“ทีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง” รับบีโอไอ ผุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรใหม่ เสริมแกร่งธุรกิจ
บีโอไอหนุน “ทีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง” ทุ่ม 600 ลบ. สร้างโรงงานพร้อมติดตั้งเครื่องจักรใหม่ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมั้ยจากเยอรมนี เดินหน้าขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ Direct Export ชูโรงงานใหม่เป็น Food Safety มาตรฐาน BRC จากยุโรป
คุณธีรุตธ ทังเกษมวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง จํากัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ในเครือ ทั้งฮั่วซิน กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในโครงการขยายกิจการผลิตสิ่งพิมพ์และกล่องกระดาษ เช่น สิ่งพิมพ์จากพลาสติก สติ๊กเกอร์หรือกระดาษ ด้วยการพิมพ์ระบบออฟเซ็ท (Offset) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในอุตสาหกรรมการพิมพ์ จากประเทศเยอรมนีเข้ามาติดตั้ง กำลังการผลิตรวม 9,000 ตัน/ปี มูลค่าโครงการ 310 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 231 คน โดยโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนเหตุผลที่ต้องขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอเพราะบริษัทต้องการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการตลาด
สำหรับการได้รับการส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ บริษัทได้สร้างโรงงานใหม่พร้อมติดตั้งเครื่องจักร มูลค่าการลงทุน 600 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโรงงานดังกล่าวได้ก่อสร้างเสร็จและดำเนินการผลิตแล้ว โดยแบ่งเป็นค่าที่ดินและงานก่อสร้าง 300 ล้านบาท ค่าเครื่องจักร 300 ล้านบาท
“เนื่องจากโรงงานที่สร้างใหม่ของเรายังไม่ได้ลงเครื่องจักรครบ เราจะแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกเราลงเครื่องพิมพ์ 2 เครื่อง ใช้พื้นที่ประมาณ 40% แต่ว่าเรามีพื้นที่ที่สามารถรองรับได้ถึง 5 เครื่อง ส่วนเฟส 2 ที่จะต้องลงเครื่องจักรให้ครบ ตอนนี้ยังไม่มีแพลน เนื่องจากต้องดูสภาพเศรษฐกิจและก็ดูความต้องการของตลาดด้วย” คุณธีรุตธ กล่าว
คุณธีรุตธ กล่าวต่อว่า สำหรับสิทธิและประโยชน์ที่จะได้รับจากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนประกอบด้วย ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 7 ปี, ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร วัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากรได้แก่ อนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาเพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุน, อนุญาตให้นำช่างฝีมือและผู้ชำนาญการเข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน, อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน และอนุญาตให้ส่งออกซึ่งเงินตราต่างประเทศ
“ทีพีเอ็น แพคเกจจิ้งเราเปิดมาเมื่อปีที่แล้วตามที่ได้บีโอไอ มา โดยผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องที่พิมพ์ด้วยระบบออฟเซ็ท ซึ่งจะแตกต่างจากระบบอื่นคือ กล่องนี้จะอยู่บนชั้นวางสินค้าตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ปกติกล่องเราจะแยกเป็น 2 ประเภทคือ กล่องนอกกับกล่องใน กล่องนอกคือ กล่องสีน้ำตาลเฟล็กโซ ที่เป็นกล่องลัง ส่วนสินค้าของเราคือกล่องใน Display Box” คุณธีรุตธ กล่าว
คุณธีรุตธ กล่าวถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ว่า ปัจจุบันบริษัทมีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่แล้ว เนื่องจากธุรกิจผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่อง บริษัทดำเนินธุรกิจมากว่า 20 ปี โดยเป้าหมายคือ ลดการผลิตจากโรงงานเก่าและมาเพิ่มที่โรงงานใหม่ เพราะโรงงานใหม่ได้รับการลดหย่อนภาษีตามสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ ดังนั้นแผนการดำเดินธุรกิจในปีนี้จึงเน้นการหาลูกค้าเพิ่มจนกว่าจะเต็มกำลังการผลิตในปัจจุบัน หลังจากนั้นจึงค่อยขยายในส่วนของเฟส 2 ต่อไป
