December 26, 2024
01Top_Nine-Plus

Biz Focus Industry Issue 022, November 2014

User Rating: 3 / 5

Star ActiveStar ActiveStar ActiveStar InactiveStar Inactive
 

ประธานอุตฯ ยานยนต์กางโรดแม็ป หนุนเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ

คุณองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดวิสัยทัศน์ให้สัมภาษณ์พิเศษ นิตยสารบิส โฟกัส เกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงาน โดยมุ่งเสริมแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการ มั่นใจไทยยังเป็นผู้นำในอาเซียน พร้อมเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานเต็มพิกัด รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ดังนี้

 

บิส โฟกัส : แผนหรือทิศทางการดำเนินงานเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

คุณองอาจ : เราต้องทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เมื่ออุตสาหกรรมเป็นที่ยอมรับแล้ว กลุ่มอุตสาหกรรมหรือองค์กรของเราภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเป็นที่ยอมรับด้วยเช่นกัน

เรามีแผนที่จะเข้าไปคุยกับภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งที่ผ่านมาดูเหมือนว่าภาครัฐจะมองเห็นความสำคัญ แต่ยังไม่ค่อยชัดเจน โดยจะมีหลายโครงการที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม แต่ยังไม่เป็นเอกภาพ เป็นเพียงภาพที่จุดประกายขึ้นมาเท่านั้น อย่างเช่นที่เราตั้งคำถามว่าแผนในปี 2560 ซึ่งได้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะให้ยอดการผลิตรถยนต์เพิ่มเป็น 3 ล้านคัน ภาครัฐได้เตรียมอะไรไว้บ้าง และภาคส่วนอื่นๆ เห็นความสำคัญหรือไม่ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์คืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีแวลูมากที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมด หากอุตสาหกรรมนี้มีปัญหาจะส่งผลกระทบกันถ้วนหน้า ดังนั้น เราต้องทำให้ทุกภาคส่วนเข้าใจเรื่องนี้

รวมทั้ง อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนในหลายๆ ด้าน เพราะยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่ไม่สอดคล้องกัน เช่น เรื่องการกำหนดนโยบาย หรือแผนงานต่างๆ ที่ยังไม่เป็นเอกภาพ การดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกัน เช่น หน่วยงานนี้ต้องการอย่างนี้ ส่วนหน่วยงานอื่นต้องการอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น เราต้องการหน่วยงานที่เป็นหนึ่งเดียวและเข้ามาดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเต็มตัว ไม่ใช่เข้ามาดูเหมือนอยากได้แต่ไม่ทำ

คุณองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 

ที่ผ่านมา เราเคยเสนอหลายครั้งแล้วว่าอยากให้มีคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรระดับใหญ่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและสั่งการให้แต่ละหน่วยงานของภาครัฐดำเนินงานไปในทิศทางเดียว ตอนนี้เราประสบปัญหามากในเรื่องการไม่ประสานงานของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ตนดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จะมุ่งมั่นและผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม จริงๆ แล้ว ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์หลายยุคหลายสมัยก่อนหน้านี้ก็ได้ผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมหรือไม่

 

บิส โฟกัส : หากภาครัฐเข้ามาดูแลและสนับสนุน จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้มากน้อยเพียงใด

คุณองอาจ : เรามีแผนงาน มีนโยบายที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าในปีนี้เราจะผลิตรถยนต์เท่าใด ที่ผ่านมา สิ่งที่เราได้มา เกิดจากหลายๆ เรื่องด้วยกัน รวมถึงนโยบายของภาครัฐ เรามีโปรดักท์แชมเปี้ยนตัวที่หนึ่ง ตัวที่สอง และโปรดักท์อื่นๆ เข้ามารวมเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก รถมอเตอร์ไซด์ เรามีแผนต่อไปคือโครงการอีโคคาร์สอง ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศแล้ว มีคนสมัครชัดเจน ถ้าเราได้สองตัวนี้ เราก็จะได้วอลลุ่มประมาณ 3 ล้านคันในปี 2560 ซึ่งรถยนต์จะดูที่วอลลุ่ม ถ้าไม่มีวอลลุ่มก็ทำอะไรไมได้ เพราะเป็นเซ็กเตอร์ที่มีการลงทุนค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ เมื่อเรามีวอลลุ่มแล้ว เราจะรักษาอย่างไร และหลังจากผลิตได้ 3 ล้านคันแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป เราจะใช้ประโยชน์อย่างไร อย่างเช่นเรามีวอลลุ่ม 3 ล้านคัน ถามว่ามีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเท่าไหร่ ไม่ใช่ไปนำเข้ามา จุดนี้ก็ต้องเข้ามาดูกัน มาช่วยกัน ซึ่งภาครัฐได้เข้ามาดูแลหรือเตรียมความพร้อมไว้รองรับแล้วหรือยัง เพราะจะมีปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิ คนมีพร้อมหรือไม่ ถ้า 3 ล้านคันแล้วจะต้องเพิ่มคนอีกเท่าใด มีถนน มีท่าเรือรับเพียงพอกับปริมาณจำนวนรถที่ผลิตเพิ่มขึ้นหรือไม่ อุปสรรคการนำและส่งออก หรือภาษี เป็นต้น ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างก็ถือกฎระเบียบของตัวเองอยู่ ทำอย่างไรจะให้เกิดความสอดคล้องกัน

