มทส. ประกาศศักยภาพ 33 ปี ย้ำความสำเร็จ พร้อมมุ่งสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เดินหน้า 5 ยุทธศาสตร์ ก้าวเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและความยั่งยืน พร้อมสะท้อนความสำเร็จ 33 ปี จากความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการ งานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการได้รับการจัดอันดับด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ดร.มัลลิกา สังข์สนิท รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ นวัตกรรม และความเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. กล่าวว่า มทส. เป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกสถาปนาจัดตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2533 โดยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีระบบบริหารงานที่แตกต่างจากระบบราชการ หรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วยความมุ่งจัดการเรียนการสอน การวิจัย และผลิตบุคลากรขั้นสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งมีระบบแนวคิดแบบ “รวมบริการ ประสานภารกิจ” เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ใช้ทรัพยากรทุกประเภทให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็น บุคลากร ห้องเรียนห้องปฏิบัติการ สื่อการเรียนการสอน รวมถึงการถ่ายโอนงานให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมดำเนินการในบางกิจกรรมด้วย
สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย มีทั้งสิ้น 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. การพัฒนาคนและผู้ประกอบการในอนาคต (Developing Manpower for the Future & Future Entrepreneurs) 2. การวิจัยและพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Research & Development) 3. การสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการที่มีผลกระทบสูง (Impactful Innovation & Entrepreneurship) 4. การพัฒนาความเป็นสากล และการสร้างความผูกพันกับชุมชน (Internationalization & Local Engagement) และ 5. การพัฒนาความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติงาน (Operational Excellence)
ทั้งนี้ ในโอกาสครบรอบ 33 ปี ถือว่า มทส. มีความแข็งแกร่งทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ งานวิจัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากเป้าหมายความสำเร็จ ทั้งการได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย Times Higher Education (THE) World University Rankings & Impact Rankings ในปี ค.ศ. 2023 มทส. ยังคงรักษาอันดับ 6 ของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก และอยู่ในอันดับ 10 ร่วมของประเทศ จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งขยับขึ้นจากอันดับที่ 15 ของปีที่ผ่านมา
รวมถึงผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษา/ศิษย์เก่า ในเรื่องอัตราการได้งานทำและประกอบอาชีพอิสระของบัณฑิตอยู่ที่ 80-85% ดีกว่าในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ที่ไม่ถึง 70% และในแง่ของความสามารถในการหารายได้ตามภารกิจเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านงบประมาณ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งดำเนินงานตามนโยบาย SUT 2025 มทส. มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,061 ล้านบาท หรือมากกว่า 24% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน และในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ถึงไตรมาสที่ 3 มีรายได้ตามภารกิจ 1,095 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ทั้งปี นอกจากนี้ ยังสามารถพิจารณาได้จากผลการดำเนินงานตามกรอบการประเมินตัวชี้วัด SUT Scorecard 16 ตัวชี้วัด พบว่า มี 11 ตัวชี้วัด ที่บรรลุตามเป้าหมายหรือเกินกว่าเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อีกด้วย