April 27, 2024

Biz Focus Industry Issue 016, May 2014

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

นิคมอุตฯ ภาคเหนือกาง ROAD MAP ปี 57

นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือชู 3 แนวทางหนุนเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ ประกาศเป้าหมายรวมเดินหน้าผลักดันนักลงทุนใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่าง 184 ไร่ แย้มปีหน้าจับมือเอกชนขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่ม 400 ไร่รองรับ AEC

คุณพรเทพ ภูริพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (สนน.)

คุณพรเทพ ภูริพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (สนน.) เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือมุ่งพัฒนายกระดับเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายใต้องค์ประกอบการพัฒนา 5 มิติ 22 ด้านได้แก่ มิติทางกายภาพ มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางสิ่งแวดล้อมและมิติทางการบริหารจัดการ   ดังนั้นทิศทางการดำเนินงานเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการจะต้องสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งในปีนี้ (พ.ศ. 2557) สนน. มีแผนงานหลักๆ 3 แผน คือ

แนวทางที่ 1 แผนพัฒนาและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนโดยใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท ประกอบด้วย ระบบป้องกันน้ำท่วม โดยมีการตรวจสอบและปรับปรุงเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของเขื่อนดินขนาดเล็กที่อยู่รอบๆ นิคมฯ ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร และติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง สำหรับใช้กับเครื่องสูบน้ำ (ในกรณีที่ไฟฟ้าดับ) ถนน โดยมีการซ่อมแซมผิวจราจรในถนนสายหลัก เพื่อให้การจราจรมีความคล่องตัวและลดอุบัติเหตุ

ระบบประปา เนื่องจากในการผลิตน้ำประปาจะใช้น้ำดิบจากแม่น้ำกวงสูบไปเก็บไว้อ่างเก็บน้ำของ สนน. ซึ่งมีปริมาตร 400,000 ลบ.ม. และผู้ประกอบการมีความกังวลเกรงว่าหากเกิดภัยแล้ง ไม่สามารถสูบน้ำดิบจากแม่น้ำกวงได้ น้ำดิบที่สำรองไว้ 400,000 ลบ.ม. จะใช้งานได้ประมาณ 20 วัน  ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำดิบช่วงหน้าแล้ง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงให้ภาคเอกชนมาดำเนินโครงการจัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบขนาด 500,000 ลบ.ม. เพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศหาผู้เสนอโครงการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณต้นปีหน้า ระบบไฟฟ้า โดย สนน. ให้การสนับสนุนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มาตั้งสถานทีไฟฟ้าย่อยในนิคมฯ ภาคเหนือ ซึ่งในปีนี้ จะมีสถานีไฟฟ้าย่อยเพิ่มอีก 1 แห่ง

“เราเน้นเรื่องการให้บริการระบบสาธารณูปโภคฯ เป็นอย่างมาก เพราะเป็นหัวใจในการประกอบกิจการอุตสาหกรรม ในปีหนึ่ง ๆ สนน. ใช้งบประมาณไม่มากในการดูแลระบบสาธารณูปโภคฯ เพราะว่า สนน. มีแผนดูแลบำรุงรักษาเป็นประจำทุกปี” คุณพรเทพ กล่าว

สำหรับแนวทางที่ 2 คือแผนการจัดการบริหารกากอุตสาหกรรม โดยจะใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้เข้าไปศึกษาข้อมูลของเสียในโรงงานต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าของเสียประเภทใดที่สามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าได้อีก ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดตั้งบริษัทที่ปรึกษา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือน โดยภายในปีนี้ตั้งเป้าจะดำเนินการให้ได้ประมาณ 10 โรงงาน

นอกจากนี้นิคมอุตสาหกรรมฯ ยังมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลกากอุตสาหกรรม โดยนำข้อมูลที่ได้จากการเก็บข้อมูลต่างๆ มารวมไว้ให้อยู่ในที่เดียวกันเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ในโรงงานว่าของเสียชนิดใดที่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์หรือสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบได้อีก เป็นต้น

“เราจะดำเนินการควบคู่กันไประหว่างการวิเคราะห์ของเสียและการจัดตั้งศูนย์เก็บรวบรวมข้อมูลของเสีย เราตั้งเป้าว่าในอนาคตจะไม่มีการนำของเสียในนิคมอุตฯ ไปฝังกลบหรือ Zero Landfill ซึ่งเป็นแนวคิดที่สามารถดำเนินการแต่จะไม่ให้มีการฝังกลบ 100%  คงเป็นไปไม่ได้แต่เราจะพยายามให้มีให้น้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการฝังกลบ” คุณพรเทพกล่าว

ส่วนแนวทางที่ 3 คือการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบในนิคมอุตสาหกรรมฯ โดยมีแผนจะร่วมมือกับศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเพื่อจัดการฝึกอบรมและเพิ่มศักยภาพให้แก่แรงงาน ซึ่งที่ผ่านมานิคมอุตสาหกรรมฯ ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การอบรมภาษาอังกฤษ คอมพิเตอร์ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการได้แรงงานที่ตรงกับความต้องการและลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีกด้วย