 

บิส โฟกัส : ถ้าทำในจุดนี้ได้ ศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์จะแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่

คุณองอาจ : แน่นอน เพราะเรามีวอลลุ่มที่เพียงพอ แต่เราจะรักษาไว้ให้ได้อย่างไรเป็นสิ่งท้าทายเป็นอย่างมาก ในปีที่ผ่านมาเราอยู่อันดับ 9 ของโลก ซึ่งไม่ธรรมดา มียอดผลิตกว่า 2 ล้านคัน แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็พยามเดินทางเดียวกันกับเรา เขาไม่มีวอลลุ่มแต่เขาพยายามจะแข่งขัน ที่ผ่านมาเราไม่เคยพรีเซ็นต์และสร้างตัวเองให้เป็นผู้นำในอาเซียน มีแต่อินโดนีเซียประเทศเดียวที่พยามพรีเซ็นต์ว่าจะเป็นผู้นำให้ได้

อย่างไรก็ตามการ เป็นผู้นำไม่ได้หมายถึงเป็นผู้นำในด้านตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่มีหลายๆ ด้านที่เราต้องเป็นผู้นำ เช่น ผู้นำด้านการผลิตที่มีควอลิตี้ที่ดีที่สุด ผู้นำด้านดีเวลอปเมนท์ ผู้นำด้านอาร์แอนด์ดี เป็นต้น ถึงแม้ว่าตัวเลขจะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ถ้าเราสามารถผลิตได้ที่ 2.5 ล้านคันหรือ 3.5 ล้านคัน โอกาสที่จะเพิ่มมากกว่านี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่เราสามารถทำได้อีกมากมายในการเป็นผู้นำในอาเซียน เช่น ฐานการผลิตที่มีคุณภาพดีที่สุด ปัจจุบันเราติดอันดับต้นๆ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกดีที่สุด เป็นต้นประเทศไทยเราจะได้เปรียบในเรื่องของศักยภาพ เรื่องของภูมิศาสตร์ เราพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์มากว่า 50 ปี เราเริ่มก่อนคนอื่น ขณะนี้ คู่แข่งในภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญคืออินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่ทั้งสองประเทศยังตามหลังเราอยู่

 

บิส โฟกัส : ปัจจุบันในกลุ่มอาเซียน ประเทศไทยยังเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์หรือไม่

คุณองอาจ : เรายังถือว่าเป็นผู้นำ แต่อินโดเซียพยายามจะเป็น ทั้งนี้ อินโดนีเซียแสดงความจำนงเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนมานานแล้วตั้งแต่ในปี 2543 ที่ได้มีการพูดคุยกันในกลุ่มประเทศอาเซียนว่าแต่ละประเทศอยากเป็นเซ็นเตอร์ในด้านใด ซึ่งอินโดนีเซียเลือกเป็นผู้นำยานยนต์ ส่วนประเทศไทยไม่ได้เลือก เราก็เสียดายโอกาส ตอนนี้เริ่มเห็นผลแล้ว โดยมีหน่วยงานของญี่ปุ่นบางหน่วยงานเริ่มไปตั้งเซ็นเตอร์ที่อินโดนีเซียแล้ว

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มีความกังวล เพราะเป็นธรรมดาที่ต้องเจอคู่แข่งอยู่แล้ว ถ้าไม่มีคู่แข่ง เราก็ไม่ต้องทำอะไร คือถ้าเรามัวแต่กลัวไม่มีประโยชน์ เราสู้เขาได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยากคือการจะรักษาไว้อย่างไร ซึ่งได้แก่การทำให้ฐานการผลิตของเราเข้มแข็งติดอันดับต้นๆของโลก มีบุคลากรที่มีทักษะ มีความพร้อมในด้านกฎระเบียบต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้

 

บิส โฟกัส : ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน จะมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร

คุณองอาจ : ปัจจุบัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พยายามคุยกับภาคการศึกษาและภาครัฐให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราเดินทางผิดมานานแล้วที่ไปสนับสนุนและส่งเสริมให้เรียนปริญญาตรี เพราะประเทศที่จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ส่วนใหญ่ก็จะส่งเสริมให้เรียนสายอาชีพทั้งนั้น ขณะนี้ เราพยายามแก้ไขอย่างเร่งด่วน ส่วนในโครงสร้างของเอกชนเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน นอกจากนี้ เราพยายามดึงนักเรียนอาชีวะเข้ามาทำงาน โดยเข้าไปคุยกับทางสถาบันการศึกษาเพือให้เกิดความร่วมมือดึงคนเข้ามาทำงาน และให้นักเรียนมาฝึกงานในโรงงาน โดยจะได้รับหน่วยกิตกลับไป แทนที่จะรอภาครัฐเพียงอย่างเดียว

