมั่นว่าเทรนด์การใช้งานวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปในอนาคตจะมีแนวโน้มที่เติบโตมากขึ้นอย่างแน่นอน
ส่วนวิสัยทัศน์ในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปลายปีนี้ คุณชาคริตกล่าวว่า ตนมองว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศไทย ค่อนข้างจะได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะประเทศเพื่อนบ้านใช้มาตรฐานด้านวิศวกรรมจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่หากเปรียบเทียบผู้นำทั้งในอาเซียนแล้วจะประกอบไปด้วย ประเทศไทย, มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น และเมื่อพิจารณาจากเทคโนโลยีและโนว์ฮาวแล้วก็จะเหลือแค่ประเทศไทยและมาเลเซีย
อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังได้เปรียบในเรื่องของโลจิสติกส์ ซึ่งหากมาเลเซียจะจำหน่ายสินค้าให้กับเมียนมาร์หรือสปป.ลาว ก็จะต้องผ่านประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ปัจจัยบวกซึ่งจะเป็นผลดีต่อธุรกิจอุตสาหกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ คือจะมีนักธุรกิจจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสนใจลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมากขึ้น
คุณชาคริต กล่าวปิดท้ายถึงการตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่า บริษัทดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูป หรือ Precast สำหรับก่อสร้างอาคารและมีทีมงานที่มีศักยภาพในการดำเนินการทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นการออกแบบและการประกอบ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกค้ามีอาคารอยู่แล้ว บริษัทก็สามารถถอดแบบเป็น 3D และนำมาผลิตเป็น Precast ด้วยหุ่นยนต์ และนำไปประกอบหน้างานให้ด้วย เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย โดยลูกค้าจะได้บ้านที่มีความแข็งแรง รูปทรงสวยงาม และก่อสร้างเสร็จในระยะเวลาที่ไม่นาน รวมทั้ง Precast ที่บริษัทผลิตมีค่าความคลาดเคลื่อนน้อยมาก
จอห์นสัน คอนโทรลส์เดินแผนบุกตลาดเต็มพิกัด
จอห์นสัน คอนโทรลส์ตั้งเป้ายอดขายปีนี้เพิ่มอีก 15% วาง 3 กลยุทธ์ผลักดันสู่ความสำเร็จบวกรองรับการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตหลังผนึกฮิตาชิ แอพพลายแอนซ์เซส รุกตลาดเครื่องปรับอากาศ หนุนขึ้นแท่นผู้นำในตลาดโลก
คุณอุทัย โลหชิตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จอห์นสัน คอนโทรลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายเพิ่มจากปีที่ผ่านมาประมาณ 15% โดยผลประกอบการในช่วง 6 เดือนของปีนี้ (ตุลาคม 2557-มีนาคม 2558) ยอดขายเติบโตเพิ่มประมาณ 10% และผลกำไรเติบโต 30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2558 เพื่อผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผล ซึ่งบริษัทจะเน้นในส่วนธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1. การขยายฐานการตลาด โดยเพิ่มตัวแทนจำหน่ายสินค้าในส่วนเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กมากยิ่งขึ้น 2. การดำเนินการธุรกิจสาขาอย่างเข้มแข็ง 3. การขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประหยัดพลังงาน หรือ Energy Efficiency โดยมุ่งเน้นในส่วนเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ (Chiller) ทั้งในส่วนของโครงการใหม่ และกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีความต้องการเปลี่ยนระบบที่มีการใช้งานมานานแล้ว รวมทั้งการอัพเกรดเครื่องเดิมที่มีประสิทธิภาพน้อยลง
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทจะเข้าไปดำเนินการเปลี่ยนด้วยระบบ YMC² (YORK MAGNETIC BEARING CHILLER) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยและประสิทธิภาพดีที่สุดในโลก และจะช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี ล่าสุด บริษัทได้รับงานใหญ่ๆ หลายงานจากโรงพยาบาลระดับแนวหน้า อีกทั้งยังได้รับงานจากห้างสรรพสินค้าชั้นนำ อย่างเช่น กลุ่มเซ็นทรัล เป็นต้น
