May 18, 2024
×

Warning

JFolder: :files: Path is not a folder. Path: [ROOT]/images/Biz_Interview/2014/bfi_022/tpipl/Photo

×

Notice

There was a problem rendering your image gallery. Please make sure that the folder you are using in the Simple Image Gallery plugin tags exists and contains valid image files. The plugin could not locate the folder:

Interview 2014

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive

พี.เอฟ.พี. เล็งเสริมทัพเครื่องจักรรับตลาดโต

พี.เอฟ.พี. เตรียมทุ่มงบกว่า 300 ลบ. ปรับปรุงและติดตั้งเครื่องจักรใหม่ เพิ่มกำลังการผลิตรองรับการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ  พร้อมวางแผนตั้งฐานการผลิตในอินโดนีเซียและเวียดนาม เพิ่มช่องทางการจำหน่าย ตอกย้ำผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลแช่แข็งของไทย

คุณทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี. ผู้นำในกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลแช่แข็งของประเทศ  ภายใต้แบรนด์ “พีเอฟพี” เปิดเผยว่าในปี 2558 บริษัทมีแผนที่จะทุ่มงบประมาณกว่า 300 ล้านบาทในการปรับปรุงและติดตั้งเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรองรับการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจะใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่น ซึ่งจะพิจารณาเครื่องจักรตามรูปแบบการผลิตของแต่ละผลิตภัณฑ์

นอกจากบริษัทยังมีแผนจะทุ่มงบประมาณในการทำการตลาดกว่า 100 ล้านบาทเพื่อเปิดตัวสินค้าใหม่อีกประมาณ 5-10 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อปลาเช่นเดิม คาดว่าจะสามารถเปิดเผยได้ในปีหน้า รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาช่วยเสริมอีกด้วย

คุณทวีกล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 38% ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำในกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลแช่แข็ง โดยกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มภัตตาคาร ลูกค้าทั่วไป และร้านอาหารชั้นนำของไทย นอกจากนี้บริษัทยังมีสัดส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 60% และอีก 40% จะส่งออกในต่างประเทศ

สำหรับเป้าหมายการเติบโต บริษัทได้ตั้งไว้เฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปี แต่ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมีการเติบโตเพียง 12% และคาดว่าหลังจบไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ บริษัทจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเพียง 1-2% เท่านั้น

“ในช่วงต้นปี 2557 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 จึงส่งผลให้เรามีการเติบโตเพียง 12% อย่างไรก็ตามเรามีความพึงพอใจในเป้าหมายการเติบโตที่ได้ เนื่องจากสถานการณ์หลายๆ อย่างที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ แต่เรายังสามารถจะเติบโตได้เกือบถึงเป้าเฉลี่ย และคาดว่าปีนี้เราจะมีผลประกอบการประมาณ 4,500 ล้านบาท” คุณทวีกล่าว

ส่วนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 คุณทวีกล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมมานานแล้ว เนื่องจากบริษัทได้มีการส่งออกไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่แล้ว จึงไม่มีความกังวลในการก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแต่อย่างใด ด้านการขยายการลงทุเพิ่ม บริษัทได้มองไปที่ประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามเป็นหลัก โดยมีการพิจารณาจากความพร้อมของสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศดังกล่าว

“ในอนาคต เราวางแผนที่จะขยายธุรกิจ โดยตั้งฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้นและเพื่อบุกตลาดในโซนตะวันออกกลางด้วย ส่วนประเทศเวียดนามก็เป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องและกำลังการซื้อของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น” คุณทวีกล่าว

คุณทวีกล่าวปิดท้ายว่า บริษัทยังมีความมุ่งมั่นในการรักษาคุณภาพและรสชาติของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสนับสนุนและให้ความสำคัญในการตอบแทนสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน ซึ่งได้มีการจัดตั้งโรงเรียนในโรงงาน โดยเป็นการร่วมมือกับวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เพื่อทำการเรียนการสอนในระดับ ปวส. อีกด้วย

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive

อิลวา (ประเทศไทย) ส่งผลิตภัณฑ์ใหม่รุกตลาด

อิลวา (ประเทศไทย) เปิดตัว “เครื่องดื่มโกโก้ผสมโสม” ใหม่ธันวาคมนี้ เล็งกลุ่มเป้าหมายวัยทำงานและนักศึกษาที่รักสุขภาพ พร้อมเดินหน้าบุกตลาดประเทศเพื่อนบ้านเต็มพิกัด

คุณเอกพงษ์ อรัญศรี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อิลวา (ประเทศไทย) จำกัด  ดำเนินธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายโสมเกาหลีเปิดเผยว่า บริษัทเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้โดยเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโกโก้ผสมโสมแบบ 3 in 1 ซึ่งจะเจาะกลุ่มลูกค้าวัยทำงานและนักศึกษาที่รักสุขภาพเนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทจะเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพอยู่แล้ว

ส่วนแผนการดำเนินงานปี 2557 บริษัทจะเน้นบุกตลาดต่างประเทศเป็นหลักซึ่งจะเป็นการขยายการส่งออกไปในประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ ประกอบด้วย สปป.ลาว, เมียนมาร์ และกัมพูชา ปัจจุบันบริษัทมีคู่ค้าที่ สปป.ลาวแล้วเนื่องจากได้ไปจัดบูธที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการลาว-ไอเท็ค นครเวียงจันทน์ โดยเริ่มดำเนินการหาข้อมูลและวางแผนมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ขณะนี้ก็กำลังเดินตามแผนที่ได้วางไว้

“เราจะเน้นบุกตลาดต่างประเทศมากกว่าเพราะกำลังซื้อในประเทศค่อนข้างชะลอตัว จึงวางแผนมองหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านเรา เพราะมองว่าน่าจะเป็นโอกาสและคาดว่ากำลังซื้อในต่างประเทศน่าจะดีกว่าเพราะคนนิยมเทรนรักสุขภาพมากขึ้นในปัจจุบัน” คุณเอกพงษ์กล่าว

คุณเอกพงษ์กล่าวต่อว่า เป้าหมายการเติบโตในปี 2557 บริษัทตั้งไว้ที่ประมาณ 5% และตั้งเป้าหมายการเติบโตในปี 2558 ไว้ที่ประมาณ 20% ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เนื่องจากกำลังซื้อจากต่างประเทศจะมีเพิ่มมากขึ้นจากที่ได้ไปเจาะตลาดในต่างประเทศ โดยคาดว่ารายได้ในส่วนนี้จะสามารถส่งผลให้บริษัทไปถึงเป้าหมายได้

ส่วนงบประมาณด้านการตลาดในแต่ละปีบริษัทจะใช้ประมาณ 5% ของรายได้ โดยจะเน้นการทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ อาทิ วารสาร, นิตยสาร, โทรทัศน์ เป็นต้น สำหรับแนวโน้มธุรกิจที่ดำเนินอยู่ในปีนี้ได้รับผลกระทบบ้างเนื่องจากกำลังซื้อลดลงเพราะประชาชนส่วนใหญ่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากค่าครองชีพในปัจจุบันค่อนข้างสูง

สำหรับจุดเด่นของบริษัทจะเป็นเรื่องความเชี่ยวชาญโดยตรงทางด้านโสม เนื่องจากมีทีมงานเชี่ยวชาญที่จะให้ความรู้เรื่องคุณสมบัติต่างๆ ของโสมที่รับประทานแล้วว่าจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างกับลูกค้าที่ซื้อไปบริโภคและบริษัทจะเน้นคุณภาพมาตรฐานของคุณภาพสินค้าเป็นอย่างมากเพื่อให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่ดี นอกจากนี้ยังสามารถการันตีได้ว่าบริษัทเป็นเบอร์ 1 ในประเทศไทยที่จำหน่ายและนำเข้าโสมเจ้าเดียวในประเทศไทย

“เราใส่ใจในการให้ข้อมูลลูกค้าเป็นอย่างมากเพราะต้องการให้ลูกค้ารู้จริงๆ ก่อนรับประทานว่าร่างกายได้รับประโยชน์อะไร สุขภาพดีอย่างไรเมื่อทานเป็นประจำ เพราะบางคนอาจรู้คร่าวๆ แค่ได้ยินผ่านๆ ว่าดี แต่ถ้ามาซื้อสินค้ากับเราจะได้รับความรู้เพิ่มมากมายว่าโสมมีคุณประโยชน์อย่างไรบ้างในการบริโภคเพื่อรักษาสุขภาพ” คุณเอกพงษ์กล่าว