ด้านกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Indirect Exporting คือ ส่งออกโดยผ่านกลุ่มคนกลางทั้งในและต่างประเทศ 90% ส่วนกลุ่ม Direct Export หรือส่งออกโดยตรงน้อยมากแค่ 10% ดังนั้นกลุ่ม Direct Export จึงเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย และเหตุผลที่สร้างโรงงานใหม่เพื่อจะเพิ่มมาตรฐานให้เป็นสากลมากขึ้น อีกทั้งยังเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าดังกล่าวด้วย
ส่วนแผนธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คุณธีรุตธกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีการเทรนด้านภาษาให้กับพนักงาน รวมทั้งรับเซลล์ที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษ อีกทั้งมีการเปิดตลาดมากขึ้น จากที่โฟกัสในประเทศไทย ก็จะเริ่มหาลูกค้าจากต่างประเทศอีกด้วย
“เราลงทุนสร้างโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักรใหม่ และเพิ่มกำลังการผลิตก็เพื่อจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในด้าน Food Safety หรือมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งโรงงานเราจะสะอาดกว่าโรงงานทั่วไป และเครื่องจักรที่นำเข้ามาติดตั้งเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดในอุตสาหกรรมการพิมพ์ เราจึงต้องพยายามเชิญลูกค้าเข้ามาชมโรงงานใหม่ของเรา เพื่อให้ลูกค้าเห็นความแตกต่าง
จากที่เราลงทุนไป ตนคิดว่ามันเป็นการก้าวไปก่อนคนอื่น ที่สำคัญคือเราต้องการจะเปลี่ยนวิธีการผลิตใหม่ทั้งหมด โดยเน้นไปที่การผลิตด้วยระบบอัตโนมัติมากขึ้น ลดคอร์สให้น้อยลง เพิ่มมาตรฐาน เน้นความสะอาดและไปจนถึงการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน BRC (The British Retail Consortium) ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ของทางยุโรป
เนื่องจากโรงงานเราผลิตกล่อง แต่เป็นกล่องที่ไม่ได้สัมผัสอาหารโดยตรง ซึ่งปกติลูกค้าก็ไม่ได้ต้องการว่ากล่องของเราต้องมีมาตรฐาน BRC แต่เราก็จะทำให้ถึงขั้นนั้น เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งตรงนี้แม้ว่าคู่แข่งของเราก็สามารถทำได้ แต่คิดว่าคงไม่มีใครกล้าลงทุนมากขนาดนี้” คุณธีรุตธ กล่าว
คุณธีรุตธ กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร หรือ CSR ว่า เป็นเรื่องที่สำคัญมากอันดับต้นๆ ของการทำธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก โดยทีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง เป็นบริษัทและโรงพิมพ์แรกที่ได้รับมาตรฐาน FSC-CoC ซึ่งเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า โดยกระดาษที่บริษัทนำเข้ามาเป็นกระดาษที่ได้รับการรับรองว่าไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า
อนึ่ง บริษัท ทีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง จํากัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่อง ด้วยการพิมพ์ระบบออฟเซ็ท (Offset) เป็นบริษัทในเครือ ทั้งฮั่วซิน กรุ๊ป ที่มีประสบการณ์ด้านการพิมพ์กว่า 60 ปี ปัจจุบันบริษัทได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกการผลิตที่ออกมาจะต้องมีคุณภาพสูงสุด
โดยบริษัทในเครือ ทั้งฮั่วซิน กรุ๊ป แบ่งการผลิตออกเป็น 4 กลุ่ม 6 บริษัท เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าประกอบด้วย 1. บริษัท ทั้งฮั่วซิน จำกัด เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการผลิตฉลากบรรจุภัณฑ์ 2. บริษัท ทั้งฮั่วซิน พริ้นติ้ง เน็ทเวอร์ค จำกัดหรือ TPN เป็นบริษัทที่มีความชำนาญทางด้านการผลิตกล่องกระดาษ กระดาษลอนลูกฟูกและกระดาษแข็งลอนลูกฟูก 3. บริษัท ทีพีเอ็น เฟล็กซ์แพค จำกัดและบริษัท ทีพีเอ็น ฟู้ดแพค จำกัด เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนคุณภาพสูงในสินค้าประเภทอาหารและสินค้าบริโภค และ 4. บริษัท ทีพีเอ็น เมดดิคอล แพคเกจจิ้ง จำกัด ชำนาญทางด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์