“ปรนนท์” ปูพรมยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตฯ ซอฟท์แวร์และไอที
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศ (กลุ่มอุตสาหกรรมไอที) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กางแผนการดำเนินงานระยะสั้น กลาง ยาว มุ่งพัฒนาซอฟท์แวร์ และไอทีไทยให้มีศักยภาพสู่การแข่งขันในเวทีโลกอย่างมั่นคงและรับตลาด AEC ปี 2558 เต็มพิกัด พร้อมฝากถึงภาครัฐให้เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างจริงจังในทุกๆ ด้าน
คุณปรนนท์ ฐิตะวรรโณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไอที เปิดเผยว่า นโยบายหลักและแผนการดำเนินงานในปี 2557 เพื่อพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมไอทีให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศในอนาคตประกอบด้วย 1) เร่งผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนตลาดของซอฟท์แวร์ในปัจจุบัน 2) มุ่งให้สมาชิกในกลุ่มมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการใช้ระบบซอฟท์แวร์ให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มต่างๆ ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศและพร้อมเตรียมตัวรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558
3) กลุ่มอุตสาหกรรมไอทีมีนโยบายให้ความรู้ ความสำคัญและผลักดันมาตรฐาน ISO 92110 ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (Software Industry Promotion Agency) หรือ SIPA ในปัจจุบันเพื่อให้กลุ่มสมาชิกมุ่งพัฒนาตั้งแต่มาตรฐาน TQS ไปจนถึงมาตรฐาน ISO 92110 ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มผู้ผลิตซอฟท์แวร์และเพื่อเป็นมาตรฐานหลักของธุรกิจซอฟท์แวร์ในระดับ SMEs 4) เดินหน้าผลักดันให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีให้มากยิ่งขึ้น โดยให้หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องเล็งเห็นและให้ความสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ไปสู่ ตลาดต่างประเทศได้
5) ให้ความสำคัญเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์และคอนเทนท์ต่างๆ ของผู้ประกอบการไทย 6) เปิดโอกาสให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไอที เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์และไอที โดยสามารถสะท้อนความต้องการของสมาชิกได้มากขึ้นในหลายมิติและหลายมุมมองเกี่ยวกับด้าน ICT 7) เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อความรู้ในมุมมองด้านต่างๆ ทั้งระบบมาตรฐานการผลิต การขาย และการตลาดให้กับผู้ประกอบการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
คุณปรนนท์ ฐิตะวรรโณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไอที
ส่วนแผนปฏิบัติการและโครงการที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีระยะสั้น ทางกลุ่มได้ทำเรื่องการเปลี่ยนชื่อเพื่อให้ครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซอฟท์แวร์ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมไอที เพื่อเปิดกว้างให้สมาชิกมีโอกาสร่วมกันระดมความคิดเห็นในการหาแนวทางพัฒนาและส่งเสริมร่วมกันต่อไปในอนาคต ในหลายแง่หลายมุม
โดยปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (Software Industry Promotion Agency) หรือ SIPA อย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาบุคลากรในด้านซอฟท์แวร์ให้มีความรู้ ความสามารถที่จะพัฒนา ISO 92110 ให้เป็นที่รู้จักและเป็นมาตรฐานสำคัญของซอฟท์แวร์
สำหรับแผนในระยะกลางคือจะมีแนวทางในการคัดเลือก คัดสรรสมาชิกที่มีศักยภาพในการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อผลักดันร่วมกับ SIPA ให้เป็นตัวอย่างผู้นำความสำเร็จต่อผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งจะนำเสนอผ่านงาน Software Expo Asia 2014 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และในอนาคตมีการวางแผนเพื่อประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น SIPA, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวง ICT, BOI และหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ผลิตซอฟท์แวร์และไอทีของไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในมุมมองของผู้ผลิตและส่งออก รวมทั้งซอฟท์แวร์ต่างๆ ที่มีโอกาสส่งออกไปขายแข่งขันกับต่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