เราได้เริ่มดำเนินการแล้ว ขณะนี้ เราได้คุยกับภาคการศึกษาจำนวนมาก เรามีคณะทำงานด้านนี้โดยตรง มีการกำหนดวิชาชีพในแต่ละด้าน มีการทดสอบความสามารถ ถ้าใครสอบได้ ทำได้ ก็จะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการยกระดับตามมาตรฐานความสามารถ และฝีมือแรงงาน

ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐ อย่างเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน ก็ได้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่จะไม่สอดคล้องกัน ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ เพราะต่างคนต่างทำ ซึ่งทำให้มีหลากหลายมาตรฐาน แต่ในความเป็นจริงควรจะเป็นภาพรวมและมีเซ็นเตอร์เข้ามาดูแล

 

บิส โฟกัส : วิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC

คุณองอาจ : AEC ในมุมมองของอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้มีการแลกเปลี่ยนกันมานาน และภาษีเป็นศูนย์มานานแล้วเช่นกัน ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศ จริงๆ แล้ว เรามีโมเดลจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์ส่งเข้ามานานแล้ว อยู่ที่ความพร้อมของอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศมากกว่า ซึ่งขณะนี้ แต่ละประเทศพยายามที่จะไล่เราให้ทัน จุดนี้ทำให้มีการแชร์ฐานการผลิตกันมากขึ้น และในปี 2558 เมื่อเราเปิด AEC อย่างเต็มรูปแบบ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการค้าชายแดนจะเริ่มดีขึ้น ซึ่งขณะนี้ อัตราการเติบโตก็เริ่มขยับขึ้นมาประมาณ 10% หรือ 30% ในทุกๆ ปี ลูกค้าของเราก็เริ่มกระจายไปตามชายแดนเพื่อผลิตและส่งออก รวมทั้ง หนีค่าแรง 300 บาท/วัน ซึ่งยังทำให้เราได้เปรียบประเทศคู่แข่ง

 

บิส โฟกัส : สิ่งที่อยากจะฝากไปยังสมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

คุณองอาจ : เราเป็นองค์กรภายใต้พระราชบัญญัติของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่จะช่วยเหลือสมาชิกที่เข้ามา ด้วยการกำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยการประสานงานและการสื่อสาร การให้ข้อมูล และความร่วมมือของสมาชิก เรามีช่องทางในการติดต่อทั้งสภาอุตสาหกรรมฯ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราจะเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือต่างๆ เพื่อสมาชิก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของสมาชิกด้วยเช่นกัน ถ้าเราไม่มีความร่วมมือ เราไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เราก็จะทำอะไรต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้น สมาชิกต้องให้ความร่วมมือ ต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญ เพราะสมาชิกอยู่คนเดียวไม่ได้ แต่ยังมีเรื่องกลางๆ ที่จะต้องช่วยกันคิดและช่วยกันทำกับภาครัฐ

เราต้องมองถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ไม่ใช่มองเฉพาะความต้องการของใครคนใดคนหนึ่ง ความต้องการเป็นสิ่งที่ต้องมีเข้ามา แต่เราก็ต้องประมวลช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศยั่งยืน และประโยชน์ก็จะกลับไปที่สมาชิก เพราะว่าทุกอย่างไม่มีอะไรยืนยาว ถ้าเราไม่ช่วยกันวางแผน เพราะเรามีวอลลุ่มในประเทศแค่ 1.2 ล้านคัน ซึ่งถือว่ากำลังดีแต่ไม่ใหญ่ และเราจะพัฒนาต่อไปได้อย่างไร เราจะเดินไปอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศให้ได้มากที่สด รวมทั้งจะรักษาต่อไปได้อย่าง ดังนั้นต้องมาช่วยกันคิด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นองค์กรที่เหมาะที่จะเป็นตัวกลางในการคิดเรื่องดังกล่าว เรามีสมาชิกครบทั้งรถขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่และรถบรรทุก

นอกจากนี้ การจัดองค์กรที่เหมาะสมในเรื่องของการสื่อสารทั้งภายในภายนอกองค์กร จะเป็นสิ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นที่น่าเชื่อถือ ชัดเจน อีกทั้ง การทำงานที่เป็นมืออาชีพและโปร่งใส่ ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการจัดการในเรื่องของข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ต้องการข้อมูลที่รวดเร็ว แม่นยำ ฉับไว เพื่อจะนำไปใช้ในการพิจารณาตัดสินใจในเรื่องต่างๆ  

 

 

 

Page Visitor

013100311
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
13942
22064
93966
402825
505277
13100311
Your IP: 18.188.0.20
2024-12-26 12:46
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.