เปิดวิสัยทัศน์ประธาน ส.อ.ท. เร่งสร้างความเป็นเอกภาพ - เสริมแกร่ง SMEs
คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ นิตยสารบิส โฟกัส โดยมุ่งสร้างความเป็นเอกภาพของสภาอุตสาหกรรมฯ การันตีความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิก พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบ SMEs เต็มพิกัด เน้นหาตลาดใหม่บวกลดต้นทุนธุรกิจ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ดังนี้
คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
บิส โฟกัส : วิสัยทัศน์ในการบริหารงาน
คุณสุพันธุ์ : สิ่งแรกที่จะต้องเร่งดำเนินการคือการสร้างความเป็นเอกภาพของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิกรวมทั้งการปรับปรุงระบบการบริหารเพื่อสนับสนุนสมาชิกให้ได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมุ่งเน้นการช่วยเหลือสมาชิกโดยเฉพาะสมาชิกในกลุ่ม SMEs เพราะที่ผ่านมาได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและความเชื่อมั่นลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจุดนี้เราพยายามที่จะปรับองค์กรเพื่อเข้าไปช่วยและส่งเสริมสมาชิกให้กลับมาเข้มแข็งดังเดิม
ที่ผ่านมาเราได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่ม SMEs มาโดยตลอด เช่น การสนับสนุนในเรื่องการหาแหล่งเงินทุนสำรองให้กับ SMEs เพิ่มมากขึ้นในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟแนนซ์ที่คุยกับทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือการพูดคุยกับสมาคมธนาคารไทยเพื่อจะช่วยผลักดันให้เกิดความรวดเร็ว คล่องตัวและง่ายยิ่งขึ้น เป็นต้น
สำหรับในปีนี้เราจะเน้น 2 เรื่องหลัก ซึ่งประกอบด้วย 1.การหาตลาดเพิ่ม และ 2.การลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ โดยในส่วนของการหาตลาดเพิ่ม ขณะนี้เรามีสายงานการค้าชายแดนและจะให้การค้าชายแดนผลักดันให้ SMEs มีโอกาสขายสินค้าได้มากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เราพยายามผลักดันคือ E-Marketplace (ตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์) เรากำลังจะนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ที่จะทำให้สมาชิกของเราสามารถที่จะค้าขายบน E-Commerce ได้ ซึ่งเป็นธุรกิจออนไลน์ที่จะเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลกเราอาจจะขอความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมให้ช่วยส่งเสริมและจัดหางบประมาณในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว
นอกจากนี้เรากำลังจะผลักดันร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องของการจัด Outlet ในอีกสองสามเดือนข้างหน้าเพื่อจัดงาน Factory Outlet ของสภาอุตสาหกรรมฯ …โดยตรง ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในราคาถูก โดยจะทำให้สมาชิกของเราสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น ทั้งนี้หากประสบผลสำเร็จ ในอนาคตเรามีแผนจะเดินหน้ากระตุ้นการบริโภคในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย
ส่วนในด้านการลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเราจะประสานไปยังหลายๆหน่วยงานเพื่อจัดสัมมนา เสวนา เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อให้ SMEs สามารถนำความรู้ไปเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหรือลดต้นทุนได้ รวมทั้งการประสานงานในด้านการจัดหางบประมาณสำหรับจัดการอบรมอีกด้วย
บิส โฟกัส : แผนยุทธศาสตร์เพื่อจะเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 42 กลุ่มอุตสาหกรรม
คุณสุพันธุ์ : ยังคงเป็นยุทธศาสตร์เดิมที่ตนได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยประกอบด้วย 1.สร้างความเป็นเอกภาพของสภาชิก ส.อ.ท. 2. เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่ดี 3. ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำและศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมของภูมิภาคอาเซียน (AEC Regional Industrial Hub) และ 4. พัฒนาบุคลากรและปรับโครงสร้าง ส.อ.ท. ให้เข้มแข็ง
