นิคมอุตฯ บางพลี เปิดแผนการดำเนินงานปี 57
คุณณรงค์ เล็กประเสริฐ นักบัญชี 8 ทำการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางพลี ให้สัมภาษณ์พิเศษนิตยสารบิส โฟกัส เกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานในปีนี้ จุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรม พร้อมประเด็นอื่นๆ ดังนี้
คุณณรงค์ เล็กประเสริฐ นักบัญชี 8 ทำการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางพลี
บิส โฟกัส : ทิศทางการดำเนินงานในปีนี้
คุณณรงค์ : การบริหารงานของนิคมอุตสาหกรรมบางพลีจะคล้ายคลึงกับหน่วยงานราชการ เนื่องจากจะต้องดำเนินตามนโยบายของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ กนอ. ซึ่งในปัจจุบันทางกนอ. ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการในระยะ 3 ปีข้างหน้า (2557-2559) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่กำหนด
โดยประกอบด้วย Green Strategy คือการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายใต้หลักเกณฑ์ 5 มิติ 22 ด้าน ตามนโยบายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
Growth Strategy คือการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับความเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐในการบริหารจัดการและพัฒนาอุตสาหกรรมออกไปสู่ภูมิภาค เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายคือ Great Strategy เป็นการยกระดับการให้บริการ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้
บิส โฟกัส : กลยุทธ์ที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืน
คุณณรงค์ : ตนมองว่าการผลักดันผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และบุคลากร ให้ดำเนินการควบคู่ไปกับแนวนโยบายของ กนอ.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งได้ดำเนินการร่างแผนยุทธศาสตร์และแผนงานปฏิบัติ โดยผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการภายใต้นโยบายและกรอบของกฎหมายที่กำหนด
นอกจากนี้ในปัจจุบัน กนอ.กำลังเข้าสู่ช่วงการปรับภาพลักษณ์ให้เปลี่ยนจากนิคมอุตสาหกรรมแบบเดิม ให้เป็นเมืองนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งดำเนินการภายใต้หลักการซิมไบโอซิส (Symbiosis)คือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยการพึ่งพาอาศัยกันอย่างยั่งยืน ซึ่งทางนิคมอุตสาหกรรมบางพลีได้นำวิธีและกระบวนการมาปรับใช้ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 2 โดยในปีแรกอยู่ระหว่างการร่างแผนแม่บทในการดำเนินการ และทางนิคมอุตสาหกรรมบางพลีมีแผนที่ดำเนินการพัฒนาในระดับ Champion, Excellency และ World Class ต่อไปในอนาคต
บิส โฟกัส : จุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรมบางพลี
คุณณรงค์ : นิคมอุตสาหกรรมบางพลีเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดำเนินการเอง โดยมีพื้นที่โครงการทั้งหมด 1,004 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 796 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 796 ไร่ และสำนักงาน 14 ไร่ โดยมีโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคม 130 โรงงาน โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนชาวไทยในสัดส่วน 39% รองมาได้แก่นักลงทุนญี่ปุ่น 30% สหรัฐอเมริกา 12% ไต้หวัน 2% และอื่นๆ 17% มูลค่าเงินลงทุน 54,728 ล้านบาท
สำหรับจุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรมบางพลีคือทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิและที่สำคัญคือน้ำไม่ท่วม เนื่องจากตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดี สามารถมั่นใจได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมเมืองสมุทรปราการถึงแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่ผ่านมา โดยทางจังหวัดได้มีการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดี มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ หากน้ำมาทางด้านคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จะถูกระบายไปทางฉะเชิงเทรา หากน้ำมาทางแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะมีคลองระบาย เช่น คลองแสนแสบ คลองพระโขนง และคลองสำโรง เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงคลองระบายน้ำของสนามบินสุวรรณภูมิที่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้โดยตรง
อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมหลักที่สำคัญอย่างเช่น ถนนบางตราด ถนนกาญจนาภิเษก (มอเตอร์เวย์) ซึ่งง่ายต่อระบบโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่ช่วยกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้ามายังนิคมอุตสาหกรรมบางพลีได้เป็นอย่างดีอีกด้วย นอกจากนี้จุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการบริหารที่โปร่งใส โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานได้ทุกขั้นตอน
บิส โฟกัส : สิ่งที่อยากจะฝากถึงผู้ประกอบการที่ตั้งอยู่ในนิคมฯ
คุณณรงค์ : อยากให้ผู้ประกอบการทำตามกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการร้องเรียนในเรื่องของผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน รวมทั้งการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่เพียงมุ่งหวังเพียงแต่ผลกำไร แต่จะต้องมีการช่วยเหลือชุมชนใกล้เคียงให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนเพราะพนักงานส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับนิคมฯ ซึ่งที่ผ่านมาทางนิคมฯ ได้ร่วมกับผู้ประกอบการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชนเป็นประจำทุกปี เช่น กิจกรรมวันเด็ก การทอดผ้าป่า การทอดกฐิน เป็นต้น
บิส โฟกัส : การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ AEC
คุณณรงค์ : ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจต่างๆ ก็เชื่อมโยงกับเออีซี และบางธุรกิจก็เป็นเออีซีไปแล้ว ซึ่งตนมองว่าการเตรียมความพร้อมจะต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยการดำเนินธุรกิจต่างๆ ได้มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเมื่อเข้าสู่เ AEC ไม่ใช่จะเปลี่ยนไปหมดทุกอย่างแต่ธุรกิจก็ยังคงดำเนินอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่จะต้องมีการพัฒนาให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถรับมือในการแข่งขันของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บิส โฟกัส : อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนด้านใด
คุณณรงค์ :ในอนาคตตนอยากเห็นการพัฒนาประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่ผ่านมา โดยสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือนโยบายของรัฐบาล ที่จะต้องดำเนินการให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลและพัฒนาไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการคือการออกกฎหมายเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการและโรงงานมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองแรงงานมากขึ้นเพื่อให้สิ่งแวดล้อมสามารถพัฒนาได้ไปพร้อมกับอุตสาหกรรม และพนักงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น