May 13, 2024

Biz Focus Industry Issue 087, April 2020

109 ปีแห่งการสถาปนา “กรมศิลปากร”

กรมศิลปากร ครบรอบ 109 ปีแห่งการสถาปนา เผยทิศทางปี 63 มุ่งเดินหน้าดำเนินงานตามภารกิจทั้ง 4 ด้านอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงหลายโครงการ พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ ควบคู่กับการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง

คุณประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ในปี 2563 กรมศิลปากรสถาปนาครบรอบ 109 ปี โดยทิศทางการดำเนินงานนับจากนี้ไปจะมุ่งเน้นการบริหารจัดการมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามภารกิจหลักทั้ง 4 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย 1.งานด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ 2.งานด้านเอกสาร ภาษาและหนังสือ 3.งานด้านศิลปกรรม และ 4.งานด้านนาฏดุริยางคศิลป์ โดยการทำงานในแต่ละด้านจะมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน จะให้ความสำคัญกับโครงการที่มีความโดดเด่นในปีนี้ ซึ่งถือเป็นปีแรกที่กรมศิลปากรมีแผนที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ คือ พิพิธภัณฑสถานงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ที่รังสิต คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ กรมศิลปากรมีแผนที่จะสร้างในส่วนงานอาคาร 3 ปี (2563-2565) และในส่วนของงานจัดแสดง 2 ปี (2566-2567) คาดว่าภายใน 5 ปีจะแล้วเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้

นอกเหนือจากนี้ ยังรวมถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์เครื่องทอง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าชมในอีก 2 ปีข้างหน้า

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยกรมศิลปากรได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นพิพิธภัณฑ์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ และมีความเพียบพร้อมที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งจะป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปในอนาคต

พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม (ศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัล-กุรอาน) ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันของงานด้านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสร้างที่จังหวัดนราธิวาส คาดว่าภายในปี 2564 จะแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกันยังรวมไปถึงการตกแต่งภายในอาคารคลังกลางเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ คาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565 รวมทั้ง พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้ทำการปรับปรุงควบคู่ไปพร้อมกัน

อีกทั้ง ยังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาช่วยบริหารจัดการงานด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผยแพร่องค์ความรู้ไปสู่ประชาชน เพื่อให้เข้าถึงคนทุกระดับมากขึ้น โดยปัจจุบันได้ดำเนินการให้มีการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการ ในส่วนของงานที่กรมศิลปากรรับผิดชอบผ่านระบบออนไลน์ อาทิ การสืบค้นเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ โบราณสถานต่างๆ, ใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) สำหรับการตรวจและติดตามการอนุรักษ์โบราณสถานตามสถานที่ต่างๆ, ค้นหาและอ่านหนังสือออนไลน์, ค้นหาเอกสารจดหมายเหตุ, ให้บริการ Virtual Museum พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง และ Virtual Historical park อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง เป็นต้น

คุณประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร

“หากประชาชนท่านใดไม่สามารถที่จะเดินมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ต่างๆ ด้วยตนเองได้ ท่านสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้โดยผ่านทางออนไลน์ทั้ง Virtual Museum พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง และ Virtual Historical park อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง ซึ่งกรมศิลปากรมีครบทุกแห่ง ทุกพิพิธภัณฑ์และอุทยานประวัติศาสตร์ แต่ในความครบถ้วนสมบูรณ์ทุกแห่งอาจต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคต” คุณประทีปกล่าว

นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังได้ให้บริการด้านออนไลน์ในแง่ของงานบริการ อาทิ ระบบการนำเข้า-ส่งออก ศิลปวัตถุ, การจำหน่ายตั๋วการแสดง และรวมไปถึงในส่วนของหอสมุด คือ การขอเลขประจำหมู่เอกสารในการพิมพ์หนังสือ หรือพิมพ์นิตยสารต่างๆ ที่สามารถใช้สื่อออนไลน์ในการติดต่อได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมานั้นถือเป็นการลดขั้นตอน พร้อมอำนวยความสะดวกและช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของกรมศิลปากรได้ง่ายยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากการให้บริการทางออนไลน์แล้ว ยังได้มุ่งเน้นในการทำหน้าที่แบ่งปันความรู้สู่ประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกรมศิลปากร โดยในทุกหน้างานที่รับผิดชอบ จะเน้นการให้ความรู้ ในแง่ของการจัดพิมพ์เอกสารวิชาการ เอกสารหนังสือ การจัดบรรยาย การจัดสัมมนา หรือการจัดกิจกรรมในเชิงให้ความรู้ต่างๆ โดยนักวิชาการของกรมศิลปากรต้องมีการพัฒนาให้มีความรู้ที่แจ่มแจ้งและชัดเจนสามารถเป็นหลักให้ประเทศชาติได้ในส่วนงานที่กรมศิลปากรรับผิดชอบ

