May 02, 2024

Editor's Note March 2024

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

          การลงทุน จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึง การลงทุนจากต่างประเทศ นับว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างแข็งแกร่งและมีศักยภาพ ท่ามกลางปัญหา หรือ อุปสรรคที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนจึงนับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจที่จะช่วยกระตุ้น และดึงดูดผู้ประกอบการให้ตัดสินใจเดินหน้าลงทุนในโครงการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

          สำหรับหน่วยงานหลักที่มีบทบาท และมีความรับผิดชอบในการส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ โดยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี (ขึ้นกับประเภทกิจการและเงื่อนไข),การลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% อีก 5 ปี (เฉพาะเขตส่งเสริมการลงทุน) และการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร เป็นต้น

          ในปี 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ระบุว่าตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนเติบโตอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าปี 2565 ทั้งในแง่จำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 2,307 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 16 มูลค่าเงินลงทุน 848,318 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ผ่านมาร้อยละ 43

โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์การแบ่งขั้วระหว่างกลุ่มประเทศต่างๆ ทำให้บริษัทชั้นนำต่างมองหาแหล่งลงทุนใหม่ที่มีความมั่นคง มีความพร้อม และไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี สามารถตอบโจทย์ในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่โดดเด่นของภูมิภาค ประกอบกับรัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดประเทศรับการลงทุนครั้งใหญ่

รวมทั้ง การประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ปี ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่มีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ช่วยดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

          ขณะที่ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,394 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 มูลค่าเงินลงทุนรวม 663,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 โดยประเทศที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 159,387 ล้านบาท สิงคโปร์ 123,385 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 83,954 ล้านบาท ส่วนญี่ปุ่น มีมูลค่า 79,151 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 แต่มีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 60 จากปีก่อน

          ด้านการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนปี 2566 มีจำนวน 2,383 โครงการ เงินลงทุนรวม 750,129 ล้านบาท โดยประโยชน์ของโครงการเหล่านี้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 2.44 ล้านล้านบาท / ปี มีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท / ปี และเกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 139,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกันในช่วงต้นปี 2567 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ 4 โครงการ รวมมูลค่า 29,702 ล้านบาท พร้อมทั้งมองว่าปีนี้จะเป็นปีทองสำหรับการลงทุน ซึ่งจะมีโครงการขนาดใหญ่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานหมุนเวียน

          ปิดท้ายฉบับนี้กับวิสัยทัศน์ “คุณกิตตินันท์ ตั้งสิริมานะกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามอินเตอร์คูล จำกัด เผยแผนการดำเนินธุรกิจปี 2567 มุ่งให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของลูกค้า ปีนี้เตรียมบุกธุรกิจสุราชุมชน และคราฟต์เบียร์ รองรับการเติบโตในอนาคต พร้อมโชว์จุดเด่นด้านการ Custom ด้วยความพร้อมของบุคลากร เครื่องจักร นวัตกรรม และการบริการ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้า ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานในต้นทุนที่ต่ำกว่า

Page Visitor

010659064
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
1341
4439
21762
5780
147900
10659064
Your IP: 3.143.168.172
2024-05-02 05:50
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.