คุณเอกพงษ์กล่าวต่อว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 จะเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องของผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดอาเซียนมากว่าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าว่าต้องการแบบใด ส่วนการเตรียมความพร้อมในเรื่องบุคลากรจะเน้นด้านภาษาอังกฤษโดยจะมีวิทยากรมาอบรมและให้ความรู้ในเรื่องภาษา ซึ่งบริษัทจะให้ความสำคัญในด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างมากเพราะเมื่อเปิด AEC จะต้องใช้ในการสื่อสารกับลูกค้า

ทั้งนี้เมื่อเปิด AEC ตนมองว่า เป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากการเปิดตลาดจะกว้างมากขึ้นและกำลังซื้อในด้านต่างประเทศก็เพิ่มมากขึ้นตามด้วย มีโอกาสในหลายด้านเกิดขึ้น สำหรับผู้ที่เตรียมความพร้อมที่ดีมีการแลกเปลี่ยนในด้านวัฒนธรรมเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่อาจจะมีการแข่งขันที่รุนแรงเพราะการเปิดตลาดที่กว้าง ซึ่งไม่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่เตรียมความพร้อมมาอย่างดีในด้านต่างๆ ก่อนเปิด AEC

“การเปิด AEC ภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการคุยสื่อสารกันดังนั้นถ้าเราสามารถพูดได้ก็เป็นเรื่องที่ดีในการคุยสื่อสารกันระหว่างการค้าขายกัน ทำให้การค้าขายเป็นเรื่องที่ง่ายในการติดต่องาน ถ้าบุคลากรในองค์กรสามารถพูดได้จะส่งผลให้การทำงานง่ายขึ้นและสามารถใช้เพื่อพัฒนาด้านอื่นๆ ได้อีกในอนาคต” คุณเอกพงษ์กล่าว

ด้านหลักในการบริหาร ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานประมาณ 80-90 คน โดยจะเน้นการบริหารงานแบบครอบครัวพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้ง เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางร่วมกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับองค์กร ซึ่งการบริหารงานแบบนี้จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive

47 ปี อิตัลไทยวิศวกรรม ประกาศบุกตลาดเต็มร้อย

อิตัลไทยวิศวกรรมตอกย้ำความสำเร็จ 47 ปี  ระบุมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน หนุนรุกตลาดเต็มพิกัด คาดปีนี้รายได้จบที่ 3,200 ลบ. วางเป้าปีหน้าพุ่ง 4,600 ลบ. มั่นใจตัวเลขเข้าเป้าด้วยปัจจัยบวก ลั่นอีก 5 ปีข้างหน้าเติบโตแบบก้าวกระโดดดันรายได้ทะยานสู่ 7,000 ลบ.

คุณเกษม มาไกรเลิศ รองกรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยคุณวรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีน้ำ บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด หรือ  (ITALTHAI Engineering : ITE)  หนึ่งในบริษัทผู้นำตลาดทางด้านวิศวกรรม ภายใต้ “อิตัลไทย กรุ๊ป” เปิดเผยว่า ในปี 2557 บริษัทดำเนินธุรกิจครบรอบ 47 ปี ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าองค์กรที่ดำเนินธุรกิจยาวมานานเช่นนี้ย่อมไม่ธรรมดา จะต้องมีจุดแข็งและเรื่องราวต่างๆ มากมาย รวมทั้งมีความสำเร็จมากมายเช่นกัน

โดยได้ผ่านความยากลำบากในช่วงวิกฤตปี 2540 ซึ่งสามารถฟื้นตัวกลับมาได้และมีความแข็งแกร่งมากกว่าเดิม หรืออาจกล่าวได้ว่า ณ จุดปีที่ 47 บริษัทมีความมั่นใจว่ามีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งในแง่ของบุคลากร เงินทุน ประสบการณ์ และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน
“จุดที่ทำให้เราอยู่ได้ถึง 47 ปีคือความรู้ทางด้านวิศวกรรม ซึ่งเดิมทีเรามีความชำนาญเฉพาะด้าน แต่สิ่งที่เราเพิ่มขึ้นมาในปีที่ 47 คือเราได้แตกแขนงความชำนาญเฉพาะด้านออกไปอีกเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างลงตัว” ผู้บริหารกล่าว

สำหรับเป้าผลประกอบการรวมของบริษัทในปีนี้ คาดว่าจะจบอยู่ที่ 3,200 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 30% จากเดิมที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ที่ 4,000 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากสถานการณ์ทางการเมืองเช่นเดียวกับที่หลายๆ บริษัทประสบในช่วงที่ผ่านมา ส่วนในปี 2558 บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 4,600 ล้านบาท หรือเพิ่มจากปีนี้ประมาณ 30%

“ตัวเลข 4,600 ล้านบาทที่ตั้งไว้ในปีหน้านับเป็นสิ่งท้าทาย แต่เราเชื่อมั่นว่ามีความเป็นไปได้ เพราะมีปัจจัยบวกสนับสนุน เช่น ขณะนี้เรามี Backlog กว่า 5,000 ล้านบาท โดยหลักๆ จะมาจากงานกลุ่มพลังงานทดแทนมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท เช่น โครงการพลังงานลม เป็นต้น นอกจากนั้นจะกระจายมาจากกลุ่มอื่นๆ อาทิ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าย่อย มูลค่า 1,000 ล้านบาท, งานระบบอาคารต่างๆ มูลค่า 1,000 ล้านบาท และกลุ่มอื่นๆ 

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมา เราได้ลงทุน 75 ล้านบาทเพื่อซื้อที่พร้อมเวิร์คช็อป (โรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของเราที่จังหวัดระยองใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพราะเรามีกลุ่มลูกค้ากลุ่มปิโตรเคมีเป็นจำนวนมาก โดยเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าว่าหากเขามีปัญหา เราจะช่วยแก้ไขและให้คำปรึกษาได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับลูกค้าอีกด้วย  พร้อมทั้งคาดว่าจะสามารถเพิ่มฐานลูกค้าในกลุ่มปิโตรเคมีได้อีกเป็นจำนวนมาก

รวมทั้ง เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ อย่างเช่น การขยายธุรกิจใหม่ โดยการจัดตั้งฝ่ายเทคโนโลยีน้ำ ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมา ประกอบกับแผนในปีหน้า เราเตรียมขยายการลงทุนไปยังประเทศเมียนมาร์อย่างจริงจังในส่วนของงานระบบอาคารและสาธารณูปโภค เพราะเมียนมาร์ยังขาดความชำนาญ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการลงทุน โดยตั้งใจให้เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองรองจากประเทศไทย  ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการส่งทีมงานเข้าไปศึกษาการตลาด, บรรยากาศการลงทุน,  ซัพคอนเทคเตอร์ และพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นต้น โดยคาดหวังจะมีรายได้ไม่น้อยกว่าฝ่ายอื่นๆ หรือ 1,000  ล้านบาท/ปี โดยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ตัวเลขรายได้ในปีหน้าเข้าเป้าอย่างแน่นอน” ผู้บริหารกล่าว

นอกจากนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือในปี 2562 บริษัทมองว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการหรือผลกำไร โดยคาดว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท  ซึ่งจะแตกต่างกับที่ผ่านมาที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง โดยในปี 2555 ที่ผ่านมารายได้รวมอยู่ที่ประมาณ  1,000  ล้านบาท ต่อจากนั้นมีอัตราการเติบโตเพิ่มมาอย่างต่อเนื่อง 

ด้านแผนการการตลาดในปี 2558 ผู้บริหารกล่าวว่า บริษัทได้มีการจัดทำกลยุทธ์ของแต่ละฝ่ายเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งแต่เดิมบริษัทแบ่งหน่วยงานออกเป็น 4 ฝ่ายตามอุตสาหกรรมและความชำนาญเฉพาะด้าน ประกอบด้วย ฝ่ายสถานีไฟฟ้าย่อย, ฝ่ายพลังงานทดแทน, ฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมและฝ่ายงานระบบอาคาร ล่าสุด บริษัทได้จัดตั้งฝ่ายใหม่เพิ่มอีก 2 ฝ่ายคือฝ่ายงานโยธา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการรับงานได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยสามารถรับงานแยกได้โดยไม่ต้องไปผูกกับผู้รับเหมารายอื่นๆ และเน้นลูกค้าภาคเอกชนเป็นหลัก รวมทั้ง ฝ่ายเทคโนโลยีน้ำ ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีทั้งหมด 6 ฝ่าย ซึ่งจะส่งผลให้ในปีหน้า บริษัทมีความพร้อมที่จะรุกตลาดได้อย่างเต็มที่