ทั้งนี้เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์บรรลุผลตามแนวทางที่กำหนดไว้ ตนมีแนวคิดว่าจะเชิญผู้บริหารของสภาอุตสาหกรรมฯ ทั้งหมดมาสัมมนาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ข้อเพื่อมาตกผลึกและนำมาขยายผลว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดผลซึ่งหลังจากการตกผลึกแล้วอาจจะมีมากขึ้นหรืออาจจะมีอะไรที่กระจาย ขยายหรือแตกแขนงออกมา ซึ่งเราจะมาเตรียมทีมทำงานเพื่อให้เกิดผลตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้
บิส โฟกัส : ในแผนยุทธศาสตร์หัวข้อการเป็นบริษัทธรรมาภิบาลที่ดีจะเกี่ยวโยงไปถึงเรื่อง CSR อย่างไร
คุณสุพันธุ์ : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการจัดกิจกรรม CSR มาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แต่อาจยังไม่ได้มีโปรเจคที่ชัดเจน ดังนั้นในปีนี้เราได้ตั้งสายงาน CSR ขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยมีประธานสายงานดูแลเรื่องงาน CSR ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำกิจกรรม CSR ที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนว่าโครงการนี้ดำเนินโดยสภาอุตสาหกรรมฯ
ส่วนในเรื่องของธรรมาภิบาล เราเน้นเสมอในเรื่องของความโปร่งใส และจากการที่เราไปร่วมกับองค์การที่ต่อต้านคอร์รัปชั่นซึ่งเราเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดนั้น เราพยายามที่จะสนับสนุน ผลักดันในกรอบของกลุ่มต่อต้านคอรัปชั่นที่ตั้งขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วงสภาวะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาบริหารประเทศในขณะนี้ โดยอยากเป็นต้นแบบของประเทศที่ไร้การคอร์รัปชั่นหรือมีคอรัปชั่นที่น้อยที่สุด ซึ่ง คสช.ต้องเริ่มเป็นตัวอย่างและตีกรอบการทำงานร่วมกัน
บิส โฟกัส : อุตสาหกรรมดาวเด่นปีนี้
คุณคุณสุพันธุ์ : ตนมองว่ามีหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างเช่น ยานยนต์ หรือ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นดาวเด่นในด้านการส่งออก โดยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่การเติบโตในประเทศ คาดว่ายังชะลอตัวแต่ตนเชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า เนื่องมาจากเม็ดเงินลงทุนของเมกะโปรเจคต่าง ๆ ที่ทยอยออกมา และจากการยอมรับของนักลงทุนและนานาประเทศ
ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร ปัจจุบันได้รับการตอบรับจากนานาประเทศเป็นอย่างดี และมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ SMEs จนถึงบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำจะได้รับผลประโยชน์กันถ้วนหน้าถึงแม้ว่าวอลลุ่มอาจจะไม่ได้มาก แต่มีผลกระทบกับผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจเป็นอย่างมาก และเราโชคดีที่อุตสาหกรรมอาหารของเราแข็งแรงโดยสามารถสร้างตลาดใหม่ให้เพิ่มมากขึ้นได้
บิส โฟกัส : การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC
คุณสุพันธุ์ : เราค่อนข้างจะได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม AECทั้งหมด เราเป็นศูนย์กลางในด้านสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน เท่านั้นยังไม่พอ เรายังมีโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศในกลุ่ม AECทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีความพร้อมที่จะรองรับการลงทุน เรามีฐานประชากรอยู่ในระดับที่พอสมควร เรามีวัตถุดิบที่มีมากอย่างเพียงพอ ประกอบกับขณะนี้ประเทศที่อยู่ใกล้ๆ เรายังขาดในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งเราสามารถเชื่อมต่อประเทศเหล่านี้ได้และทำเราให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