“เราตั้งเป้ายอดขายในปีนี้เพิ่มจากปีที่ผ่านมาค่อนข้างเยอะ หรืออาจกล่าวได้ว่าเพื่อชดเชยยอดขายในปี 2557 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 10-15% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง เรามีความมั่นใจว่าเป้ายอดขายดังกล่าวมีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน เพราะได้มีการกำหนดแผนกลยุทธ์การดำเนินงานที่ชัดเจนตามที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น
ในปีนี้เราให้น้ำหนักในการทำตลาดทั้ง 3 ส่วนเท่าๆ กัน แต่ตลาดที่เรามองว่ามีการเติบโตเร็วคือตลาดการปรับปรุงคุณภาพพลังงาน หรือ Energy Efficiency ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนเปลี่ยนเครื่องโดยใช้เงินลงทุน 100 บาท แต่สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ปีละ 30-40 บาท นั่นหมายความว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 3 ปี ซึ่งตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่มากสำหรับประเทศไทย มีเครื่องปรับอากาศหลากหลายยี่ห้อ และตลาดเริ่มขยับมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัจจุบันกระแสอนุรักษ์พลังงานกำลังมาแรง จึงเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนให้ธุรกิจนี้เติบโตมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของเราที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก” คุณอุทัย กล่าว
นอกจากนี้ แผนการการขยายฐานการตลาด โดยเพิ่มตัวแทนจำหน่ายสินค้าในส่วนเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจในอนาคตอีกด้วย เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา จอห์นสัน คอนโทรลส์และฮิตาชิ แอพพลายแอนซ์เซส ได้ร่วมลงนามเพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระดับโลก โดยจะนำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศอย่างเต็มรูปแบบ รวมไปถึงเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศ VRF (Variable Refrigerant Flow) เครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัย และเครื่องทำความเย็นแบบดูดซึมที่ใช้เทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ชั้นนำ เพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์ของจอห์นสัน คอนโทรลส์ที่มีอยู่เดิม ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกได้เป็นอย่างดี โดยจอห์นสัน คอนโทรลส์ถือหุ้น 60%
ทั้งนี้ บริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการเติบโตจากการร่วมลงทุนในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้จอห์นสัน คอนโทรลส์ ก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในโลกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ รวมทั้งจะมีสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดเพื่อนำเสนอให้แก่ลูกค้าคนไทยมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก รวมไปถึงเครื่องปรับอากาศขนาดกลาง เป็นต้น โดยจะเป็นการเสริมทัพสินค้าและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่บริษัทในระยะยาว
สำหรับจุดเด่นของบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้ามาตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจคือเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบริการและโซลูชั่นต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดต้นทุนการปฏิบัติงานในอาคาร หรือ Building Efficiency และเป็นผู้นำทางด้านการจำหน่ายอุปกรณ์ โดยมีความโดดเด่นในเรื่องของเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กซึ่งเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจำหน่ายภายใต้แบรนด์ York และเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีที่สูงที่สุด ซึ่งในปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำและมีมาร์เก็ตแชร์มากที่สุดในตลาด รวมไปถึงการเป็นผู้นำในระบบอัตโนมัติ (Building Automation System) อีกทั้งยังมีธุรกิจห้องเย็นขนาดใหญ่ อย่างเช่น ห้องทำความเย็นขนาดติดลบ 38 องศา สำหรับธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจอื่นๆ