ผู้บริหารกล่าวต่อถึงรายละเอียดของฝ่ายเทคโนโลยีน้ำว่า ประกอบด้วยบุคลากรที่มีประสบการณ์ ทั้งทางด้านการออกแบบ, ก่อสร้างและติดตั้งระบบ, การทดสอบและติดตามผล รวมถึงการให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มผลผลิตให้แก่ลูกค้า โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ภายใน 5 ปี 1,000 ล้านบาท สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักจะเน้นกลุ่มผู้ผลิตน้ำและกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น การประปานครหลวง, การประปาภูมิภาค, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, ปูนซิเมนต์, ยาง, อาหารและเครื่องดื่ม, กระดาษ, โรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น

“ในการเริ่มต้นของธุรกิจนี้ เราจะต้องดูทิศทางของตลาดและเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะมีปัจจัยต่างๆ ประกอบ อย่างเช่น ความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นต้น เพราะฉะนั้น เราจึงมองภาพรวมว่าภายใน 5 ปีจะมีรายได้ 1,000 ล้านบาท โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะเจาะจงว่าในแต่ละปีจะมีรายได้เท่าใด ส่วนเป้าหมายจะเน้นกลุ่มลูกค้าเอกชนภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพราะเป็นธุรกิจที่เรามีความเชี่ยวชาญและมีความได้เปรียบสูง โดยลูกค้าทั้งในและต่างประเทศล้วนแต่รู้จักเราและให้การตอบรับเป็นอย่างดี” ผู้บริการกล่าว

สำหรับจุดเด่นของฝ่ายเทคโนโลยีน้ำคือมีบุคลากรที่มีประสบการณ์สูงในด้านเทคโนโลยีการจัดการน้ำ พร้อมทีมงานก่อสร้างที่มีประสบการณ์ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครบวงจรในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะงานที่เน้นคุณภาพความละเอียด และความปลอดภัยในการทำงานสูงภายในการทำงานที่เร่งรัด (Fast Track) เช่น ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมทั้งยังสามารถดำเนินการแบบ One Stop Service ตั้งแต่การให้คำปรึกษา, ออกแบบ, ก่อสร้างและติดตั้งระบบ, ทดสอบและติดตามผล เพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์ของลูกค้า

ผู้บริหารกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สัดส่วนการรับงานของบริษัทจะมาจากภาคเอกชน 70% ส่วนอีก 30% จะมากลุ่มภาครัฐ คือ การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า คาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะมีการปรับเปลี่ยนลดหลั่นกันลงมาเล็กน้อย โดยในส่วนของงานจากภาครัฐจะลดเหลือ 25% ส่วนงานจากภาคเอกชนจะเพิ่มเป็น 75% เนื่องจากการปริมาณงานรวมจะเพิ่มมากขึ้นจากการขยายธุรกิจอีก 2 ฝ่ายซึ่งจะเน้นงานภาคเอกชนเป็นหลัก 

สำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 ผู้บริหารกล่าวว่าจะมองใน 2 ด้าน โดยสิ่งที่คาดหวังคือเม็ดเงินจากนักลงทุนสัญชาติอื่นเพิ่ม  นอกเหนือจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในสัดส่วนที่สูงมาก รวมทั้ง การเสาะแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการเข้าไปทำตลาดในประเทศอื่นๆ อย่างเช่น เมียนร์มาร์ เป็นต้น

ส่วนด้านที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากประเทศไทยยังเนื้อหอมในด้านการลงทุน เพราะมีศักยภาพในหลายๆ ด้าน ดังนั้นจึงทำให้เกิดการแข่งสูง โดยจะทำให้มีผู้รับเหมาสัญชาติอื่นหลั่งไหลเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในลักษณะของการหาพันธมิตร ถึงแม้ว่าการแข่งขันจะสูง แต่บริษัทยังสามารถมองโอกาสอื่นๆ ได้ อย่างเช่น การแลกเปลี่ยนโนฮาว ซึ่งเป็นสิ่งน่าสนใจมาก รวมทั้งจะเป็นการกระตุ้นให้บริษัทเพิ่มศักยภาพในการแข่งอีกด้วย 

ผู้บริหารกล่าวถึงสิ่งที่อยากจะฝากถึงลูกค้าในตอนท้ายว่า จากการที่บริษัทจัดตั้งฝ่ายเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่ ด้วยความตั้งใจที่จะเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความพร้อมในด้านบุคลากรและสาขาของงานทางด้านวิศวกรรม ซึ่งคาดว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดีในทุกๆ แขนง 

นอกจากนี้ อยากให้ลูกค้ามั่นใจในเรื่องคุณภาพของการทำงานของบริษัท โดยมีมาตรฐานการทำงานและความปลอดภัยที่สูงกว่าที่กฎหมายระบุ และมีการส่งมอบงานตามระยะเวลาที่กำหนด อีกทั้ง ยังคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด รวมทั้ง ยังมีจุดแข็งด้านการเงินโดยสามารถสามารถบริหารในเรื่องการเงินได้เป็นอย่างดีมาก ดังนั้น ลูกค้าจึงไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องเงินลงทุนของบริษัทแต่อย่างใด

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive

กัสโต้ วิลเลจรุกอสังหาฯ เต็มสูบ

กัสโต้ วิลเลจเขย่าตลาดไตรมาสสุดท้าย เล็งเปิดขาย 2 โครงการใหม่ หนุนเป้ารายได้ปีนี้ 3,300 ลบ. ประกาศเนรมิต 10 โครงการใหม่ในปีหน้า ดันรายได้พุ่งอีก 40%

คุณมาโนช เทพอาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กัสโต้ วิลเลจ จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภททาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด  บ้านเดี่ยว ภายใต้แบรนด์ "กัสโต้" และเป็นในเครือบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) หรือ QHouse กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและรอรับรู้รายได้จำนวน 11 โครงการ เช่น โครงการกัสโต้ พหลโยธิน 48 ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 16 ไร่ จำนวน 163 ยูนิต มูลค่าโครงการ 480 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมทยอยโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ลูกค้าแล้ว และคาดว่าจะปิดโครงการในไตรมาสนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเปิดขายโครงการใหม่ในช่วงสิ้นปีอีก 2 โครงการ ประกอบด้วยโครงการคาซ่าซิตี้ วัชรพล-เพิ่มสิน (เพิ่มสิน 50 ) จำนวน 361 ยูนิต มูลค่าโครงการ 900 ล้านบาท และโครงการกัสโต้พหลโยธิน-สายไหม จำนวน 250 ยูนิต มูลค่าโครงการ 660 ล้านบาท

“จริงๆ แล้ว ในปีนี้เราเปิดตัวโครงการทั้งหมดแล้ว 13 โครงการ และเราได้ปิดการขายไปแล้ว 2  โครงการ เพราะฉะนั้นจึงเหลือ 11 โครงการที่เปิดขายอยู่ และเรามีแผนที่จะเปิดอีก 2 โครงการในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะเป็นทาวน์เฮ้าส์ ในเขตพื้นรอบเมือง หรือเกือบจะใกล้เมือง แต่ไม่ใช่ในใจกลางเมืองที่ส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดมิเนียม โดยคีย์หลักของทาวน์เฮ้าส์คือที่อยู่อาศัยบนที่ดินที่มีขนาดไม่มาก เริ่มต้นที่ 16 ตารางวาขึ้นไปและมีราคาไม่แพง ซึ่งจะแตกต่างจากบ้านซึ่งจะมีขนาดพื้นที่ประมาณ 50 ตารางวา หากเป็นบ้านแฝดจะอยู่ที่ 35 ตารางวา ดังนั้น ทาวน์เฮ้าส์จึงสามารถตอบโจทย์ลูกค้าในเมืองรอบนอกได้เป็นอย่างดี” คุณมาโนชกล่าว