คุณประทีป กล่าวว่า ในระหว่างการดำเนินงาน หากพบปัญหาหรืออุปสรรค ถือเป็นเรื่องปกติในการทำภารกิจของกรมศิลปากร เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนมีการตื่นตัวในด้านการอนุรักษ์ หรือการใช้มรดก ศิลปวัฒนธรรมมาเป็นสื่อในการท่องเที่ยว และการเรียนรู้ แต่กรมศิลปกรมีข้อจำกัดในด้านของบุคลากร อาจจะส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการทำงานบ้าง เพราะเป็นงานที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาโบราณ ดังนั้นจึงต้องทำอย่างประณีต และต้องใช้เวลา รวมถึง เรื่องของความรู้ความเข้าใจในมาตรฐาน การทำงาน หรือแนวคิดต่างๆ โดยทุกคนมีอิสระทางความคิด ดังนั้นจึงมีความหลากหลาย และไม่สามารถพูดได้ว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ซึ่งต้องใช้เวลาในการชี้แจง

อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรจะต้องมีการปรับปรุงขั้นตอนหรือวิธีการทำงานเช่นเดียวกัน โดยการเพิ่มกระบวนการในการสร้างการเรียนรู้ เพิ่มกระบวนการในการมีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์ พัฒนาโบราณสถานต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจก่อนลงมือปฏิบัติ เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนได้ให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น ดังนั้นกรมศิลปากรจึงต้องมีการแบ่งปัน สร้างความรู้ความเข้าใจ และให้มีความคิดเห็นที่ตรงกันก่อนจะลงมือพัฒนา เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง

คุณประทีป กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐอย่างสอดคล้องตามบทบาทภารกิจ หน้าที่ในแต่ละส่วน และความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งภาครัฐมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณ ส่วนกรมศิลปากรมีหน้าที่ปฏิบัติอย่างเต็มความรู้ ความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ถือเป็นทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องการท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ อีกทั้งยังสอดรับกับแนวคิดกับยุทธศาสตร์ภาครัฐ โดยในแต่ละจังหวัดจะมีโบราณสถาน มีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญ ดังนั้นในส่วนของงบประมาณเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจึงไม่ได้เป็นปัญหา

“ถึงแม้ว่าในด้านงบประมาณไม่ได้มีปัญหา อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรยังคงมีปัญหาด้านความพร้อมหรือบุคลากรที่มีปริมาณไม่เพียงพอ ดังนั้นเราจึงปรับเปลี่ยนวิธีการโดยจะเน้นสร้างภาคี สร้างเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น แต่คนที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับเราจะต้องมีความรู้ที่เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องไปเริ่มที่กระบวนการสร้างคน เช่นเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถาน จะต้องไปสร้างช่างอนุรักษ์ให้มีความรู้เท่าทัน จึงจะสามารถมาทำงานได้อย่างถูกต้องและได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่กรมศิลปากรได้ปฏิบัตินั้นถือว่าสอดรับกับนโยบายของภาครัฐอยู่แล้ว” คุณประทีปกล่าว

ส่วนสิ่งที่อยากจะฝากถึงคนรุ่นใหม่ โดยมรดก ศิลปวัฒนธรรม ถือเป็นหน้าตาและเป็นเกียรติภูมิของชาติ ดังนั้นเราต้องช่วยกันทำนุบำรุงรักษา และสืบทอดสิ่งที่ดีๆ ที่บรรพชนได้สร้างสรรค์เอาไว้ ซึ่งในแง่ของการเรียนรู้ด้านต่างๆ เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร และได้จัดให้มีช่องทางเพื่อประชาชนสามารถเข้าถึงได้หลายช่องทาง รวมทั้ง มีหลายด้านที่ทำขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในยุคสังคมดิจิทัล เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูล หรือองค์ความรู้ของกรมศิลปากรได้โดยง่ายด้วยโทรศัพท์มือถือ