“เรามีความชำนาญในธุรกิจที่ดำเนินการอยู่เป็นอย่างมากและมีธุรกิจที่หลากหลาย โดยสิ่งเหล่านี้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เรายังเน้นในเรื่องการบริการที่เป็นเลิศ เรามีสาขาจำหน่ายและบริการ 6-7 สาขาทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสาขาเชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่, พัทยา, ขอนแก่น และโคราช และจากการสำรวจพบว่าสิ่งที่ลูกค้าเลือกใช้บริการของเรา เหตุผลหลักๆ มี 3 ข้อ คือ 1. สินค้าที่มีคุณภาพ 2. การบริการที่ยอดเยี่ยม และ 3. เทคโนโลยีที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่ง 3 ข้อนี้ เป็นหัวใจหลักของเรา” คุณอุทัย กล่าว
“อิตัลไทย” ประกาศศักยภาพความสำเร็จ 6 ทศวรรษ
กลุ่มบริษัทอิตัลไทยครบรอบ 60 ปีแห่งคุณภาพ ทุ่มงบกว่า 11,000 ลบ. เสริมแกร่งองค์กรเติบโตอย่างมั่นคง ตั้งเป้าเห็นผลตั้งแต่ปีนี้ถึงปี 2562 ด้านอิตัลไทยอุตสาหกรรม เปิดตัวเครื่องจักรกลหนักวอลโว่รุ่นใหม่ EC300DL รุกตลาดนำเข้ารถขุดขนาด 30 ตัน ทุ่มงบ 9 ลบ. เปิดสาขา Italthai Center 2S เพิ่มอีก 3 สาขา เล็งเป้ารายได้ปีนี้ 4,500 ลบ.
คุณยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอิตัลไทย เปิดเผยว่า ในโอกาสฉลองครบรอบ 60 ปีการก่อตั้งกลุ่มบริษัทอิตัลไทย บริษัทมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเสริมสร้างองค์กรให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพื่อก้าวไปในอนาคตข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรง โดยจะเร่งเครื่องการเติบโตของธุรกิจ พร้อมทุ่มเงินอีก 11,000 ล้านบาท ลงทุนในส่วนของศูนย์บริการ สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ และโรงงาน ตลอดจนการบริการใหม่ๆ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพองค์กร ซึ่งทั้งหมดนี้บริษัทจะเดินหน้าทำให้เห็นผลตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2562
สำหรับธุรกิจของกลุ่มบริษัทอิตัลไทย มี 2 ประเภทธุรกิจในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน ซึ่งทั้ง 2 ประเภทธุรกิจนี้ ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ “กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและบริการด้านวิศวกรรม” ที่เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศและการพัฒนาประเทศไทย และ “กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมบริการและไลฟ์สไตล์” ที่เชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวของไทยซึ่งสามารถแข่งขันได้กับทั่วโลก โดยบริษัทจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจทั้งสองส่วนเท่าเทียมกัน
“กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและบริการด้านวิศวกรรม เรามีธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรกลและบริการหลังการขายที่แข็งแกร่ง โดยยอดขายของธุรกิจในส่วนนี้ปัจจุบันอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเราตั้งเป้าจะผลักดันให้เติบโตขึ้นเป็น 8,000 ล้านบาทภายในปี 2562 และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดขึ้นจาก 14% เป็น 20% โดยจะเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการให้บริการที่เป็นเลิศแก่ลูกค้าของเราซึ่งเป็นผู้รับเหมาชั้นนำของไทย