สำหรับราคาสินค้าของกัสโต้จะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ล้านบาท โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 25-35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่นิยมใช้เว็บไซต์, อินเตอร์เน็ต, ไลน์ หรือเฟสบุ๊ก ดังนั้น การตลาดของบริษัทจึงเน้นสื่อออนไลน์ เป็นหลัก นอกจากนี้ในส่วนของ QHouse จะมีไลน์ ซึ่งในปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามากดไลค์เป็นจำนวนมาก เพราะสามารถตอบสนองความต้องการในเรื่องข้อมูลสินค้าได้เป็นอย่างดี

คุณมาโนชกล่าวต่อถึงแผนการดำเนินงานในปี 2558 ว่า บริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่อีก 10 โครงการ ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาสแรกและมีพื้นที่รองรับไว้แล้ว 5 แปลง ได้แก่ โครงการที่สุขสวัสดิ์, วงแหวนพระราม 5, กัลปพฤษ์, บางนา-ตราด กม.8 และนครปฐม ส่วนอีก 5 โครงการที่เหลือ อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองซื้อที่ดินเพิ่มอีก 5 แปลง

“ในปีหน้า เรามีแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่อย่างน้อย 10 โครงการ ซึ่งจะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 2  5 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการจะมีพื้นประมาณ 20-30 ไร่ จำนวน 200-300 ยูนิต มูลค่าโครงการประมาณ 500-600 ล้านบาท และจะทยอยรับรู้รายได้หลังจากการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ลูกค้าในไตรมาส 3 เนื่องจาก ขณะนี้ มีบางโครงการที่เราได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว โดยอยู่ระหว่างการถมดิน สร้างบ้านตัวอย่าง เป็นต้น หลังจากนั้น เราจะทยอยเปิดเพิ่มอีก 5 โครงการ
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเปิดตัวโครงการใหม่ ถ้าเป็นไปได้เราอยากจะได้ทำเลที่เกาะติดแนวรถไฟฟ้าแต่ไม่สามารถทำได้เพราะมีราคาแพงมากเกินกว่าที่จะนำมาพัฒนาเป็นทาวน์เฮ้าส์ได้ ดังนั้น จึงเลือกเป็นทำเลที่ตั้งในย่านชุมชนและเส้นทางคมนาคมสะดวก”
คุณมาโนชกล่าว

ด้านผลประกอบการในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าให้มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มจากปีที่ผ่านมาอีก 50% หรือมีรายได้เพิ่มจาก 2,100 ล้านบาทเป็น 3,300 ล้านบาท โดยบริษัทมีความมั่นใจว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน เนื่องจาก ในขณะนี้สามารถทำรายได้กว่า 2,000 ล้านบาทแล้ว ส่วนในปี 2558 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มจากปีนี้ 40%  หรือมีรายได้ประมาณ 4,500 ล้านบาท

ส่วนจุดเด่นของบริษัท ประกอบด้วย การคัดสรรทำเลที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการของลูกค้า อีกทั้ง ยังมีทีมพัฒนาการออกแบบ ดังนั้นจึงทำให้รูปแบบและฟังชั่นก์ต่างๆ มีความสวยงามและลงตัว โดยลูกค้าให้การตอบรับดีมาก รวมทั้งความโดดเด่นในเรื่องคุณภาพสินค้าที่ยึดมั่นในนโยบายของ QHouse  เสมอมา โดยในแต่ละโครงการจะมีการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางที่สวยงามและดูดี อย่างเช่น ซุ้มโครงการขนาดใหญ่ สวนสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจในแบรนด์ “กัสโต้” และอาจบอกต่อไปยังลูกค้ารายอื่นๆ อีกด้วย

คุณมาโนชกล่าวในตอนท้ายถึงแนวโน้มของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายและต่อเนื่องจนถึงปีหน้าว่า ตลาดทาวน์เฮ้าส์ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะราคายังไม่สูงมากสามารถตอบโจทย์คนวัยทำงานอายุประมาณ 30 ปี และมีเงินเดือนประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป ได้เป็นอย่างดี โดยมีราคาเฉลี่ย 2-3 ล้านบาท  เมื่อเปรียบเทียบกับราคาบ้านเดี่ยวในรอบนอกเมืองซึ่งเฉลี่ยเริ่มต้นที่ 4-5 ล้านบาท และส่วนใหญ่ลูกค้าที่ซื้อทาวน์เฮ้าส์จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยจริง ซึ่งจะแตกต่างจากคอนโดมิเนียมที่อาจซื้อไว้เป็นบ้านหลังที่ 2 หรือไว้เก็งกำไร

สำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 คาดว่าจะส่งผลดีต่อคนวัยทำงาน โดยอาจมีรายได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีกำลังซื้อทาวน์เฮ้าส์ได้มากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าจะส่งผลดีต่อคอนโดมิเนียมมากกว่า เพราะกฎหมายเอื้อให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อคอนโดมิเนียมได้ ส่วนทาวนเฮ้าส์จะเป็นทรัพย์สินที่มีที่ดิน โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive

กุศมัย มอเตอร์เปิดแผนธุรกิจ

กุศมัย มอเตอร์รุกตลาดโค้งสุดท้าย ตบเท้าเข้าร่วมงาน BUS&TRUCK  และ MOTOR EXPRO เฟ้นหาพันธมิตร ลั่น 5 ปี มีความพร้อมและมุ่งเร่งพัฒนาในทุกๆ ด้านตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ชูเป้าหมายสูงสุดสร้างโรงงานผลิตอะไหล่หนุนส่งออกเจาะตลาด AEC

ดร.วิโรจน์ กุศลมโนมัย ประธานกรรมการ บริษัท กุศมัย มอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถบรรทุก 3 ล้อ ภายใต้แบรนด์ “ซูโมต้า” เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ว่า บริษัทจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้า ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงปลายปีเพื่อหาพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งหมายถึงผู้ที่สนใจสินค้าของบริษัทไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าปลีก, ค้าส่ง และตัวแทน

“เราจะได้พันธมิตรจากงานแสดงสินค้าเป็นส่วนใหญ่ ในปีนี้เราได้เข้าร่วมงาน BUS&TRUCK ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 1-6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ไบเทค บางนา รวมทั้ง งาน MOTOR EXPRO โดยจะจัดในวันที่ 1-10 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดว่าผลตอบรับน่าจะเป็นตามที่คาดการณ์ไว้ ที่ผ่านมาเราได้เข้าร่วมงานดังกล่าวเสมอมา แต่ได้เว้นไปประมาณ 2 ปี เพราะคิดว่ายังไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน แต่ ณ ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงและพร้อมแล้ว จึงได้มีการเข้าร่วมงานอีกครั้งหนึ่ง”  ดร.วิโรจน์กล่าว

โดยในปี 2557 บริษัทครบรอบ 5 ปี ซึ่งนับเป็นปีที่มีความพร้อมเกือบทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านมาร์เก็ตติ้ง, การผลิตรถ, การประกอบรถ, การเซ็ตเงื่อนไขตัวแทนอย่างยุติธรรม, การเซ็ตราคาขาย, การปรับปรุงรถ, การวางระบบเงินผ่อนหรือไฟแนนซ์ และการให้เช่ารถ โดยในส่วนของรถใหม่จะจำหน่ายเป็นเงินสด 100% ส่วนรถเก่าที่ค้างสต๊อกจะนำมาทำโปรโมชั่นให้เช่า เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนพัฒนาในด้านต่าง เช่น การพัฒนารถทุกรุ่นตั้งแต่ขนาด 1 ตันขึ้นไปให้มีระบบเกียร์ต่ำ เพื่อให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ทั้งในกรุงทพฯ และต่างจังหวัด โดยให้สามารถขึ้นสะพานหรือที่เนินสูงได้เมื่อบรรทุกของหนัก, การพัฒนาโดยนำไฟเบอร์กลาสบุท้ายรถกะบะทั้ง 4 ด้าน สำหรับการป้องกันรอยขีดข่วน ช่วยรักษาสภาพรถให้ดีดังเดิม, การพัฒนาให้มีหลังคาหน้าครบทุกรุ่นให้เหมาะกับสภาพอากาศ ซึ่งจะช่วยป้องกันแสงแดดและฝนตก, การปรับปรุงเอกสารการจดทะเบียนรถในหมวดรถบรรทุก 3 ล้อส่วนบุคคล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า รวมทั้ง การทำ R&D อย่างต่อเนื่องโดยนำคอมเม้นต์ของลูกค้ามาปรับปรุงเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพและได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล

“ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจ ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจทั้งจากตลาดและลูกค้า และบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ โดยธุรกิจนี้เป็นธุรกิจปราบเซียน มีปัญหาเยอะมากๆ แต่เราพยายามแก้ไข ขณะนี้สามารถแก้ไขได้ประมาณ 80% ยังเหลืออีก 20% เพียง 2-3 ปัญหาเท่านั้น คาดว่าอีกประมาณ 2 ปี จะสามารถผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ไปได้ โดยที่ผ่านมาจะเป็นปีแห่งการเรียนรู้ ส่วนปีที่ 6 จะเป็นปีที่เริ่มต้นใหม่และเติบโตในธุรกิจ” ดร.วิโรจน์กล่าว

ด้านกลุ่มลูกค้าเป้าหมายประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก ดังนี้  1. กลุ่มเกษตรกร  2. กลุ่มอุตสาหกรรม (นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ )  3. กลุ่มท่องเที่ยว (โรงแรม, ร้านอาหาร )  4. กลุ่มราชการ ซึ่งในปีนี้ บริษัทจะเน้นเจาะกลุ่มราชการ เป็นหลัก โดยให้นำรถไปใช้ในกิจการต่างๆ เช่น นำรถไปเก็บขยะ ส่วนราคาสินค้า ณ ปัจจุบัน บริษัทได้ปรับให้มีราคาเดียวกันทั่วประเทศ เริ่มต้นที่ 79,000-199,999 บาท

“ที่ผ่านมา เราจะเน้นทำการตลาดไปยังกลุ่มเกษตรกรเป็นอันดับแรก แต่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเพราะมีรายได้น้อยและเราไม่มีระบบเงินผ่อน  ต่อมาจึงได้เปลี่ยนไปเน้นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ในต่างจังหวัดเป็นหลักแทนแล้วจึงไปหารายเล็ก หรือใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เราคาดว่าในอนาคต หากเราสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของการมีระบบเงินผ่อนได้หรือเรื่องทะเบียน จะทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เพราะมีคนสนใจสินค้าของเราเป็นจำนวนมากแต่ซื้อน้อย” ดร.วิโรจน์กล่าว

สำหรับตัวแทนหรือแฟรนไชส์ ที่ผ่านมา บริษัทได้แต่งตั้งไปประมาณ 10 ราย แต่ขณะนี้ไม่มีแล้ว ดังนั้นในปีนี้ บริษัทจึงได้มีการปรับแผนใหม่โดยไม่มีตัวแทนหรือล้างไพ่ใหม่ ซึ่งบริษัทจะดำเนินการเองและได้จัดตั้งสาขาแรกที่ตลาดไทยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากนั้น มีแผนที่จะทยอยขยายไปยังต่างจังหวัด อาทิ นครปฐม, ลำปาง, น่าน, ชลบุรี, ลพบุรี และขอนแก่น เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขว่าพันธมิตรจะต้องดำเนินการในเรื่องศูนย์บริการและอะไหล่ การจดทะเบียนและระบบเงินผ่อน ทั้งนี้ หากบริษัทสามารถขยายสาขาหรือเพิ่มพันธมิตรได้ จะส่งผลให้เติบโตแบบก้าวกระโดดประมาณ 5-10 เท่าในอนาคต

ดร.วิโรจน์กล่าวต่อถึงการลงทุนของบริษัทว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้ใช้งบลงทุนกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันยังขาดทุน เนื่องจาก เป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ง่ายและต้องพัฒนาตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่อง R&D ที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะมียอดขายประมาณ 1,000 คัน/ปี หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท แต่ในปัจจุบัน มียอดขายเพียง 200 คันเท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลอีก 5 เท่าตัว ส่วนการคืนทุนจะอยู่ที่ยอดขาย 400 คัน และหากมียอดขายในระดับที่ 500 คัน จะเป็นผลกำไร พร้อมทั้งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปีข้างหน้าจึงจะบรรลุเป้าหมาย 1,000 คัน

“เรามีแผน 2 สเต็ป ซึ่งสเต็ปแรกคือหนึ่งคือผลักดันให้มีกำไรด้วยยอดขาย 500 คันและ 1,000 คัน ตามลำดับ ส่วนสเต็ปที่ 2 คือการปรับโครงสร้าง โดยมีแผนที่สร้างโรงงานจะผลิตอะไหล่ในประเทศ จากปัจจุบันที่นำเข้าจากต่างประเทศ 40% เช่น ไต้หวัน, เกาหลี และจีน ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของเราในอีก 10 ปีข้างหน้าคือการผลิตรถบรรทุก 3 ล้อส่งออกไปยังตลาด AEC เพราะเมื่อเราใช้อะไหล่ที่ผลิตในประเทศเกิน 40% ขึ้นไป ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ที่ 60%  สามารถกล่าวได้ว่าเป็นรถสัญชาติไทยและยังส่งออกได้อีกด้วย” ดร.วิโรจน์กล่าว

ด้านจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกอบด้วย  1. เป็นรถที่ประหยัดน้ำมัน โดยได้รับการยอมรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี  2. มีคุณภาพสูงกว่ามาตรฐานของต่างประเทศ แข็งแรงและทนทาน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่จำหน่ายรถบรรทุก 3 ล้อเพียงอย่างเดียว

สำหรับสิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้าสนับสนุนคืออยากให้ภาครัฐเข้ามาซื้อรถของบริษัทไปใช้เพราะมีประโยชน์ต่องานราชการเป็นอย่างมาก และการลดขั้นตอนในการจดทะเบียนรถเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีความยุ่งยากเป็นอย่างมาก รวมทั้งอยากให้ธนาคารต่างๆ เข้ามาสนับสนุนและร่วมมือกับบริษัทในการจัดทำระบบเงินผ่อน เพื่อทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อรถได้ง่ายยิ่งขึ้น และจะทำให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ อยากเชิญชวนแนวร่วมที่ดำเนินธุรกิจขายรถมอเตอร์ไซด์หรือเต้นท์รถซึ่งมีจำนวนมาก โดยให้นำรถของบริษัทเข้าไปวางจำหน่าย ภายใต้เงื่อนไขที่ยุติธรรมและไม่เอาเปรียบ  

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive

เหมราชขานรับ กนอ. ขยายพื้นที่เพิ่มหนุนการเติบโต

เหมราชรับ กนอ. อนุมัติขยายพื้นที่เพิ่มอีกประมาณ 631 ไร่  เล็งลงทุนเพิ่มในอีก 2 ปีข้างหน้า (2558-2559) กว่า 7 พันลบ. ตั้งเป้าปี 58 ผุดโรงไฟฟ้าขนาดเล็กอีก 7 แห่ง

มร.เดวิด  นาร์โดน  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 2 จังหวัดชลบุรีอีกประมาณ 631 ไร่ จากพื้นที่เดิมที่มีอยู่กว่า 3,700 ไร่ โดยได้รับการอนุมัติจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ กนอ. ปัจจุบันเริ่มดำเนินการขยายแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะใช้งบประมาณการลงทุนในอีก 2 ปีข้างหน้า (2558-2559) ประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท ทั้งในส่วนการขายที่ดินสำหรับสร้างโรงงาน, การสร้างโรงงานให้เช่า, การสร้างโกดังสินค้าให้เช่า, การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในนิคมอุตสาหกรรม และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก

สำหรับแผนการลงทุนส่วนใหญ่ บริษัทจะเน้นการลงทุนไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 50%  และอุตสาหกรรมอื่นๆ 50% อาทิ อิเลคทรอนิกส์และอาหาร เป็นต้น โดยที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเหมราชให้เป็น Automobile Hub มาโดยตลอด ล่าสุดยังมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการพัฒนาโครงการ Eco-car ในอนาคตอันใกล้นี้อีกเป็นจำนวนมาก บริษัทจึงต้องส่งเสริมกลุ่มยานยนต์เป็นพิเศษเนื่องจากมีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก  

“ความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่อง Eco-car ในประเทศไทย ตนมองว่าเรื่องคุณภาพของ Eco-car การันตีได้จากเทคโนโลยีที่นำมาผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นเครื่องจักรและเทคโนโลยีเดียวกับรถยนต์ขนาดมาตรฐานทั่วไป จึงมั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าที่ปลอดภัย ประหยัด และมีมาตรฐานแน่นอน” มร.เดวิด  นาร์โดนกล่าว