ส่วนงานแฟร์ที่จะจัดในปีหน้าอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะจัดงานเป็นของกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีเองร่วมกับต้นสังกัดคือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยการรวมกลุ่มของธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับซอฟท์แวร์และไอทีมากกว่าที่จะเป็นงานจำหน่ายสินค้าเพียงอย่างเดียว เพื่อต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ มีการโชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้จริงๆ แต่อาจจะมีการจำหน่ายสินค้าบ้างเล็กน้อย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้เร็วที่สุดในช่วงปี 2558
“ขณะนี้ เราอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินงานออกมาในรูปแบบใด ซึ่งต้องคุยกันก่อนว่าจะเริ่มจัดงานได้เมื่อใด เนื่องจากต้องเตรียมงานมากมาย อาทิ การหาสปอนเซอร์, การประสานกลุ่มบริษัทต่างๆ เป็นต้น คาดว่าจะใช้งบในการดำเนินการงานแฟร์ประมาณ 15-20 ล้านบาท โดยจะปรึกษากับประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อให้เป็นแม่งานหลักของงานร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีส่วนสถานที่จัดงานจะจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อย่างแน่นอน” คุณปรนนท์กล่าว
ด้านแผนระยะยาว มีแผนจะจัดตั้งศูนย์ Test Software โดยร่วมกับ SIPA เพื่อให้สามารถการันตีด้านคุณภาพมาตรฐานและ Certify Software ที่จะออกสู่ตลาดจริง และการเตรียมงานแฟร์สำหรับธุรกิจของกลุ่มร่วมกับ Partner และผู้ประกอบการหลักในตลาดไทยเพื่อให้เพื่อนบ้าน AEC ได้มีส่วนร่วมและสร้างความแข็งแกร่งของตลาดในภูมิภาคและผลักดันให้ภาครัฐใช้ซอฟท์แวร์และไอทีจากผู้ผลิตไทย และต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมให้ประโยชน์ในด้านต่างๆ กับผู้ผลิตเพื่อส่งเสริมตลาดให้โตขึ้น รวมทั้งผลักดันในการผลิตบุคลากรทางด้านไอทีร่วมด้วย
คุณปรนนท์ กล่าวต่อว่า จุดอ่อนของกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีในช่วงปีที่ผ่านมาคือตลาดซอฟท์แวร์ของไทยถูกมองข้ามมาโดยตลอดและปล่อยให้ต่อสู้ด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงมีแต่ผู้ผลิตขนาดเล็กเกิดขึ้นและปิดตัวลง เนื่องจากขาดความรู้ในการบริการ เงินทุน บุคลากรด้านไอที รวมทั้งอัตราค่าจ้างที่สูงมากขึ้นเนื่องจากมีบุคลากรน้อยและไม่เพียงพอกับตลาด
นอกจากนี้รัฐบาลยังไม่มีการสนับสนุนด้านไอที อย่างจริงจังซึ่งจะเห็นได้จากงบประมาณที่จัดสรรที่มีน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน อาทิ เกาหลี, ไต้หวัน และจีน เป็นต้น อีกทั้งยังขาดฐานข้อมูลผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ทักษะความรู้ด้านภาษาอังกฤษยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากนัก รวมทั้งขาดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อีกด้วย
ส่วนจุดเด่นของกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีในปัจจุบันคือมีบุคลากรและบริษัทที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ ประกอบกับภาพรวมของการลงทุนในประเทศไทยยังคงมีลูกค้าต่างชาติให้ความสนใจในการจ้างผู้ผลิตในประเทศไทย สำหรับเรื่องที่จะต้องโฟกัสเร่งด่วนคือต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องกับผู้ผลิตซอฟท์แวร์ที่มีโอกาสในปัจจุบัน
คุณปรนนท์ กล่าวต่อถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ในปี 2557 ว่า คงไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิมมากนัก อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่หากหยุดนิ่งและไม่มีการพัฒนาตลาด จะทำให้เพื่อนบ้านก้าวขึ้นมาตามทันในไม่ช้านี้เช่นเดียวกับการศึกษาและเศรษฐกิจของประเทศไทย
ด้านการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 กลุ่มอุตสาหกรรมไอทียังต้องมีการเตรียมความพร้อมอีกมาก เนื่องจากยังขาดการพัฒนาทางด้านภาษา แต่ความสามารถในการผลิตซอฟท์แวร์ของประเทศไทยนับว่าไม่เป็นรองใคร โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน หากไม่รวมประเทศสิงคโปร์ ซึ่งประเทศไทยยังจัดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ดีในการผลิตซอฟท์แวร์ที่มีประสิทธิภาพเพราะผู้ผลิตได้เล็งเห็นความสำคัญถึงการผลิตด้วยการใช้มาตรฐาน ISO ในการควบคุม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการซอฟท์แวร์ยังขาดความรู้เกี่ยวกับ AEC อีกมาก แต่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ผลักดันมาโดยตลอดทั้งการสัมมนาและการเทรนนิ่งต่างๆ และที่สำคัญภาครัฐควรให้การสนับสนุนในการเข้าสู่ AEC อย่างจริงจัง