ส่วนธุรกิจบริการด้านวิศวกรรมของเรา ตั้งเป้าหมายผลักดันยอดขายให้เติบโตขึ้นจาก 3,200 ล้านบาท เป็น 7,600 ล้านบาทภายในเวลา 5 ปี โดยปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยผลักดันการเติบโตนี้ คือชื่อเสียงของธุรกิจวิศวกรรมของเรา ที่เราได้สร้างขึ้นในฐานะผู้รับเหมาระดับโลก ที่เชื่อถือได้และมีผลงานมาตรฐานสูงมากทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัย จากชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับดังกล่าว ทำให้เราสามารถยกระดับตัวเองขึ้นจากการเป็นผู้รับเหมาด้านวิศวกรรมที่ยอดเยี่ยม มาเป็นผู้รับเหมาที่ให้บริการแบบครบวงจร” คุณยุทธชัย กล่าว
คุณยุทธชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมบริการและไลฟ์สไตล์ ของกลุ่มบริษัทอิตัลไทย เป็นกลุ่มธุรกิจที่บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตแบบก้าวกระโดด ด้วยแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้จำนวนโรงแรมในเครือออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป ของกลุ่มอิตัลไทย เพิ่มขึ้นจาก 38 แห่งในปัจจุบัน เป็นมากกว่า 100 แห่ง ด้วยจำนวนห้องพัก 18,500 ห้อง ใน 10 ประเทศภายในระยะเวลา 5 ปี โดยในปี 2558 นี้ จะมีการเปิดโรงแรมใหม่ในประเทศมัลดีฟส์ มาเลเซีย ศรีลังกา และจีน
นอกจากนี้ เพื่อเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้สำหรับกลุ่มธุรกิจบริการและไลฟ์สไตล์กลุ่มบริษัทอิตัลไทยจะทุ่มงบลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท ในธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำยอดขายให้เติบโตขึ้นมากกว่า 2 เท่า ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า พร้อมกับตั้งเป้าหมายดันยอดขายให้เติบโตเพิ่มขึ้นจาก 5,700 ล้านบาทในปี 2557 ให้เป็น 10,200 ล้านบาทในปี 2562
ด้านบริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด ในกลุ่มบริษัทอิตัลไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรกลหนักแบรนด์ดังหลากหลายแบรนด์ทั่วโลกและให้บริการหลังการขาย อาทิ แบรนด์วอลโว่ (Volvo) ทาดาโน่ (Tadano) และเอสดีแอลจี (SDLG) ซึ่งล่าสุดได้รุกตลาดนำเข้ารถขุดขนาด 30 ตันโดยได้เปิดตัวเครื่องจักรกลหนักวอลโว่ รุ่น EC300DL อย่างเป็นทางการแล้วที่ผ่านมา
คุณชลิต ผดุงชีพ Senior Vice President บริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า เครื่องจักรกลหนักวอลโว่ รุ่น EC300DL ทรงประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองทุกหน้างานได้อย่างแท้จริงด้วยกำลังเครื่องยนต์ใหม่ที่ปรับแรงขึ้นถึง 11% ซึ่งวอลโว่ EC300DL มีชื่อเสียงในเรื่องความแข็งแรง ปลอดภัย และสะดวกสบาย พร้อมกันนี้ผู้ใช้ยังวางใจได้ในเรื่องคุณภาพเครื่องจักรกลและบริการหลังการขายได้อย่างไม่ต้องกังวลเนื่องจากมีศูนย์บริการทั่วประเทศ โดยกลุ่มลูกค้าหลักคืออุตสาหกรรมเหมือง รวมทั้งกลุ่มลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั่วไป
สำหรับสาขาบริการ หรือ Italthai Center ในปัจจุบันมีทั้งหมด 14 สาขา ประกอบด้วย
1. Italthai Center 3S Services – Sale (machine sale with stockyard machinery), Service (with technician team and workshop) and Spare parts (inclusive of parts warehouse) ซึ่งมีทั้งหมด 6 สาขา อาทิ จังหวัดขอนแก่น, อุบลราชธานี, ลำปาง, ชลบุรี, สมุทรสาคร และเวียงจันทน์ สปป.ลาว
2. Italthai Center 2S Services–Sale (machine and parts sales), Service (without workshop nor stockyard machinery) ขณะนี้มีทั้งหมด 8 สาขา อาทิ จังหวัดพิษณุโลก, นครราชสีมา, พระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, สุราษฎร์ธานี, สงขลา (หาดใหญ่), พังงา และปากเซ สปป.ลาว
ส่วนแผนการขยายสาขาในปีนี้ บริษัทจะเปิด Italthai Center 2S จำนวน 3 สาขา ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์, สุรินทร์ และสกลนคร โดยใช้งบในการดำเนินการสาขาละ 3 ล้านบาท รวมทั้งหมด 9 ล้านบาท ส่วนแผนในปี 2559 จะเปลี่ยนสาขาจาก Italthai Center 2S เป็น 3S ใช้งบในการดำเนินการ 25 ล้านบาท ในจังหวัดพิษณุโลกและจะเปิดสาขา Italthai Center 2S เพิ่มโดยใช้งบในการดำเนินการ 3 ล้านบาท ในจังหวัดจันทบุรี