มร.เดวิด  นาร์โดน กล่าวต่อว่า นอกจากแผนการขยายพื้นที่เหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 2 จังหวัดชลบุรีที่ได้รับการอนุมัติจาก กนอ. แล้ว บริษัทยังมีแผนการลงทุนในปี 2558 ในส่วนของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producers หรือ SPP) ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กให้ได้จำนวน 7 แห่งภายในปี 2558 ซึ่งในปี 2557 บริษัทได้เปิดตัวไปแล้ว 1 แห่ง ดังนั้นจึงเหลืออีก 6 แห่ง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า นอกจากนี้บริษัทยังได้ศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Independent Power Producers หรือ IPP) ร่วมด้วยเพื่อที่จะดำเนินการในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้จริงประมาณปี 2565

ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจนั้น ตนมองว่าทุกหน่วยงานได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันเนื่องจากกลุ่มนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างชะลอการตัดสินใจการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้กลุ่มนักลงทุนกลับมาตัดสินใจการขยายธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ได้รับความสนใจที่สุดในอาเซียนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายๆ ด้าน อาทิ ภูมิศาสตร์และสังคม เป็นต้น 

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive

AMATA ขานรับ กนอ. ขยายพื้นที่รับนักลงทุน AEC

AMATA ได้รับการอนุมัติจาก กนอ. ขยายพื้นที่นิคมฯ อมตะซิตี้ กว่า 2,524 ไร่ รองรับการเติบโตของกลุ่มอุตฯยานยนต์และนักลงทุนรายใหม่ คาดพัฒนาแล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี มูลค่าโครงการประมาณ 7,000-8,000 ลบ.

คุณวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด และประธานกรรมการอมตะซิตี้ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ได้รับการอนุมัติจากการนิคมอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ให้ดำเนินการขยายพื้นที่เพิ่มกว่า 2,524 ไร่ เพื่อรองรับการลงทุนใหม่จากนักลงทุนต่างชาติภายหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 และรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการพัฒนาโครงการใหม่นี้ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1- 2 ปี และจะมีมูลค่าโครงการ ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มูลค่าโครงการจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย

“การดำเนินการพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติ จะพัฒนาได้หมดหรือไม่จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง ถ้าสถานการณ์ปกติ เต็มที่ 1-2 ปี ก็น่าจะพัฒนาหมดแล้ว เรามีประสบการณ์จาก 6 เดือนแรกของปี 2557 ที่การลงทุนต่างๆ ค่อนข้างเงียบ แต่หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้นักลงทุนทราบทิศทางที่แน่ชัดในการลงทุนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามนักลงทุนภายในประเทศยังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพ จึงยังมีการลงทุนอยู่เช่นเดิม ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ไม่เคยเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะเกิดความกลัว ไม่กล้าเข้ามาลงทุน เพราะต่างชาติมองว่าภาพการปฏิวัติรุนแรง แต่เมื่อเข้ามาลงทุนแล้วก็จะทราบว่าความจริงแล้ว การปฏิวัติในประเทศไทยไม่มีความรุนแรงอย่างที่คิด” คุณวิบูลย์กล่าว

คุณวิบูลย์ กล่าวต่อว่า หลังจากการได้รับการอนุมัติโครงการดังกล่าว บริษัทได้รับกระแสตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีนักลงทุนเข้ามาติดต่อค่อนข้างเยอะมาก นับตั้งแต่สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเฉพาะกิจของท่านประยุทธ์ มีการวาง Road Map ในการบริหารประเทศที่ชัดเจน จึงทำให้นักลงทุนสามารถที่จะกำหนดทิศทางการทำธุรกิจได้

“เราได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมเป็นจำนวนมาก ประกอบกับ นโยบายของทางภาครัฐ หรือ Road Map มีความชัดเจนในการบริหารราชการ ทั้งระยะเวลาในการบริหารราชการ หรือโครงการสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จึงทำให้เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดีและช่วยเกิดความสบายใจในการวางแผนการดำเนินธุรกิจมากกว่าที่ผ่านมา” คุณวิบูลย์กล่าว

คุณวิบูลย์ กล่าวต่อถึงกลุ่มประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายว่า ประกอบด้วย
     1. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งยังมีช่องทางในการขยายธุรกิจได้อีกมาก เนื่องจากประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญของโลก
     2. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งตนจะเน้นไปในกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับสินค้าเกษตรของประเทศไทย อาทิ ผลไม้อบแห้ง, ผลไม้แปรรูป และข้าวแปรรูป
     3. กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟแวร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่บริษัทมีแผนจะปรับลดปริมาณคือปิโตรเคมี เนื่องจากจะมีเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้างนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ด้านเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน คุณวิบูลย์กล่าวว่า นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในนิคมฯ ของอมตะ ทั้งการก่อสร้างฐานการผลิต ดำเนินธุรกิจการผลิตและส่งขายสินค้า ตนอยากจะให้ผู้ประกอบการทุกท่านดำเนินธุรกิจให้เต็มความสามารถ ส่วนงานด้านอื่นๆ ที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของทางนิคมฯ ในการอำนวยความสะดวก รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ โรงเรียน, โรงพยาบาล, ธนาคาร และวัด เป็นต้น

“เป้าหมายของเรา คือ ความสำเร็จที่ได้ช่วยเหลือลูกค้าของเราให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เมื่อเกิดความสำเร็จแล้ว จะทำให้มีการลงทุนเพิ่ม และเราจะมีการพัฒนาเพิ่มเช่นกัน จะก่อให้เกิดความสุขและความสำเร็จร่วมกัน  ปัจจุบันเราอาจจะยังพัฒนาได้ไม่มากนัก แต่เราจะมีการพัฒนาเรื่อยๆ นอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เรายังมีจุดอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องของหนังสือเดินทาง หนังสือทำงาน และดูแลคุณภาพชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายชีวิตด้วย” คุณวิบูลย์กล่าว

อนึ่ง บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) หรือ AMATA เป็นบริษัทพัฒนาและจัดการด้านนิคมอุตสาหกรรม ชั้นนำของประเทศไทย โดยนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งของบริษัทตั้งอยู่บนพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) ดังนี้ 

     1. นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,020 เฮกเตอร์ (18,873 ไร่ หรือ 7,459 เอเคอร์) ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนเขต 2 (BOI) ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 57 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 42 กิโลเมตร โดยมีโรงงาน จำนวน 514 โรงที่พร้อมจะเปิดดำเนินการ ในจำนวนดังกล่าวมีโรงงาน 484 โรงที่ได้เปิดดำเนินงานและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

     2. นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง มีพื้นที่ 1,603 เฮกเตอร์ (10,080 ไร่ หรือ 4,007 เอเคอร์) ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุนเขต 3 (BOI) ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังเพียง 27 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 99 กิโลเมตร โดยมีผู้ผลิตจำนวน 128 รายที่กำลังจะเปิดดำเนินการในระยะเวลาอันใกล้นี้ ในจำนวนดังกล่าว มี โรงงาน 117 โรงที่ได้เปิดดำเนินงานและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

นอกจากนี้ บริษัทยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานสูงในประเทศเวียดนาม ภายใต้ชื่อ อมตะซิตี้ (เบียนหัว)จังหวัดดองไน ใกล้เมืองโฮจิมินห์ เปิดดำเนินการเมื่อปี 2537 มีโรงงาน จำนวน 112 แห่ง บนพื้นที่กว่า 700 เฮกเตอร์ (4,375ไร่ หรือ 1,750 เอเคอร์) เฟสใหม่ของโครงการจะมีบ้านพัก อพาร์ทเมนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกใน ชีวิตประจำวันตามความต้องการของคนจำนวนมาก

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive

“พรอสเพค” ผุดโปรเจค BFTZ ย่านบางนา-ตราด

พรอสเพคเร่งขยายธุรกิจ เนรมิต “โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน (Bangkok Free Trade Zone : BFTZ)” ย่านบางนา-ตราด บนพื้นที่ 1,000 ไร่ โชว์จุดเด่นสิทธิประโยชน์ด้านภาษีดึงดูดใจนักลงทุน แย้มแผนปีหน้าเตรียมก่อสร้างเพิ่ม 20,000-30,000 ตารางเมตร รับเศรษฐกิจฟื้นตัว