คุณพรเทพ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมฯ ขายหมดแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการขายพื้นที่ให้แก่นักลงทุนประมาณ 95% และที่เหลือเป็นการเช่า 5% อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีพื้นที่ที่ว่างที่ยังไม่ประกอบกิจการประมาณ 184 ไร่ เนื่องจากมีการปิดกิจการและยังไม่พร้อมที่จะดำเนินกิจการ

ดังนั้นเป้าหมายในปีนี้จะผลักดันให้นักลงทุนใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ทั้งหมดหรือไม่เหลือพื้นที่ว่าง ทั้งนี้หากนิคมอุตฯ ไม่ดำเนินการพื้นที่ว่างดังกล่าวอาจเป็นพื้นที่ว่างเปล่าตลอดไป และจะทำให้นักลงทุนรายอื่นๆ ที่มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตฯ เสียโอกาส เพราะเจ้าของพื้นที่ไม่ขายและนิคมอุตฯ ก็ไม่สามารถที่จะบังคับให้เจ้าของพื้นที่ให้ขายได้ ทั้งนี้หากพื้นที่ว่างทั้งหมดสามารถนำไปพัฒนาให้เกิดโยชน์อย่างเช่น การก่อสร้างเป็นโรงงานจะทำให้เกิดผลดีต่อนักลงทุนตามมาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้นิคมอุตสาหกรรมฯ ยังมีเป้าหมายที่จะเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะมีการผลักดันให้โรงงานทุกๆ แห่งเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมายังมีโรงงานอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยในปีนี้ตั้งเป้าให้มีโรงงานอย่างน้อย 3 แห่ง  

ด้านกลยุทธ์ที่จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือสามารถแข่งขันได้อย่างเข้มแข็งทั้งในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่  1. การบริการที่ได้มาตรฐาน รวดเร็วและถูกต้อง โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น ความรวดเร็วในการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการ เป็นต้น 2. การจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ อาทิ การใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสะอาด กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม วัตถุอันตราย ฯลฯ

3. การช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานให้แก่ผู้ประกอบการ อาทิ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำวัตถุดิบที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ เช่น การนำน้ำรียูสหรือน้ำที่ผ่านมาการบำบัดแล้วมารดน้ำต้นไม้แทนการใช้น้ำประปา ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากน้ำประปามีราคาแพง  4.การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในเรื่องการคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในด้านโลจิสติกส์

สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC คุณพรเทพ กล่าวว่าเนื่องจากพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเต็มแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องดำเนินการคือการให้เจ้าหน้าที่อบรมภาษาอังกฤษเพื่อยกระดับการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะมีจอ LED ขนาดใหญ่อยู่บริเวณด้านหน้านิคมอุตฯ เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ให้แก่นักลงทุนและผู้ที่สัญจรไปมาได้รับทราบ

รวมทั้งการจัดทำระบบสารสนเทศในรูปแบบของภาษาอังกฤษ ซึ่งแต่เดิมจะมีเฉพาะภาษาไทย โดยจะเป็นข้อมูลเชิงลึก เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่และจะเป็นฐานข้อมูลที่นักลงทุนจากทั่วโลกสามารถเข้ามาดูเพื่อใช้ประกอบการตัดสินในการลงทุนได้อีกด้วย

นอกจากนี้ในปี 2558 นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือมีโครงการที่จะขยายพื้นที่เพิ่มโดยจะร่วมมือกับภาคเอกชนและใช้ชื่อว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมลำพูน 2 ซึ่งจะตั้งอยู่ตรงข้ามกับนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำ EIA คาดว่าในปีหน้าจะเริ่มพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมและใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 2 ปีหรือในราวปี 2559-2560 จะสามารถเปิดให้บริการแก่นักลงทุนได้ ถ้าไม่ติดขัดปัญหาอะไร เพราะในกระบวนการทำ EIA ค่อนข้างซับซ้อนและใช้เวลานานพอสมควร

คุณพรเทพ กล่าวในตอนท้ายถึงสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนว่า อยากให้สนับสนุนในเรื่องกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและการยกเว้นภาษีกากอุตสาหกรรมที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยที่ผ่านมากฎหมายระบุว่าผู้ประกอบการในเขตฟรีโซนที่นำกากอุตสาหกรรมไปฝังกลบจะไม่เสียภาษี แต่หากนำมาใช้ประโยชน์ใหม่จะเสียภาษีทันที ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเสียความรู้สึกและไม่อยากจะดำเนินการ ทั้งๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าในทางธุรกิจได้ ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ ทั้งนี้หากดำเนินการได้เป็นรูปธรรมจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมากและจะช่วยลดปริมาณกากอุตสาหกรรมอีกด้วย

 

 

 

Page Visitor

010633990
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
1486
4975
31508
128606
137776
10633990
Your IP: 3.133.141.6
2024-04-27 08:35
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.