May 08, 2024

Biz Focus Industry Issue 089, June 2020

เปิดวิสัยทัศน์ประธานกลุ่มอุตฯ เทคโนโลยีชีวภาพ

“ดร.ภก.ชาญณรงค์” นั่งเก้าอี้ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพคนใหม่ ลั่นมุ่งสานต่อแผนงานเดิม โดยจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น บวกเดินหน้าขับเคลื่อน 3 ยุทธศาสตร์หลัก พร้อมเร่งต่อยอด โครงการการยกระดับกระบวนการสกัด การแยกสาร การทำบริสุทธิ์ ทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ และความปลอดภัยของสารอาหารฟังก์ชั่นจากพืชพื้นถิ่นของไทย แบบมุ่งเป้าครบวงจร และผลักดันโครงการ BCG Economy Model หนุนต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มจำนวนสมาชิกอีก 30 ราย 

ดร.ภก.ชาญณรงค์ เตชะอังกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 

ดร.ภก.ชาญณรงค์ เตชะอังกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงวิสัยทัศน์การดำเนินงานในปี 2563 ว่า จะเดินหน้าสานต่อแผนงานจากประธานคนเก่า คุณวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง พร้อมทั้งนำมาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้ง การขับเคลื่อน 3 ยุทธศาสตร์หลักของกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1  มุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพทางด้านการแข่งขัน โดยนำเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ต่อยอดให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

ยุทธศาสตร์ที่ 2  พัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster) หรือกลุ่มของธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้องมารวมตัวดำเนินกิจการอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยมีความร่วมมือ เกื้อหนุน เชื่อมโยง รวมถึง การส่งเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร และ ยุทธศาสตร์ที่ 3  พัฒนารูปแบบการดำเนินการแบบบูรณาการในลักษณะของเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ของกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์หลักของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกันสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ด้านโครงการสำคัญที่จะดำเนินการภายในปี 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพจะมุ่งมั่นสานต่อโครงการเดิมที่ได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการการยกระดับกระบวนการสกัด การแยกสาร การทำบริสุทธิ์ ทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ และความปลอดภัยของสารอาหารฟังก์ชั่นจากพืชพื้นถิ่นของไทย แบบมุ่งเป้าครบวงจร เพื่อผลิตอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้ประกอบการจะทำวิจัยเกี่ยวกับน้ำมัน เช่น น้ำมันงา น้ำมันรำข้าว น้ำมันเทียนดำ และน้ำมันมะพร้าว เป็นต้น เพื่อค้นหาสารอาหารสำคัญที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้ และจะเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่ม SMEs ที่ผลิตผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นที่จะผลักดันโครงการ BCG Economy Model ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง พร้อมทั้งเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากทำมากแต่ได้น้อยไปสู่การทำน้อยแต่ได้มาก

โดย BCG Economy Model ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก ดังนี้ 1.Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์และเกษตรกร เช่น การทำแอลกอฮอล์บริสุทธิ์จากอ้อย เพื่อนำไปใช้ในการทำเครื่องสำอาง หรือเป็นส่วนผสมในยาบางชนิด เป็นต้น 2.Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้ และ 3.Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ที่มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน

“ตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับโครงการ BCG Economy Model เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ขณะเดียวกัน เราได้เริ่มดำเนินการตามโมเดลนี้ โดยการมองหาโครงการที่สอดคล้องหรือสามารถผลักดันไปในทิศทางนี้ได้

ปัจจุบัน เราพยายามจะผลักดันต่อยอดโครงการเก่าที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ แต่อาจจะมีการดำเนินงานโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เนื่องจากการดำเนินงานในแต่ละโครงการต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกของกลุ่ม ซึ่งแต่ละโครงการจะมีจุดประสงค์เพื่อที่จะส่งเสริมยกระดับสมาชิกในกลุ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทั้งหมด พร้อมทั้ง ดำเนินการหาแหล่งทุนทั้งจากภาครัฐ และหาทุนวิจัยในการพัฒนาร่วมกัน” ดร.ภก.ชาญณรงค์กล่าว

"กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ Biotechnology เป็นกลุ่มหนึ่งในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีมติให้จัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนกิจการของสมาชิกในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในระหว่างหมู่สมาชิก โดยมีวิสัยทัศน์ที่สำคัญ คือ เทคโนโลยีชีวภาพสร้างขีดความสามารถทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงอย่างยั่งยืน" ดร.ภก.ชาญณรงค์ กล่าว

อีกทั้ง ยังถือเป็นกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมที่คาบเกี่ยว และเชื่อมต่อกับหลายๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมทางการเกษตร, อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ และอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพ เป็นต้น เนื่องจากเป็นการใช้เทคนิค หรือกระบวนการต่างๆ ในการนำสิ่งมีชีวิต ชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต หรือผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้านต่างๆ

สำหรับเป้าหมายหลักในการดำเนินงานภายในปี 2563 คือ การเพิ่มจำนวนสมาชิกอีกประมาณ 30 บริษัท หรือรวมเป็นประมาณ 81 บริษัท จากปัจจุบันที่มีสมาชิกทั้งหมด 51 บริษัท ทั้งนี้ หากสามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกได้มากขึ้น จะถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้มีความหลากหลายของธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึง มีการแลกเปลี่ยนความคิด พร้อมทั้งช่วยกันผลักดันสมาชิกในกลุ่มให้เติบโตต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาด้านธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็น การหาแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนร่วมกับพาร์ทเนอร์หรือนักลงทุน, การจัดงานมอบรางวัลแก่ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการส่งเสริม สร้างแรงผลักดันในการทำงาน ซึ่งเป็นเครื่องหมายการันตีความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าของผู้ประกอบการแต่ละบริษัท และดำเนินการจัดงานสัมมนาเพื่อส่งมอบหรือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึง มุ่งเน้นในเรื่องของ Communication Platform เพื่อกระจายข้อมูลให้เกิดการยอมรับ พร้อมทั้งสร้าง Digital Platform เพื่อใช้ในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพได้วางแนวทางหรือแผนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่สมาชิก โดยจะทำการแสวงหาแหล่งทุนจากภาครัฐ หรือนักลงทุนภายในประเทศให้มาทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ อีกทั้ง ยังมุ่งเน้นดำเนินการเพื่อยกระดับ รวบรวมนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่ผู้ประกอบการได้ดำเนินการ และนำมาพัฒนาต่อยอด พร้อมทั้งเน้นหาตลาดทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อเป็นช่องทางให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก

ดร.ภก.ชาญณรงค์ กล่าวถึงสิ่งที่อยากจะฝากแก่สมาชิกว่า อยากให้แนะนำนักธุรกิจ หรือพันธมิตรทางการค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีชีวภาพให้สนใจมาสมัครสมาชิกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ถือได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ดาวรุ่งในตลาดโลก ดังนั้น หากมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจะสามารถพัฒนาธุรกิจให้เป็นไปตามกระแสโลกได้ พร้อมทั้ง ร่วมกันพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างแบรนด์ของไทยด้านเทคโนโลยีชีวภาพให้เป็นที่รู้จัก และสามารถสร้างเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยได้อีกด้วย

พร้อมทั้งฝากข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ โดยอยากให้เข้ามาส่งเสริม มุ่งการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และการวิจัย ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความก้าวหน้าในระดับประเทศและระดับโลก โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจรากฐาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพอย่างทั่วถึง สนับสนุนการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Sunday, 17 July 2022 11:18
BizFocus

Selfies labore, leggings cupidatat sunt taxidermy umami fanny pack typewriter hoodie art party voluptate. Listicle meditation paleo, drinking vinegar sint direct trade.

www.themewinter.com

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.

Page Visitor

010698919
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
4941
5814
21359
45635
147900
10698919
Your IP: 18.117.183.150
2024-05-08 21:08
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.