คุณพรศริน เมธีวัชรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้พัฒนา และให้บริการโครงการบางกอกฟรีเทรดโซน (Bangkok Free Trade Zone : BFTZ) เปิดเผยว่า บริษัทได้รุกขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของอาคารโรงงาน และคลังสินค้าให้เช่าย่านบางนา-ตราด โดยตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย

โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน มีพื้นที่จำนวน 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคภายในโครงการ 300 ไร่ ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และอีก 700 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ในรูปแบบอาคารโรงงาน และคลังสินค้าให้เช่า โดยแบ่งเป็นเขตประกอบอุตสาหกรรมทั่วไป (General Zone) และเขตปลอดภาษีอากร (Free Zone) ปัจจุบันมีพื้นที่สร้างเสร็จพร้อมให้เช่ากว่า 130,000 ตารางเมตร และมีผู้ประกอบการมาเช่าพื้นที่อาคารโรงงานและคลังสินค้าแล้วมากกว่า 90%

ส่วนจุดเด่นของโครงการนี้ คือสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI, กรมศุลกากร และเขตพื้นที่สีม่วงที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีอากรนำเข้าและอากรส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาเช่าพื้นที่โครงการเพื่อนำเข้าวัตถุดิบและผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเช่าอาคารโรงงานและคลังสินค้าในทำเลศักยภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจสูงสุด 

นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของโครงการยังอยู่ในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์บนถนนบางนา-ตราด อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิเพียง 17 กิโลเมตร, ท่าเรือกรุงเทพ 23 กิโลเมตร, ท่าเรือแหลมฉบัง 90 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 60 นาที ซึ่งถือเป็นทำเลที่เหมาะแก่การเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งและกระจายสินค้าทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศทั่วโลก

คุณพรศริน กล่าวต่อแผนการดำเนินงานว่า เนื่องจากตลอดปี 2557 บริษัทได้มีการวางแผนการดำเนินงานในการชะลอการลงทุนเพิ่ม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการวางแผนนี้ก็ได้ผลดีเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามในปี 2558 บริษัทมีแผนจะขยายการก่อสร้างอาคารโรงงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วยทั้งจากกลุ่มนักลงทุนจากในและต่างประเทศ

“ปี 2557 เรามีการชะลอการก่อสร้าง โดยดำเนินการเพียง 10,000 ตารางเมตรเท่านั้นจากการก่อสร้างโรงงานขนาดกลาง ส่วนปีหน้าเราคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างเพิ่มประมาณ 20,000-30,000 ตารางเมตร เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อการลงทุนดีขึ้น ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดี ซึ่งน่าจะเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน” คุณพรศรินกล่าว

คุณพรศริน กล่าวถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าว่า บริษัทมีบริษัท ฟินันซ่า จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำที่มีความเข้มแข็งและเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท จึงเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นด้านการเงินได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้บริษัทยังมีทีมงานที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Young Generation) ที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีพื้นฐานในการทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ ซึ่งจะสามารถตอบสนองต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด

สำหรับสิ่งที่อยากจะฝากถึงภาครัฐ คุณพรศรินกล่าวว่า ตนพอใจนโยบายของภาครัฐในการต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่อยากให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอยากให้ภาครัฐมีการปรับปรุง แก้ไขขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ขาดความเข้าใจในการดำเนินการ ก่อให้เกิดความล่าช้าในการอนุมัติการลงทุนต่างๆ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะประสบปัญหาในขั้นตอนนี้เป็นจำนวนมาก

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive

“ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” รับรางวัลระดับอาเซียน

ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ได้รับรางวัล “ASEAN Energy Awards 2014” ด้านการจัดการพลังงานทดแทน ตอกย้ำความสำเร็จโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน เร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 20 MW จำหน่ายไฟให้ กฟภ. ปลายปีนี้

คุณวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) หรือ TPIPL ผู้ผลิตปูนซิเมนต์ชั้นนำของประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจโรงงานแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงทดแทน (RDF Plant) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ TPIPL ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับอาเซียน ด้านการจัดการพลังงานทดแทน ประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายไฟฟ้า (Off-Grid)

สำหรับการรับรางวัลในครั้งนี้ บริษัทได้เข้าร่วมการประกวดผลงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนระดับภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN Energy Awards 2014 ครั้งที่ 32 ในโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน ซึ่งได้รับรางวัลเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2557 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

“นอกจากรางวัลในระดับอาเซียนแล้ว ในปี 2556 ที่ผ่านมา เรายังได้รับรางวัลดีเด่นในระดับประเทศ จากการประกวด Thailand Energy Awards 2014 โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน อีกด้วย ซึ่งในขณะนั้นเราได้เข้าร่วมโครงการ Thailand Energy Awards 2014 และได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการพิจารณาให้เข้าร่วมประกวดในระดับอาเซียน ซึ่งทั้ง 2 รางวัล เราได้เข้าร่วมเป็นปีแรก

การเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ เราไม่ได้มีการเตรียมการอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากโครงการแปรรูปขยะเพื่อให้เกิดเป็นพลังงานทดแทนเป็นกระบวนการทำงานที่เราดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยนำพลังงานที่ได้นำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตและภายในโรงงานปูนซิเมนต์ รวมทั้งยังสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เราจะต้องเสียอีกด้วย” คุณวรวิทย์กล่าว

คุณวรวิทย์ กล่าวต่อว่า บริษัทได้เริ่มดำเนินการโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา โดยโรงงานแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงทดแทน (RDF Plant) สามารถรองรับขยะจากชุมชน ขยะจากบ่อเก่าและขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นพิษได้ประมาณ 600-800 ตันต่อวัน ซึ่งจะรับขยะจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น สระบุรี, ลพบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นครนายก และปทุมธานี เป็นต้น โดยสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 15-18 เมกะวัตต์ต่อวัน

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชนคือมุ่งหวังที่จะลดการใช้พลังงานและลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน โดยเฉพาะในโรงงานปูนซิเมนต์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้เชื้อเพลิงและพลังงานในอัตราที่สูงมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการสร้างสรรค์โครงการต่างๆ เพื่อเข้ามาช่วยแบ่งเบาและลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงและพลังงานในกระบวนการผลิต

นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการมุ่งเน้นที่จะยกเลิกการจัดการขยะด้วยวิธีการฝังกลบแบบเก่า เพื่อลดปัญหาของขยะที่ล้นเมือง ปัญหาขยะตกค้าง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบพื้นที่บริเวณที่มีการฝังกลบขยะ โดยวิธีที่ดีสุดคือการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น สำหรับการดำเนินการดังกล่าวบริษัทได้รับการตอบรับจากชุมชนโดยรอบเป็นอย่างดี

“การแปรรูปขยะเป็นพลังงานในประเทศไทยยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก แต่ในต่างประเทศได้มีการดำเนินการมานานแล้วและมีวิธีการจัดการขยะที่ดี เพื่อไม่ก่อให้เกิดขยะตกค้าง ทั้งนี้ การจัดการขยะแบบฝังกลบยังก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในระยะยาว ซึ่งสิ่งที่จะสามารถลดขยะได้ดีที่สุดคือการแปรรูปและนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” คุณวรวิทย์กล่าว

ส่วนขยะที่บริษัทได้นำมาแปรรูปประกอบด้วยขยะประเภท, พลาสติก, กระดาษ และผ้า เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิง และมีเครื่องจักรคัดแยกขยะเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูป สำหรับขยะที่ไม่สามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้ อาทิ กากอินทรีย์, เศษหินดินทราย เป็นต้น โดยกากอินทรีย์ บริษัทจะมีการจัดการโดยนำมาหมักทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนเศษหินดินทราย บริษัทจะมีการจัดการโดยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนซิเมนต์

{gallery}Biz_Interview/2014/bfi_022/tpipl/Photo{/gallery}

ด้านกระแสตอบรับจากการดำเนินการโครงการนี้ บริษัทมองว่าที่ผ่านมาประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่บริษัทได้ตั้งไว้ และได้มีการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดีต่อชุมชนโดยรอบโครงการ อีกทั้งบริษัทยังได้รับกระแสตอบรับจากชุมชนรอบโรงงานเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยรอบพื้นที่โรงงาน

