กางแผนงาน “นิคมฯ ดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1”
มุ่งพัฒนานิคมฯ ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นิคมฯ ดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 เดินหน้าแผนวิสาหกิจ กนอ. ปีงบประมาณ 2566-2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ "นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน" มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ชูโครงการสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนรอบนิคมฯ ในกลุ่มอาชีพและวิสาหกิจชุมชน พร้อมตอกย้ำความภาคภูมิใจด้วยผลงานคุณภาพ
คุณธวัชศักดิ์ เกิดมณี ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 กล่าวว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้กำหนดแผนวิสาหกิจสำหรับปีงบประมาณ 2566-2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ "นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน" โดยทิศทางยุทธศาสตร์สำคัญของ กนอ. ในแผนดังกล่าวประกอบด้วย 1.การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรอย่างยั่งยืน : มุ่งเน้นการเป็นผู้นำในการพัฒนาและให้บริการสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัลที่ครบวงจรตามมาตรฐานสากล
2.การยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันแก่นักลงทุน : พัฒนารูปแบบและคุณภาพการให้บริการเพื่อสนับสนุนการลงทุนและการดำเนินธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.การเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมบนหลักธรรมาภิบาล : ส่งเสริมการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ตามมาตรฐานสากล และยึดหลักคุณธรรมและความโปร่งใส
นอกจากนี้ กนอ. ยังมุ่งเน้นการยกระดับการบริหารนิคมอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล โดยเฉพาะการนำระบบอัจฉริยะมาใช้ในนิคมอุตสาหกรรม (Smart Industrial Estate: Smart I.E.) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) อีกทั้ง ยังได้ดำเนินการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)
สำหรับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ กนอ. ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับนโยบาย Carbon Neutral เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งวางแผนลดการปล่อยคาร์บอนด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานหมุนเวียน และจัดการของเสียตามหลัก Zero Waste รวมถึง สร้างวัฒนธรรมความยั่งยืนในองค์กร พร้อมส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีเป้าหมายสอดคล้องกัน ทั้งนี้ การตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะช่วยปรับปรุงกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน
ปัจจุบันนิคมฯ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นที่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้เครื่องจักรและนวัตกรรมที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร อีกทั้ง ยังมีการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการเติบโตให้กับชุมชนด้วยโครงการสนับสนุนการผลิตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจท้องถิ่นสามารถยืนหยัดและเติบโตได้ในสภาวะตลาดที่ท้าทาย ตามกรอบการดำเนินงาน ISO 26000 ในด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน (Community Involvement and Development) มุ่งเน้นการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน เช่น การสร้างงาน การพัฒนาการศึกษา และการส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ กนอ. (สำนักงานนิคมฯ) ทำงานร่วมกับผู้พัฒนานิคมฯ และมีโครงการต่อเนื่องสำคัญๆ ที่ดำเนินเป็นประจำทุกปี คือ การมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนในพื้นที่รอบนิคมฯ ภายใต้ชื่อโครงการมอบทุนการศึกษาเพื่อน้อง (1 โรงเรียน 1 คนเก่ง) ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมอบทุนในวันเด็กแห่งชาติของทุกปีให้แก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดี/มีพรสวรรค์โดดเด่น แต่เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสและมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงนิคมฯ ตามที่คัดเลือกจากคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาจนจบหลักสูตรชั้นสูงสุดของโรงเรียน และยังมีการสนับสนุนด้านการพัฒนายกระดับสุขภาพของชุมชน ทั้งกิจกรรมบริการด้านสุขภาพและอุปกรณ์การแพทย์ภายในหน่วยงาน รพ.สต. เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ทัศนคติที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน หนึ่งในความสำเร็จที่สำนักงานนิคมฯ ภาคภูมิใจ คือ การพัฒนาและขยายตลาดสินค้าจากชุมชนท้องถิ่น โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการรายย่อยในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ในพื้นที่สำนักงานนิคมฯ และมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ผลงานนี้ไม่เพียงแต่เสริมสร้างเศรษฐกิจไทย แต่ยังสร้างความยั่งยืนในระยะยาวให้กับชุมชนอีกด้วย