สำหรับการเข้ามาของ AEC ตนมองว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ ส่วนเรื่องของความพร้อมก็จะคล้ายกับที่ทุกๆ คนมองในแต่ละด้าน โดยความพร้อมของเราคือต้องพร้อมในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเรียนรู้เทคโนโลยี เรียนรู้ภาษา การปรับปรุงนวัตกรรมใหม่ๆ ของอุตสาหกรรม ตนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ อุตสาหกรรมไทยเราค่อนข้างปรับตัวได้เร็ว เพราะทุกวันนี้เราจะเห็นคำว่า “Made in Thailand” ได้รับการยอมรับในต่างประเทศได้มากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ประเทศของเราจะต้องพัฒนาในด้านการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแทนการใช้แรงงานคนและจะต้องปรับให้ได้ เพราะถ้าจะสู้กันในเรื่องแรงงานเราคงสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ แต่ถ้าในรูปแบบของความสามารถ, นวัตกรรม,การจัดการ หรือมาร์เก็ตติ้ง ตนคิดว่าเรายังเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านอีกมาก รวมทั้ง จากการที่บริษัทใหญ่ๆ ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน โดยสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรามีโอกาสขึ้นเป็นผู้นำในตลาดอาเซียนในอนาคต ดังนั้นการส่งเสริมต่างๆ จากภาครัฐควรจะมาส่งเสริมในเรื่องของนวัตกรรม การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้การขยายตัวของตลาดทุนก็สำคัญ ปัจจุบันตลาดทุนของเราแข็งแรงพอสมควร แต่ถ้าตลาดทุนของเราได้รับการยอมรับมากกว่านี้จะทำให้เม็ดเงินก็ไหลจะเข้ามาในบริษัทต่างๆ ไหลเข้ามาในบริษัทหลักทรัพย์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ค่อยๆ พัฒนายกระดับเป็นธุรกิจระดับกลางและค่อยๆผันตัวเองเข้าไปสู่บริษัทจดทะเบียนมากขึ้น โดยจะทำให้เกิดความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นและย่อมจะส่งผลดีเศรษฐกิจโดยรวม
บิส โฟกัส : สิ่งที่อยากจะให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน
คุณสุพันธุ์ : อยากให้สนับสนุนในเรื่องการทำงานร่วมกัน เพราะปัจจุบันดูเหมือนว่าภาครัฐคิด เราคิด ต่างคนต่างทำ หรือทำซ้ำกัน ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ในเมื่อรัฐมีงบประมาณอยู่แล้ว งบประมาณก้อนนี้ภาครัฐจะทำอะไรบ้าง เราควรมานั่งคุยกัน อย่างเช่นมีงบประมาณจะพัฒนา SMEs จำนวน 50,000 ล้านบาท เราจะทำอย่างไร จะทำงานร่วมกันอย่างไร เพราะ SMEs ที่กำลังพูดถึงคือภาคเอกชน ไม่ใช่พนักงานของรัฐ โดยจะต้องมีการคุยกันตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไม่ใช่ว่าภาครัฐดำเนินการไปแล้วแต่เราต้องมาเริ่มทำตั้งแต่เริ่มต้นใหม่
บิส โฟกัส : ปัญหาที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ไขเป็นอันดับต้นๆ
คุณสุพันธุ์ : ปัจจุบันภาคเอกชนช่วยตัวเองได้ระดับหนึ่ง ส่วนกฎระเบียบกลไกของภาครัฐที่ออกมาทั้งหมดที่คิดว่าจะกระทบกับภาคเอกชน ควรจะให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกความเห็นและรับฟัง โดยเฉพาะกฎระเบียบที่เป็นเรื่องของประชานิยมแต่ใช้เงินของภาคเอกชนไปสนับสนุน อย่างเช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น เพราะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ซึ่งตนคิดว่าควรเป็นกลไกของ Demand Supply หรือถ้ามีกลไกของไตรภาคีก็ว่ากันไปตามกฎหมายในแต่ละจุด
บิส โฟกัส : อยากจะให้ฝากถึงผู้ประกอบการในด้านความเชื่อมั่นในการบริหารงาน
คุณสุพันธุ์ : ตนอยากจะให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการทุกคนว่า เมื่อมียุทธศาสตร์ออกมาแล้ว ตนจะพยายามดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ ณ วันนี้ ธงของสภาอุตสาหกรรมฯ คือธงของการช่วยเหลือสมาชิก เราพยายามทำให้สมาชิกแข็งแรง ตนพยายามตั้งโจทย์ว่า สมาชิกของเราดีขึ้นหรือร่ำรวยมากขึ้นหรือไม่ ต่อจากนั้นจะเข้าไปดูรายได้ของสมาชิกทั้งหมด ว่ามีรายได้เท่าใดในแต่ละปีมีกำไรเท่าใด ทั้งนี้ตนจะมีความภูมิใจเป็นอย่างมากถ้าในอีกปีสองปีข้างหน้า สมาชิกของเรารวยขึ้น รายได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นความสำเร็จของเราและสามารถตอบโจทย์ที่วางไว้ได้