AMATA ขานรับ กนอ. ขยายพื้นที่รับนักลงทุน AEC
AMATA ได้รับการอนุมัติจาก กนอ. ขยายพื้นที่นิคมฯ อมตะซิตี้ กว่า 2,524 ไร่ รองรับการเติบโตของกลุ่มอุตฯยานยนต์และนักลงทุนรายใหม่ คาดพัฒนาแล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี มูลค่าโครงการประมาณ 7,000-8,000 ลบ.
คุณวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด และประธานกรรมการอมตะซิตี้ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ได้รับการอนุมัติจากการนิคมอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ให้ดำเนินการขยายพื้นที่เพิ่มกว่า 2,524 ไร่ เพื่อรองรับการลงทุนใหม่จากนักลงทุนต่างชาติภายหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 และรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการพัฒนาโครงการใหม่นี้ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1- 2 ปี และจะมีมูลค่าโครงการ ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มูลค่าโครงการจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย
“การดำเนินการพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติ จะพัฒนาได้หมดหรือไม่จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง ถ้าสถานการณ์ปกติ เต็มที่ 1-2 ปี ก็น่าจะพัฒนาหมดแล้ว เรามีประสบการณ์จาก 6 เดือนแรกของปี 2557 ที่การลงทุนต่างๆ ค่อนข้างเงียบ แต่หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้นักลงทุนทราบทิศทางที่แน่ชัดในการลงทุนมากขึ้น
อย่างไรก็ตามนักลงทุนภายในประเทศยังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพ จึงยังมีการลงทุนอยู่เช่นเดิม ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ไม่เคยเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะเกิดความกลัว ไม่กล้าเข้ามาลงทุน เพราะต่างชาติมองว่าภาพการปฏิวัติรุนแรง แต่เมื่อเข้ามาลงทุนแล้วก็จะทราบว่าความจริงแล้ว การปฏิวัติในประเทศไทยไม่มีความรุนแรงอย่างที่คิด” คุณวิบูลย์กล่าว
คุณวิบูลย์ กล่าวต่อว่า หลังจากการได้รับการอนุมัติโครงการดังกล่าว บริษัทได้รับกระแสตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีนักลงทุนเข้ามาติดต่อค่อนข้างเยอะมาก นับตั้งแต่สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเฉพาะกิจของท่านประยุทธ์ มีการวาง Road Map ในการบริหารประเทศที่ชัดเจน จึงทำให้นักลงทุนสามารถที่จะกำหนดทิศทางการทำธุรกิจได้
“เราได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมเป็นจำนวนมาก ประกอบกับ นโยบายของทางภาครัฐ หรือ Road Map มีความชัดเจนในการบริหารราชการ ทั้งระยะเวลาในการบริหารราชการ หรือโครงการสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จึงทำให้เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดีและช่วยเกิดความสบายใจในการวางแผนการดำเนินธุรกิจมากกว่าที่ผ่านมา” คุณวิบูลย์กล่าว
คุณวิบูลย์ กล่าวต่อถึงกลุ่มประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายว่า ประกอบด้วย
1. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งยังมีช่องทางในการขยายธุรกิจได้อีกมาก เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญของโลก
2. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งตนจะเน้นไปในกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับสินค้าเกษตรของประเทศไทย อาทิ ผลไม้อบแห้ง, ผลไม้แปรรูป และข้าวแปรรูป
3. กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟแวร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่บริษัทมีแผนจะปรับลดปริมาณคือปิโตรเคมี เนื่องจากจะมีเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้างนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ด้านเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน คุณวิบูลย์กล่าวว่า นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในนิคมฯ ของอมตะ ทั้งการก่อสร้างฐานการผลิต ดำเนินธุรกิจการผลิตและส่งขายสินค้า ตนอยากจะให้ผู้ประกอบการทุกท่านดำเนินธุรกิจให้เต็มความสามารถ ส่วนงานด้านอื่นๆ ที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของทางนิคมฯ ในการอำนวยความสะดวก รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ โรงเรียน, โรงพยาบาล, ธนาคาร และวัด เป็นต้น
“เป้าหมายของเรา คือ ความสำเร็จที่ได้ช่วยเหลือลูกค้าของเราให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เมื่อเกิดความสำเร็จแล้ว จะทำให้มีการลงทุนเพิ่ม และเราจะมีการพัฒนาเพิ่มเช่นกัน จะก่อให้เกิดความสุขและความสำเร็จร่วมกัน ปัจจุบันเราอาจจะยังพัฒนาได้ไม่มากนัก แต่เราจะมีการพัฒนาเรื่อยๆ นอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เรายังมีจุดอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องของหนังสือเดินทาง หนังสือทำงาน และดูแลคุณภาพชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายชีวิตด้วย” คุณวิบูลย์กล่าว
อนึ่ง บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) หรือ AMATA เป็นบริษัทพัฒนาและจัดการด้านนิคมอุตสาหกรรม ชั้นนำของประเทศไทย โดยนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งของบริษัทตั้งอยู่บนพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) ดังนี้
1. นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,020 เฮกเตอร์ (18,873 ไร่ หรือ 7,459 เอเคอร์) ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนเขต 2 (BOI) ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 57 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 42 กิโลเมตร โดยมีโรงงาน จำนวน 514 โรงที่พร้อมจะเปิดดำเนินการ ในจำนวนดังกล่าวมีโรงงาน 484 โรงที่ได้เปิดดำเนินงานและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
2. นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง มีพื้นที่ 1,603 เฮกเตอร์ (10,080 ไร่ หรือ 4,007 เอเคอร์) ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนเขต 3 (BOI) ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังเพียง 27 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 99 กิโลเมตร โดยมีผู้ผลิตจำนวน 128 รายที่กำลังจะเปิดดำเนินการในระยะเวลาอันใกล้นี้ ในจำนวนดังกล่าว มี โรงงาน 117 โรงที่ได้เปิดดำเนินงานและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานสูงในประเทศเวียดนาม ภายใต้ชื่อ อมตะซิตี้ (เบียนหัว)จังหวัดดองไน ใกล้เมืองโฮจิมินห์ เปิดดำเนินการเมื่อปี 2537 มีโรงงาน จำนวน 112 แห่ง บนพื้นที่กว่า 700 เฮกเตอร์ (4,375ไร่ หรือ 1,750 เอเคอร์) เฟสใหม่ของโครงการจะมีบ้านพัก อพาร์ทเมนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกใน ชีวิตประจำวันตามความต้องการของคนจำนวนมาก