ด้านแผนในปี 2560 มีแผนที่จะเปลี่ยนสาขาจาก Italthai Center 2S เป็น 3S ใช้งบในการดำเนินการ 25 ล้านบาท ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจะเปิดสาขา Italthai Center 2S เพิ่มโดยใช้งบในการดำเนินการ 3 ล้านบาท ในจังหวัดเชียงราย
นอกจากนี้ในปี 2561 มีแผนที่จะเปลี่ยนสาขาจาก Italthai Center 2S เป็น 3S ใช้งบในการดำเนินการ 25 ล้านบาท ในจังหวัดนครราชสีมา และจะเปิดสาขา Italthai Center 2S เพิ่ม โดยใช้งบในการดำเนินการ 3 ล้านบาท ในจังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้ในปี 2562 และจะเปิดสาขา Italthai Center 2S เพิ่มโดยใช้งบในการดำเนินการ 3 ล้านบาท ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์หรือจังหวัดเพชรบุรี
“หลักเกณฑ์ในการพิจารณาในการเปิดสาขา จะดูจากความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป็นหลักว่ามีความต้องการมากน้อยเพียงใด ซึ่งในเบื้องต้นจะเปิดแบบ Italthai Center 2S ก่อน ถ้าได้รับการตอบรับดีก็จะเปลี่ยนมาเป็น Italthai Center 3S ในอนาคต เพื่อตอบโจทย์การบริการให้ลูกค้าได้อย่างครบวงจรมากขึ้น
ในปี 2558 เราพยายามขยายสาขาให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและมีการจัดกิจกรรมโรดโชว์ตามสาขาเพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักมากยิ่งขึ้นว่ามีเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามานำเสนอให้พิจารณา และสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่า เรานำแต่สิ่งที่ดีมาให้ รวมทั้งพยายามมองหาลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติม แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้เช่นกัน” คุณชลิต กล่าว
สำหรับผลประกอบการในปี 2557 ที่ผ่านมาของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 3,800 ล้านบาท ส่วนในปี 2558 บริษัทตั้งเป้าผลประกอบการไว้ที่ประมาณ 4,500 ล้านบาท ด้านเป้าผลประกอบการที่ สปป.ลาวตั้งไว้ที่ประมาณ 300 ล้านบาท คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากบริษัทจะมีการเปิดสาขาเพิ่มรองรับการบริการของลูกค้า ประกอบกับในปัจจุบันมี Blacklog อยู่ประมาณ 200 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
คุณชลิต กล่าวต่อถึงจุดเด่นของบริษัทว่า จะเน้นด้านการบริการเป็นหลักและบริการแบบครบวงจรเพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่ดีที่สุดและรถที่ประหยัดน้ำมัน รวมทั้งมีความแข็งแรงทนทานสามารถเชื่อมั่นได้ว่าเมื่อซื้อรถจากบริษัทไปแล้ว ลูกค้าไม่ต้องกังวลเพราะบริษัทมีการบริการหลังการขายให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายมากที่สุดเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าเมื่อมาใช้บริการกับบริษัท
ด้านหลักการบริหาร จะเน้นเรื่องคนเป็นหลัก เนื่องจากมองว่าพนักงานที่มีประสบการณ์ในการดูแลลูกค้าจะสามารถรักษาลูกค้าเดิมไว้ได้ และจะหาลูกค้ารายใหม่เข้ามาด้วยได้เช่นกัน เพราะพนักงานเป็นด่านหน้าในการพบลูกค้า ดังนั้นจึงเน้นให้พนักงานมี Service Mind ที่ดี ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของงานบริการ
SEP สยายปีกธุรกิจเนรมิตเฟส 2
SEP ขยายพื้นที่นิคมอุตฯ เฟส 2 บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ภายใต้ชื่อโครงการ “สยาม กรีน ซีตี้ (Siam Green City)” เจาะกลุ่มลูกค้าชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เตรียมทุ่มงบกว่าหมื่นลบ. ผุดโครงการ “K CITY” บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ติดชายทะเลใกล้นิคมอุตสาหกรรมบางปู คาดว่าจะพร้อมให้บริการในปี 2563
คุณเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานบริหาร พัฒนาธุรกิจ บริษัท สยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค จำกัด หรือ SEP เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ว่า บริษัทได้ขยายพื้นที่นิคมอุสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค หรือ SEP เฟส 2 ซึ่งอยู่ใกล้กับโครงการ SEP เฟสแรก โดยตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่
สำหรับมูลค่าการลงทุน SEP เฟส 2 บริษัทใช้งบในการพัฒนากว่า 2,000 ล้านบาท และได้พัฒนาเป็นโครงการเขตประกอบการภายใต้ชื่อโครงการ “สยาม กรีน ซีตี้ (Siam Green City)” ซึ่งบริษัทได้เข้าพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติม โดยเฉพาะระบบบำบัดน้ำเสีย น้ำประปา เพื่อรองรับโรงงานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และได้มีการแบ่งสัดส่วนกลุ่มลูกค้าชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ประมาณ 90% และอีก 10% จะเป็นลูกค้ากลุ่มเม็ดพลาสติก ฟิล์มติดกระจก และอุตสาหกรรมก่อสร้าง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้บริหารที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงแรม ขนาดประมาณ 100 ห้อง, อพาร์ตเมนต์ ขนาด 100 ห้อง และคอนโดมิเนียมหรู โดยภายในโครงการจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน พร้อมสนามไดรฟ์กอล์ฟ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท
“โครงการนี้ยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI โดยได้รับสิทธิด้านภาษีอากร 8 ปี 100% และ 5 ปี 50% นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องของคุณภาพการผลิต ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้นักลงทุนยังนิยมเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตในไทยอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เราเห็นศักยภาพในการเติบโตที่จะมีการขยายตัวมากขึ้นในอนาคต” คุณเอกสิทธิ์ กล่าว
คุณเอกสิทธิ์ กล่าวต่อถึงโครงการในอนาคตว่า บริษัทเตรียมลงทุนพัฒนาที่ดินกว่า 300 ไร่ ติดชายทะเล ใกล้นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ภายใต้ชื่อโครงการ “K CITY” ภายในโครงการจะประกอบด้วย ท่าเรือเฟอร์รี่, โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว, คอนโดมิเนียม, สวนสนุกขนาดใหญ่, คอมมูนิตี้มอลล์, โรงเรียนพาณิชย์นาวี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการ100% ในปี 2563
สำหรับท่าเรือเฟอร์รี่จะให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวจากบางปู ไปยังพัทยาและหัวหิน นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางวิ่งวนจากบางปู-พัทยา-หัวหิน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมทัศนียภาพของทะเลในย่านนี้ โดยเรือเฟอร์รี่ดังกล่าวจะเป็นเรือขนาดใหญ่ สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 500 คน และบรรทุกรถยนต์ได้ราว 30 คัน ในเบื้องต้นจะใช้เรือ 3 ลำ มูลค่าการลงทุนลำละประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดว่าท่าเรือเฟอร์รี่จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2560
คุณเอกสิทธิ์ กล่าวปิดท้ายว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมนี้ให้มีความสมบูรณ์แบบและเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ดีที่สุด มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมและทำเลที่ตั้งที่สะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ และในปัจจุบันพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเขต 3 เหลือไม่มากนัก รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมนี้ยังเป็นนิคมฯ ที่ปลอดมลพิษอีกด้วย
ทีทีดับบลิวตอกย้ำความสำเร็จคว้ารางวัล “Thailand Top Company Awards 2015”
ทีทีดับบลิวโชว์ผลงานเยี่ยมรับรางวัล “Thailand Top Company Awards 2015” พร้อมเดินหน้าผุดโรงผลิตน้ำประปาแห่งใหม่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร มูลค่าการลงทุนประมาณ 3,000 ลบ.
คุณชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด(มหาชน) หรือ TTW ผู้ผลิตน้ำประปาภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้รับรางวัล “Thailand Top Company Awards 2015” ซึ่งจัดโดยนิตยสาร Business+ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อมอบรางวัลให้แก่บริษัทที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงสุดของประเทศ
สำหรับรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่มอบให้กับบริษัทที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมในแต่ละกลุ่มบริษัท โดยแบ่งตามประเภทการดำเนินธุรกิจ ซึ่งคัดเลือกจากบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 1,000 อันดับแรก โดยรางวัลที่ TTW ได้รับในครั้งนี้ จัดอยู่ในประเภท Energy & Natural Resource แสดงถึงความเป็นองค์กรธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงสุดของประเทศในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค ซึ่งปัจจุบัน TTW คือ “ผู้ผลิตน้ำประปาภาคเอกชนที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดของประเทศ” ให้บริการในพื้นที่สมุทรสาคร-นครปฐม และปทุมธานี-รังสิต
ด้านแผนการลงทุน เมื่อต้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้ก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปาแห่งใหม่ ในอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร มูลค่าการลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท คาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าโรงผลิตน้ำประปาแห่งใหม่จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถให้บริการน้ำประปาได้ตามความต้องการของผู้ใช้น้ำในจังหวัดสมุทรสาครอย่างเต็มที่
“โรงงานแห่งใหม่ของเราจะสามารถผลิตน้ำได้ 1 แสนคิวต่อวัน และยังสามารถขยายกำลังการผลิตน้ำประปาเพิ่มได้ตามความต้องการสูงสุดถึง 4 แสนคิวต่อวัน ซึ่งจะทำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำประปาอย่างเต็มพิกัด รวมทั้งสอดคล้องตามเป้าหมายที่เราได้ตั้งเอาไว้ คือ สะอาด เพียงพอ ต่อเนื่อง” คุณชัยวัฒน์ กล่าว
คุณชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการผลิต นับเป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยที่สุดเท่าที่มีในประเทศไทย คือเทคโนโลยีเมมเบรน (Membrane Technology) ประเภท Ultra Filtration เนื่องจากน้ำดิบที่อยู่ใกล้เขตชุมชนอาจด้อยคุณภาพและมีน้ำเสียมาเจือปน ดังนั้นจึงต้องมีตัวกรองที่ทำให้การผลิตน้ำประปาออกมาเป็นน้ำประปาที่มีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นแผนงานที่บริษัทได้เตรียมไว้รองรับการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจไทยในอนาคต
นอกจากนี้ จากการที่บริษัทไม่ได้หยุดการพัฒนาทั้งด้านองค์ความรู้และประสบการณ์ของทีมงาน ประกอบกับบริษัทมีสถานะทางการเงินที่มีความมั่นคงมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงได้รับการเชิญชวนจากประเทศเมียนมาร์ให้ไปลงทุนผลิตน้ำประปาในเมืองมะละแหม่ง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ซึ่งจะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ครั้งแรกที่บริษัทในประเทศไทยไปดำเนินการด้านสาธารณูปโภคผลิตน้ำประปาในประเทศเมียนมาร์
คุณชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ด้านเป้าผลประกอบการในปี 2558 ตั้งเป้าที่จะเติบโต 10% จากปี 2557 ที่มีผลประกอบการอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท และตั้งเป้ากำไรเกือบ 3,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ด้านหลักการบริหารจะให้ความสำคัญกับคุณค่าขององค์กรและต้องรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป ในขณะเดียวกันต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีเพื่อให้สามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารงาน เงิน และคน ซึ่งเป็นหัวใจในการบริหารจัดการโดยองค์รวมอย่างต่อเนื่องในการเติบโตขององค์กร