รวมทั้ง ยังได้รับความสนใจและได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในการเข้ามาเยี่ยมชมกระบวนการจัดการขยะเพื่อแปรรูปเป็นพลังงาน โดยถือว่าเป็นการเผยแพร่กระบวนการทำงาน ประสบการณ์ และวิธีการดำเนินการจัดการขยะที่ดีของบริษัทให้สาธารณชนได้รับทราบและสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้อีกด้วย

คุณวรวิทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะชุมชน นอกจากจะนำพลังงานไฟฟ้าเพื่อมาใช้ภายในโรงงานแล้ว บริษัทยังมีทำสัญญาจัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. โดยในขณะนี้ โรงไฟฟ้า ขนาด 20 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องจักร คาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.ได้ภายในปลายปีนี้

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าขนาด 20 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเตรียมส่งขายให้กับ กฟภ. ในช่วงสิ้นปีนี้ นอกจากโครงการนี้แล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 60 เมกะวัตต์ โดยใช้งบลงทุนกว่า 3,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็นการติดตั้งเครื่องจักร 2,000 ล้านบาทและที่เหลืออีกกว่า 1,500 ล้านบาท จะเป็นงบลงทุนในการก่อสร้างและการวางระบบต่างๆ

ล่าสุด มีความคืบหน้าการก่อสร้างแล้วกว่า 60% คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตและจำหน่ายให้กับ กฟภ. ได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2558 และทั้งสองโครงการนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการคืนทุนประมาณ 5 ปี โดยการคืนทุนจะขึ้นอยู่ปัจจัยของปริมาณในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้และปริมาณขยะที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“นอกจากนี้ เรายังอยู่ระหว่างการเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 90 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้เชื้อเพลิงหลักจากขยะและความร้อนทิ้ง โดยได้ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาและคัดเลือกซัพพลายเออร์เครื่องจักรและสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 3 ปีจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้” คุณวรวิทย์กล่าว

คุณวรวิทย์กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากโครงการที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น บริษัทยังมีโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากการติดตั้งสายพานลำเลียงวัตถุดิบจากหน้าเหมือง โดยสายพานมีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองเดินเครื่องจักร คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ดำเนินการติดตั้งสายพานเพิ่มในเหมืองอีกแห่งหนึ่ง โดยมีความยาวของสายพานประมาณ 5 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในช่วงกลางปี 2558

“การดำเนินการโครงการนี้ เราเรียกว่า Downhill Conveyor ซึ่งเป็นการขนหินลงมาจากที่สูงผ่านสายพานและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถนำมาปั่นไฟและผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณวันละ 20,000 หน่วยหรือปีละประมาณ 6 ล้านหน่วย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งด้วยรถบรรทุก ซึ่งเรามีความเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เราเป็นบริษัทแรกที่ใช้เทคโนโลยีสายพานลำเลียงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย และเรามั่นใจว่าเรามีขนาดกำลังการผลิตที่มากที่สุดในเอเชียอีกด้วย” คุณวรวิทย์กล่าว

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive

เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ประกาศศักยภาพ คว้า 2 รางวัล CSR-DIW 2014

คุณศุภโชค เลียมแก้ว ประธาน บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด เปิดวิสัยทัศน์ให้สัมภาษณ์พิเศษนิตยสารบิส โฟกัส ในโอกาสโรงงาน PP ได้รับรางวัล  CSR-DIW Continuous และโรงงาน PDH ได้รับรางวัล CSR-DIW จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตอกย้ำองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ดังนี้

Biz Focus :  รายละเอียดของรางวัลที่ได้รับในปีนี้
คุณศุภโชค :  บริษัทได้รับ 2 รางวัลในปีนี้ คือ CSR-DIW Award ประจำปี 2557 สำหรับโรงงาน PDH และ CSR-DIW Continuous Award ประจำปี 2557 สำหรับโรงงาน PP จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตามโครงการส่งเสริมศักยภาพโรงงานมุ่งสู่การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน

Biz Focus :  บริษัทมีการบริหารงานอย่างไรจึงประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลดังกล่าว
คุณศุภโชค :  บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ระบุไว้ในค่านิยมองค์กร (Core Value) คือ HMC  H - Highest ethical standards and integrity M - Mutual respect & trust C - Commitment to health, safety, environment & social responsibility ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นสากล (ISO 26000) โดยได้นำมาถ่ายทอดเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้ครอบคลุมต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในด้านต่างๆ ได้แก่ 1.ด้านการศึกษาและเยาวชน 2.ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 3.ด้านกีฬา ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น 4.ด้านสังคมและชุมชน

ในแต่ละปี ฝ่ายกิจการเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมคิดและวางแผนในการดำเนินกิจกรรมทั้ง 4 ด้านให้ครอบคลุมทุกมิติของสังคม มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสังคมที่มาจากผู้แทนของทุกหน่วยงานในองค์กร เพื่อร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายไปสู่การดำเนินการเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัทถือเป็นใบอนุญาตจากสังคมให้ได้ร่วมดูแล ห่วงใย ใส่ใจ แบ่งปัน และเพิ่มคุณค่าต่อสังคม

Biz Focus :  รางวัลที่ได้รับมีความสำคัญอย่างไรกับบริษัท
คุณศุภโชค :  บริษัทมีโรงงาน 2 แห่ง คือ โรงงาน PP ผลิตตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และโรงงาน PDH ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) โดยโรงงาน PP ได้เข้าร่วมโครงการ CSR-DIW กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2553 และได้รับรางวัลดังนี้ 1.CSR-DIW Award ประจำปี 2553 2.CSR-DIW Continuous Award  และ CSR-DIW Network Award ประจำปี 2554 3.CSR-DIW Continuous Award และ CSR-DIW Supply Chain Award ประจำปี 2555 4.CSR-DIW Continuous Award ประจำปี 2556 และ 5.CSR-DIW Continuous Award ประจำปี 2557

สำหรับในปี 2557 นี้บริษัทได้นำโรงงาน PDH เข้าร่วมโครงการเช่นกัน และได้รับรางวัล CSR-DIW Award ประจำปี 2557 เช่นกัน ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจ โดยเป็นโรงงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเครือข่ายในการร่วมดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมสู่บริษัทลูกค้า (Eastern Polypack) และบริษัทใน supply chain เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจ สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และผู้จัดหาวัตถุดิบของบริษัทต่อไป

Biz Focus :  ประโยชน์ที่ได้รับจากรางวัลดังกล่าว
คุณศุภโชค :  บริษัทได้เรียนรู้เรื่องแนวปฏิบัติหลัก 7 หัวข้อ เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ 1.การกำกับดูแลองค์กร 2.สิทธิมนุษยชน 3.การปฏิบัติด้านแรงงาน 4.สิ่งแวดล้อม 5.การดำเนินอย่างเป็นธรรม  6.ประเด็นด้านผู้บริโภค และ 7.การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าแต่ละหัวข้อล้วนมีความสอดคล้องต่อการดำเนินการของทุกฝ่ายในองค์การ ไม่เฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการให้สอดคล้องและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดมลพิษ มลภาวะ ต่อสังคมและลูกค้า ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัท อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่น และความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ ตลอดจนชื่อเสียงของบริษัทที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและลูกค้า รวมถึงความภาคภูมิใจของพนักงานต่อบริษัทอีกด้วย

Biz Focus :  บริษัทมีการดำเนินการอย่างไรเพื่อที่จะได้มาซึ่งรางวัลในปีต่อๆ ไป
คุณศุภโชค :  บริษัทมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมโครงการผู้ประกอบการดูแลรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการขององค์กรสอดคล้องต่อหลักปฏิบัติสากล และพัฒนาการดำเนินงานขององค์กรไปสู่เป้าหมายหลักของความยั่งยืนที่พร้อมในทุกๆ มิติ อีกทั้งยังมีการทบทวนนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้สอดคล้องและครอบคลุมกับทุกบริบท ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามนโยบายกลุ่ม ปตท. โครงการ PTT Group Sustainability Management  เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรในกลุ่มปตท. ขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้บริษัทยังมีโครงการขยายผลการดำเนินงานไปสู่มาตรฐานสากล (ISO26000) และตั้งเป้าหมายที่จะได้รับรางวัล Total Quality Award ในปี 2561 อีกด้วย

Page Visitor

010755739
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
All days
1561
6107
35325
102455
147900
10755739
Your IP: 13.59.154.143
2024-05-18 08:06
© 2024 Biz Focus Magazine All Rights Reserved.