“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมถือเป็นเกียรติคุณ เป็นภูมิปัญญาของชาติ แสดงถึงความเป็นชาติไทย เป็นชาติสิวิไล เป็นความเจริญต่างๆ ซึ่งร่องรอยหลักฐานเหล่านั้นได้ปรากฏอยู่ที่โบราณสถาน โบราณวัตถุ หรือจารีต ธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม และสิ่งดีๆ ที่ได้มีการสืบทอดกันมา โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ร่ำรวยทางด้านวัฒนธรรม เป็นประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาไม่ด้อยกว่าชาติใดๆ เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ จึงอยากให้ประชาชนได้ช่วยกันภาคภูมิใจ และร่วมกันอนุรักษ์สืบทอดมรดกสำคัญนี้สู่รุ่นลูก รุ่นหลังต่อไป” คุณประทีปกล่าว

อนึ่ง "กรมศิลปากร" เป็นหน่วยงานของรัฐ มีการจัดตั้งเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2454 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงเล็งเห็นความสำคัญ "มรดกศิลปวัฒนธรรม" อันเป็นรากเหง้าของชีวิตและบ้านเมือง จึงทรงมีพระราชดำริ ให้โอนกิจการของช่างมหาดเล็ก จากกระทรวงวัง และกรมพิพิธภัณฑ์ จากกระทรวงธรรมการ มาจัดตั้งเป็น "กรมศิลปากร" มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลศิลปวัฒนธรรมของชาติแขนงต่างๆ ได้แก่ งานด้านโบราณคดี, งานประวัติศาสตร์,พิพิธภัณฑ์, สถาปัตยกรรม, หัตถศิลป์, นาฏดุริยางคศิลป์, ด้านเอกสาร ภาษา และหนังสือ และด้านการจัดการศึกษาศิลปวัฒนธรรม

โดยกรมศิลปากรได้ปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการใหม่ ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2548 โดยยกเลิกสำนักสถาปัตยกรรมและหัตถศิลป์ และจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นอีก 2 สำนัก แทน คือ สำนักช่างสิบหมู่ และสำนักสถาปัตยกรรม และตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2549 ปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารของ "สำนักงานศิลปากรที่ 1-15"  ซึ่งเดิมมีฐานะเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักโบราณคดีเป็น "สำนักศิลปากรที่ 1-15" ขึ้นตรงต่อกรมศิลปากร รับผิดชอบดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของกรมศิลปากรในเขตพื้นที่ส่วนภูมิภาค จากนั้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2550 ได้โอนย้ายสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550

ด้านลักษณะงานของกรมศิลปากร ประกอบด้วย งานวิชาการและงานด้านทักษะที่ต้องอาศัยการเรียนรู้สืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ในการดำเนินงานด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ มีทั้งงานที่ต้องดำเนินการเองและงานที่ภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ  หรือหน่วยงานรัฐอื่นร่วมดำเนินการ และมีนโยบายให้ความร่วมมือกับต่างประเทศทั้งในรูปแบบของรัฐต่อรัฐ รัฐต่อองค์กรเอกชนของต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ

สำหรับบทบาท และหน้าที่ของกรมศิลปากร ได้แก่ 1. ปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ธำรงจารีตประเพณี พระราชพิธี และรัฐพิธีให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศไทย 2. สืบทอด สร้างสรรค์ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม 3. ปรับเปลี่ยนระบบและกลไกการบริหารจัดการมรดกศิลปวัฒนธรรม 4. บริหารจัดการองค์ความรู้และพัฒนามรดกศิลปวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว และ 5. จัดการศึกษาเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์ สืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Sunday, 17 July 2022 11:15
BizFocus

Selfies labore, leggings cupidatat sunt taxidermy umami fanny pack typewriter hoodie art party voluptate. Listicle meditation paleo, drinking vinegar sint direct trade.

www.themewinter.com

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.

Page Visitor

010727663
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
1857
5392
7249
74379
147900
10727663
Your IP: 3.133.109.211
2024-05-13 08:18
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.