โดยปัจจุบันมีกลุ่มอาชีพและวิสาหกิจชุมชนภายใต้การดูแลและบริหารจัดการสนับสนุนของสำนักงานนิคมฯ จำนวน 4 กลุ่ม ที่ประกอบธุรกิจแตกต่างกัน มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ กุนเชียง ไข่เค็ม ขนมเปี๊ยะ คุกกี้สัปปะรด ขนมไทย ผลิตภัณฑ์จักสานทำมือ พวงหรีด ดอกไม้จันทน์ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปอีกมากมาย ซึ่งในแต่ละปีสำนักงานนิคมฯ จะมีงบประมาณสนับสนุนการฝึกอบรมด้านต่างๆ รวมถึง การจัดทำ Workshop ปรึกษากับผู้เชียวชาญ และการพัฒนาทักษะอาชีพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมและการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึง การทำวิจัยและพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีความรู้ในการพัฒนาทักษะฝีมือ/ผลิตภัณฑ์ของชุมชน และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ และเพื่อยกระดับการสร้างอาชีพของชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้ชุมชน/กลุ่มอาชีพ/วิสาหกิจชุมชนสามารถใช้เครื่องจักรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการลดต้นทุนการผลิตและใช้เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถเติบโตได้ และสนับสนุนให้ชุมชนมีความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ยกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของวิสาหกิจชุมชน
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากการสนับสนุนในด้านการฝึกอบรมแล้ว สำนักงานนิคมฯ ยังมีการจัดกิจกรรม ECO GREEN NETWORK ที่เป็นการสานสัมพันธ์ สมาชิกเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วยหน่วยราชการ/ส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานนิคมฯ เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจแนวคิดของหลักการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ก่อให้เกิดการสานสัมพันธ์ระหว่างกัน และสามารถพึงพาอาศัยซึ่งกันและกัน รวมถึง อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ยั่งยืนต่อไป
พร้อมทั้ง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยราชการ/ส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ชุมชนโดยรอบนิคมฯ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานนิคมฯ และผู้พัฒนานิคมฯ ทำให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง และเกิดความมั่นใจในการบริหารจัดการของนิคมฯ ในระยะยาว โดยลักษณะกิจกรรมจะมุ่งเน้นพาเครือข่ายไปศึกษาดูงานการบริหารจัดการนิคมฯ และการดำเนินงานด้านวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ผู้นำของทุกภาคส่วนในนำมาปรับใช้ต่อยอดเกิดการบูรณาการ โดยได้รับผลตอบรับที่ดีมาโดยตลอด
คุณธวัชศักดิ์กล่าวถึงข้อเสนอแนะที่อยากให้ภาครัฐเข้าส่งเสริมหรือสนับสนุนเป็นพิเศษว่า ในด้านส่งเสริมการเติบโตและยกระดับรายได้ของชุมชน ขอแบ่งเป็นมิติต่างๆ ดังนี้ 1.การสนับสนุนในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ : ภาครัฐสามารถสนับสนุนโครงการที่ชุมชนมีแนวโน้มที่จะสร้างสินค้าหรือบริการใหม่ที่มีศักยภาพทางการตลาดและการขายทั้งในตลาดในประเทศและต่างประเทศ 2.การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ : สนับสนุนให้ชุมชนใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนการผลิต 3.การสนับสนุนในการพัฒนาทักษะและการฝึกอบรม : ส่งเสริมการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะให้กับชุมชน เช่น การสอนเทคนิคการผลิตที่ยั่งยืนและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4.การสนับสนุนในการตลาดและการโปรโมท : ช่วยให้ชุมชนมีเครื่องมือในการตลาดและโปรโมทผลิตภัณฑ์ของพวกเขา รวมถึง การสนับสนุนในการสร้างแบรนด์และการตลาดออนไลน์ 5.การสนับสนุนในการทดลองผลิตภัณฑ์ : สนับสนุนให้ชุมชนมีพื้นที่ทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ และ 6.การสนับสนุนในการทดสอบคุณภาพและมาตรฐาน : ช่วยให้ชุมชนทดสอบและปรับปรุงคุณภาพสินค้าเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น
“เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน เราจำเป็นต้องพัฒนาในทุกมิติทั้งด้านนวัตกรรม ความยั่งยืน และการสร้างความร่วมมือกับชุมชนโดยรอบ การเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่เพียงช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับนิคมฯ แต่ยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล หากเรามีการปรับตัวตามความต้องการของตลาดโลกและมุ่งเน้นการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัย ข้อเสนอนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตอย่างมีคุณภาพและความยั่งยืนในระยะยาวของประเทศเรา” คุณธวัชศักดิ์กล่าว